Lifestyle

"พระเมตตาปกหล้า พระกรุณาปกสยาม"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

น้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นของสมเด็จพันปีหลวงต่อพสกนิกรชาวไทย

        ด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงห่วงใยทุกข์สุขของราษฎรสู่ความยั่งยืนของแผ่นดิน ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมาตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงเคียงข้าง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ช่วยเหลือพสกนิกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐานสุขภาพอนามัย ส่งเสริมให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้และพึ่งพาตัวเองได้ การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติภายใต้หลักการ “ช่วยประชาชนอย่างไรให้สามารถยืนหยัดด้วยตัวเองในระยะยาว” ซึ่งนับเป็นการช่วยเหลืออย่างแท้จริง

"พระเมตตาปกหล้า พระกรุณาปกสยาม"

"พระเมตตาปกหล้า พระกรุณาปกสยาม"

         เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 12 สิงหาคม 2562 ซึ่งนับเป็น “วันแม่แห่งชาติ” ของไทย ศูนย์การค้าสยามพารากอน จึงจัดงาน “สยามพารากอน เซเลเบรท ยัวร์ วัน-อิน-อะ-มิลเลียน เลิฟ มัม” ขึ้นตลอดเดือนสิงหาคม 2562 เชิญชวนพสกนิกรชาวไทยร่วมน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และถวายพระพรชัยมงคล ผ่านนิทรรศการ “พระเมตตาปกหล้า พระกรุณาปกสยาม” อันเกิดจากความร่วมมือระหว่าง สยามพารากอน กับ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยนำเสนอเรื่องราวพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง มาร้อยเรียงให้พสกนิกรได้ร่วมซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ผ่านสรรพสิ่งต่างๆ ซึ่งแบ่งเป็นเรื่องราวดังต่อไปนี้

"พระเมตตาปกหล้า พระกรุณาปกสยาม"

         “สรรพสุข” ถ่ายทอดพระราชกรณียกิจ ทรงแก้ไขปัญหาพื้นฐานของราษฎร ดูแลสุขภาพอนามัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง “หน่วยแพทย์พระราชทาน” เพื่อตรวจรักษาราษฎรยากจนเหล่านี้ หากเป็นโรคร้ายแรงหรือป่วยหนักจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ เพื่อส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลในท้องถิ่น ทรงจำได้ว่ามีคนไข้รายใดบ้างที่ป่วยหนักอาการไม่ค่อยดี และจะรับสั่งถามถึงอาการคืบหน้าอยู่เสมอ โดยทรงบรรเทาความทุกข์ร้อน สร้าง “สรรพสุข” ให้แก่ประชาชนมาเป็นระยะเวลายาวนาน

"พระเมตตาปกหล้า พระกรุณาปกสยาม"

        “สรรพศิลป์” จากสายพระเนตรอันยาวไกล สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนควบคู่ไปด้วยงานศิลปวัฒนธรรมหลากหลายแขนงที่ครั้งหนึ่งเคยเสื่อมความนิยมลง ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์” และทรงรับเป็นองค์ประธานมูลนิธิ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” โดยมีพระราชประสงค์ให้ส่งเสริมงานศิลปาชีพเป็นอาชีพเสริมแก่ราษฎร เพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอแก่การดำรงชีพ เช่น ทรงส่งเสริมให้ทอผ้าไหมที่ภาคอีสาน และสานย่านลิเภาที่ภาคใต้ รวมทั้งก่อตั้งโรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา และศูนย์ศิลปาชีพทั่วประเทศ ทรงปรารถนาให้ราษฎรได้มีโอกาสแสดงศักยภาพ และได้รับการพัฒนา มีส่วนร่วมในการพัฒนา ทรงส่งเสริมศิลปาชีพ โดยให้ประชาชนเป็นสมาชิก ขณะเดียวกัน ยังมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ภายใต้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมความรู้เกี่ยวกับผ้าไทย บ่งบอกถึงศิลปวัฒนธรรมและความเจริญมั่งคั่งของชาติไทย

"พระเมตตาปกหล้า พระกรุณาปกสยาม"

        อีกหนึ่ง “สรรพศิลป์” ที่ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงตระหนักถึงความสำคัญนั่นคือ “ศิลปะการแสดงโขน” ซึ่งไม่เพียงแค่เป็นการฟื้นฟูศิลปะการแสดงชั้นสูงให้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ยังเป็นการฟื้นชีวิตให้แก่งานหัตถศิลป์หลายแขนงที่เกี่ยวข้องกับโขนให้คงอยู่สืบไป เช่น “พัสตราภรณ์” หรือ “เครื่องแต่งกายโขน” งานการปักลายแบบโบราณด้วยมือที่ต้องอาศัยความประณีตและใช้เทคนิคชั้นสูง ทั้งการปักเย็บถักทอด้วยมือที่มีความซับซ้อนและละเอียดลออ รวมทั้งการเลือกใช้ดิ้นโปร่งทอง เลื่อม ปีกแมลงทับ และวัสดุอื่นๆ มาสร้างสรรค์เป็นเครื่องแต่งกายที่วิจิตรงดงาม ส่วนงาน “ศิราภรณ์โขน” หรือ “เครื่องประดับศีรษะโขน” นับเป็นงานศิลปะที่ช่างฝีมือโขนสร้างสรรค์ขึ้นอย่างวิจิตรบรรจง โดยปัจจุบัน ศูนย์ศิลปาชีพฯ รื้อฟื้นการทำกระดาษข่อยตามแบบภูมิปัญญาโบราณ เพื่อนำกลับมาใช้ในการผลิตหัวโขนในปัจจุบัน ส่วน “ถนิมพิมพาภรณ์” หรือ “เครื่องประดับตกแต่ง” เป็นการรวมช่างฝีมือ 3 แขนง คือ งานโลหะ งานฝังอัญมณี และงานกะไหล่ทอง เพื่อสร้างสรรค์เป็นเครื่องประดับตกแต่งในการแสดงโขน ซึ่งมีทั้งเข็มขัด ปั้นเหน่งหรือหัวเข็มขัด กำไลข้อเท้า ตาบหลัง ปะวะหล่ำ แหวนนอน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี “ศิลปกรรมฉาก” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ชมทุกครั้ง ทั้งหมดนี้ยังเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้แก่ช่างฝีมือแขนงต่างๆ ไปพร้อมๆ กันอีกด้วย

"พระเมตตาปกหล้า พระกรุณาปกสยาม"

         ส่วนด้าน “สรรพศาสตร์” สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง สนพระราชหฤทัยศึกษาหาความรู้วิชาการด้านต่างๆ มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทั้งวรรณคดีไทย ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรมประเพณี และได้ถ่ายทอดความสนพระราชหฤทัยนี้มายังพระราชโอรส พระราชธิดา ทุกพระองค์ ตลอดจนทรงส่งเสริมการเรียนรู้ในแขนงต่างๆ แก่ประชาชน โดย ทรงสร้างโรงเรียนให้แก่เด็กด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดาร พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนยากจนและเด็กพิการ ทรงสร้างศาลารวมใจให้เป็นห้องสมุดอเนกประสงค์ของชุมชนเพื่อใช้ศึกษาหาความรู้ในด้านต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านจิตใจ ด้วยการส่งเสริมให้คนมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ให้ประพฤติแต่คุณงามความดี ไม่เพียงเท่านี้ ยังทรงห่วงใยผู้สูงวัยหลังวัยเกษียณ จึงทรงริเริ่ม “วุฒิอาสาธนาคารสมอง” เพื่อนำความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์มาช่วยสร้างสรรค์สิ่งดีงามเป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติต่อไป

"พระเมตตาปกหล้า พระกรุณาปกสยาม"

         และสุดท้าย “สรรพชีวิต” สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรง “อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ให้ลูกหลานไทย” โดยมีแนวพระราชดำริว่า คน ป่า และสัตว์ป่า สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างอาศัยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน คนสามารถใช้ประโยชน์จากผืนป่ามาสร้างอาชีพและรายได้อย่างพอเพียง ในลักษณะของ “บ้านเล็กในป่าใหญ่” คนที่เคยตัดไม้ทำลายป่าก็กลับใจมาช่วยปกป้องและพิทักษ์รักษาป่า รวมทั้งขยายพันธุ์สัตว์ป่าให้คงอยู่คู่ประเทศไทยต่อไป ช่วยให้เกิดความภาคภูมิใจแก่ตัวเองและชุมชนในฐานะ “ราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า” และเกิดความรักความสามัคคีในชุมชน ทรงใช้หลักการ “ปลูกป่าในใจคน” ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือการปลุกจิตสำนึกในการรักผืนป่าให้คนเสียก่อน ขณะเดียวกันก็ทรงจัดหาแหล่งน้ำให้ราษฎรในท้องถิ่นห่างไกลทุรกันดาร โดยจัดตั้ง “โครงการป่ารักน้ำ” เป็นต้น

"พระเมตตาปกหล้า พระกรุณาปกสยาม"

       ส่วนหนึ่งของพสกนิกรใต้พระบรมโพธิสมภาร ซึ่งได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทำให้ชีวิตดีขึ้นตามลำดับ  นางพะซู มือแล อายุ 30 ปี ช่างปักผ้าแบบโบราณ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เผยว่า ทำงานอยู่ในมูลนิธินานกว่า 14 ปี โดยจุดเริ่มต้นคือ พ่อแม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทรงงานที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ แล้วพระองค์ท่านทรงรับเข้ามาเรียนปักผ้า ก็อยู่ตั้งแต่วันนั้นเรื่อยมาจนถึงวันนี้ เปลี่ยนให้ชีวิตดีขึ้น มีงานทำประจำ ถ้าไม่ได้เข้ามาปักผ้าชีวิตก็ต้องทำไร่ทำนาอยู่บนดอย เรียกว่าชีวิตดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

"พระเมตตาปกหล้า พระกรุณาปกสยาม"

        เช่นเดียวกับ นางจันทร์ที เร่งพิมาย อายุ 53 ปี ชาวจังหวัดบึงกาฬ เล่าว่า เพราะความยากจนพ่อแม่ประกอบอาชีพเกษตรกร มีลูกหลายคน ตอนนั้นเรียนจบชั้น ป.4 อายุ 14 ปี ไม่ได้เรียนหนังสือต่อ จึงอยู่บ้านช่วยพ่อแม่เลี้ยงน้อง จนกระทั่งพ่อกับแม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งที่เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร เมื่อพระองค์ท่านได้รับทราบถึงความลำบากยากแค้น จึงทรงรับเข้ามาเรียนหนังสือและทำงานช่วยเหลือครอบครัว โดยทรงให้เลือกว่าสนใจทางด้านไหน ซึ่งตัวเองสนใจงานทอผ้า จึงมาฝึกอาชีพด้านทอผ้าไหมตีนจกและผ้าไหมแพรวา ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ แล้วค่อยขยับมาที่สวนจิตรลดา ก่อนจะไปเป็นครูสอนด้านการทอผ้าที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา จนถึงวันนี้กว่า 30 ปีแล้วที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ ทำให้ชีวิตดีขึ้นในทุกๆ ด้าน รู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่ได้มาอยู่ในจุดนี้ อยากบอกว่า สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นต้นแบบเรื่องการให้โอกาส และสอนให้เรารู้จักการสู้ชีวิต ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค

"พระเมตตาปกหล้า พระกรุณาปกสยาม"

        อีกหนึ่งคนที่ชีวิตดีขึ้นหลังจากได้มาทำงานอยู่ใน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นางจำรูญ จุ้ยลำเพ็ญ อายุ 54 ปี ชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครูสอนแผนกจักสานไม้ไผ่ลายขิก ปี 2523 เล่าว่า ที่มูลนิธิเปิดแผนกใหม่ 4 แผนก ได้แก่ ย่านลิเภา จักสาน ทอผ้า และทอจก ตอนนั้นอายุ 15 ปี ไม่ได้เรียนหนังสือแล้วจึงช่วยครอบครัวทำนา พี่สาวกับพี่เขยจึงพามาสมัครที่แผนกจักสาน โดยเริ่มจากเรียนฟรีแถมมีค่าเบี้ยเลี้ยงอีกวันละ 40 บาท ก็ทำมาเรื่อยๆ จนได้รับการบรรจุให้เป็นครูแล้วทำหน้าที่สอนนักเรียนรุ่นใหม่ๆ ถึงทุกวันนี้ และจากการได้ทำงานที่นี่ทำให้สามารถส่งลูกสองคนให้เรียนจนจบปริญญาตรี มีชีวิตมั่นคง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

        ในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 12 สิงหาคม 2562 ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง ทรงพระเกษมสำราญ สถิตเป็นพระมิ่งขวัญของปวงประชาสืบไป...ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ