Lifestyle

ปวดท้องแบบนี้...อาการนิ่วในถุงน้ำดีแน่!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... ดูแลสุขภาพ โดย... พ.ต.ต.นพ.หะสัน มูหาหมัด  ศัลยแพทย์ทั่วไปโรคมะเร็งและผู้เชี่ยวชาญ  ด้านการผ่าตัดถุงน้ำดีด้วยกล้อง โรงพยาบาลพญาไท 1

 

 


          ทราบหรือไม่ว่าพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เป็นของทอดหรือของมันบ่อยๆ มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี และผู้ป่วยบางรายไม่พบการแสดงอาการให้ทราบอย่างแน่ชัด มีเพียงอาการปวดท้อง แน่นท้อง อืดท้องเพียงเท่านั้น หากไม่เคยรู้จักอาการของนิ่วในถุงน้ำดีมาก่อนอาจทำให้ปล่อยปละละเลยจนเป็นอันตรายมากกว่าที่คิด วันนี้เราจึงอยากแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับถุงน้ำดี และโรคนิ่วในถุงน้ำดีกันมากขึ้น

 

 

          ๐ ปวดท้องแบบนี้... อาการนิ่วในถุงน้ำดีแน่
          มีคนจำนวนมากที่มีนิ่วในถุงน้ำดี แต่ไม่มีอาการอะไรและไม่รู้ตัวว่ามีนิ่วในถุงน้ำดี จะรู้ก็ต่อเมื่อได้รับการรักษาจากโรคอื่นๆ แล้วแพทย์ตรวจพบว่ามีนิ่วในถุงน้ำดี โดยทั่วไปแล้วอาการเริ่มแรกของโรคนิ่วในถุงน้ำดี ผู้ป่วยจะปวดท้อง แน่นท้อง แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักคิดว่าเกิดจากอาหารไม่ย่อยหรือกินอิ่มเกินไป การสังเกตอาการให้แน่ชัด ควรดูว่าอาการท้องอืด แน่นท้อง ปวดเสียดท้อง มักจะปวดบริเวณใต้ชายโครงหรือลิ้นปี่ มีปวดร้าวไปสะบักขวาหรือที่หลัง โดยจะปวดหลังรับประทานอาหารมันๆ ถ้าเป็นในลักษณะนี้ก็มีโอกาสที่จะเป็นนิ่วในถุงน้ำดี อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้จะเป็นอยู่นานหลายชั่วโมง และมักจะหายไปนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน แล้วจึงกลับมาเป็นใหม่ แต่หากเป็นโรคถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันมักมีอาการปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวา กดเจ็บ มีไข้ และคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ถ้าเป็นแบบนี้ควรรีบไปพบแพทย์


          ๐ นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากอะไร?
          “ถุงน้ำดี เป็นอวัยวะรูปวงรีคล้ายกับลูกแพร์ มีขนาดประมาณ 4 นิ้วอยู่ใต้ตับ บริเวณส่วนบนขวาของช่องท้อง ถุงน้ำดีทำหน้าที่เหมือนอ่างเก็บน้ำแต่เป็นการเก็บกักน้ำดีจากตับเอาไว้เพื่อให้น้ำดีมีปริมาณเพียงพอและเข้มข้นขึ้น เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป ถุงน้ำดีก็จะบีบน้ำดีออกมาคลุกเคล้ากับอาหารเพื่อช่วยย่อยสารอาหารประเภทไขมัน แต่หากเรากินอาหารที่มีไขมันหรือคอเลสเตอรอลมากเกินไปและย่อยไม่หมดจนเกิดการสะสมในร่างกายรวมไปถึงสะสมในถุงน้ำดี ก็จะทำให้ส่วนประกอบทางเคมีของน้ำดีในถุงน้ำดีขาดสมดุล จึงเกิดการตกตะกอนเป็นผลึกของคอเลสเตอรอลและมีหินปูนที่เกิดจากสารแคลเซียมมาจับตัวร่วมด้วย เราเรียกตะกอนนี้ว่า ‘นิ่วในถุงน้ำดี’ ซึ่งตะกอนนี้อาจจะเป็นตะกอนเล็กๆ หลายก้อน หรือก้อนใหญ่ก้อนเดียวก็ได้”

 



          ๐เมื่อสงสัยว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดีจะมีขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างไร?
          - เริ่มจากการซักประวัติ อาการ ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยควรจดจำอาการและระยะเวลาที่เป็นเพื่อแจ้งให้หมอทราบ ข้อมูลที่ชัดเจนจะช่วยให้การวินิจฉัยโรคร่วมกับการตรวจได้ผลที่แม่นยำขึ้น
          -แพทย์จะตรวจร่างกาย ตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับว่ามีการติดเชื้อ หรือมีตับอ่อนอักเสบร่วมด้วยหรือไม่
          -เมื่อแพทย์สงสัยว่าจะเป็นนิ่วในถุงน้ำดี แพทย์จะอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน จะทำให้ทราบผลได้ชัดเจน
          -หากแพทย์สงสัยว่าอาจจะมีนิ่วหลุดไปในท่อน้ำดีด้วย แพทย์จะทำการส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดี เพื่อเอกซเรย์ดูว่าในท่อน้ำดีมีนิ่วหรือไม่ ถ้ามีอาจจะรักษาด้วยวิธีการคล้องนิ่วในท่อน้ำดีออก
          -เมื่อตรวจวินิจฉัยโรคแล้ว แพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจโรคและทางเลือกในการรักษาด้วยวิธีต่างๆ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป


          ๐ การรักษานิ่วในถุงน้ำดี
          ในสมัยก่อน “โรคนิ่วในถุงน้ำดี” จะรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ซึ่งผู้ป่วยจะต้องพักฟื้นนานและเจ็บแผลมาก แต่ในปัจจุบัน...ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ มีนวัตกรรมการรักษาใหม่ที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถหายได้ด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ปลอดภัย แผลเล็ก เจ็บน้อย... และผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติหลังผ่าตัดเพียงไม่กี่วัน!!


          การรักษาแบบเดิมคือการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Open Cholecystectomy) ปัจจุบันมักจะใช้วิธีนี้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการอักเสบมากหรือถุงน้ำดีแตกทะลุในช่องท้องเท่านั้น


          ๐ นวัตกรรมการรักษาแบบแผลเล็กเจ็บน้อย
          นวัตกรรมที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน คือการผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy) ใช้ในกรณีไม่มีถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน โดยแพทย์จะเจาะรูเล็กๆ ขนาดประมาณ 0.5 ซม. 3 จุด และขนาด 1 ซม. ที่หน้าท้องบริเวณสะดืออีก 1 จุดเพื่อใส่กล้องและเครื่องมือผ่านรูผนังหน้าท้อง การผ่าตัดนี้ศัลยแพทย์จะเห็นอวัยวะต่างๆ และถุงน้ำดีผ่านจอภาพ แพทย์จะทำการเลาะถุงน้ำดีออกจากตับ นำใส่ถุงที่ออกแบบเป็นพิเศษ และนำออกมาตรงรูที่เจาะไว้บริเวณสะดือ แพทย์จะใช้คลิปหนีบห้ามเลือดแทนไหมเย็บแผล หลังจากตรวจดูการผ่าตัดว่าทุกขั้นตอนเรียบร้อยดีแล้ว แพทย์ก็จะนำเครื่องมือทุกอย่างออกแล้วเย็บปิดแผลที่ผิวหน้าท้อง เป็นอันเสร็จ


          ๐ ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีผ่านกล้องดีอย่างไร?
          การผ่าตัดแบบส่องกล้องนี้ได้รับความนิยมเนื่องจากผลการรักษามีโอกาสสำเร็จสูง ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว แผลมีขนาดเล็กมาก ดูแลง่าย และมีโอกาสติดเชื้อน้อย อาการปวดแผลผ่าตัดก็น้อย เมื่อแผลหายก็จะมีเพียงรอยเล็กๆ บนหน้าท้องเท่านั้น แถมยังใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วันก็กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ หลังจากกลับบ้านแล้วราว 1 สัปดาห์ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งต่างจากการผ่าตัดแบบเปิดหน้าอกที่จะเจ็บกว่า และต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลนานกว่า และยังต้องกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านอีกราว 1 เดือนกว่าจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ