Lifestyle

ตลาดสกุลเงินดิจิทัล "สะเทือน" เมื่อเฟซบุ๊กโดดร่วมวง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ "อินโนสเปซ" โดย "บัซซี่บล็อก" หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

*******************

          เรียกได้ว่าโลกการค้าในยุคดิจิทัลนี้ ถ้าใครมี “จำนวนลูกค้า” อยู่ในมือยิ่งมากเท่าไร ก็เท่ากับว่ายิ่งมี “เงินก้นถุง” ที่พร้อมสำหรับขยายการลงทุน และมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย “นอนรอ” อยู่มากตามไปด้วย

 

          คำกล่าวนี้ยิ่งถูกตอกย้ำชัดเจนขึ้น เมื่อล่าสุดผู้บริหารของเฟซบุ๊ก ให้เหตุผลสนับสนุนวิชั่นเบื้องหลังของการออกมาประกาศเปิดตัว “ลิบร้า (Libra)” สกุลเงินดิจิทัลใหม่ล่าสุดของวงการเงินคริปโต (Crypto Currency) ว่า "พันธกิจของ Libra ก็คือ การเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงิน และสกุลเงินของโลกที่คนนับพันล้านคนเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย”

 

ตลาดสกุลเงินดิจิทัล "สะเทือน" เมื่อเฟซบุ๊กโดดร่วมวง

 

 

ฝันไกลสู่สกุลเงินหลักของชาวโลก

 

          นายเดวิด มาร์คัส แม่ทัพของโครงการ Libra บอกว่า หนึ่งในเป้าหมายโครงการนี้ คือการช่วยให้ประชากร 1.7 พันล้านคนทั่วโลก ที่ไม่เคยมีบัญชีธนาคาร สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และสกุลเงินที่มีเสถียรภาพได้

 

          ขณะที่ มีรายงานว่า ปัจจุบัน เฟซบุ๊กมีจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลก 2.4 พันล้านคน และนี่จะเป็นฐานผู้ใช้งานรายสำคัญที่ช่วยให้ความนิยามสกุลเงินดิจิทัล Libra แพร่ขยายจนกลายเป็นสกุลเงินหลักได้อย่างไม่ยาก เมื่อเทียบกับสกุลเงินดิจิทัลคู่แข่งค่ายอื่นๆ

 

          ก่อนหน้านี้ ในงานประชุมนักพัฒนาประจำปีของเฟซบุ๊กครั้งล่าสุด F8 2019 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา “มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก” ซีอีโอเฟซบุ๊ก เคยกล่าวไว้ว่า เขาต้องการทำให้การส่งเงินทำได้ง่ายดายเหมือนกันส่งรูปภาพ คือทำได้ผ่านดิจิทัล รวดเร็วเรียลไทม์ ไม่มีค่าใช้จ่าย และปลอดภัย

 

          อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงเวลาการประกาศเปิดตัว Libra เกิดขึ้นในช่วงเบอร์ 1 เครือข่ายสังคมออนไลน์ของโลกรายนี้ กำลังเผชิญภาวะที่ยากลำบากที่สุดช่วงหนึ่งของบริษัท จากการถูกกดดันทั้งในเชิงกฎระเบียบจากรัฐบาล

 

          และการถูกจับตามองจากภาคการเมืองถึงการเป็นสื่อดิจิทัลอันทรงอิทธิพล รวมถึงการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานจนถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างผิดวัตถุประสงค์

 

ตลาดสกุลเงินดิจิทัล "สะเทือน" เมื่อเฟซบุ๊กโดดร่วมวง

 

          สำหรับสกุลเงินดิจิทัลล่าสุดนี้ น่าจะพร้อมให้สาวกเฟซบุ๊ก เข้ามาทดลองใช้จริงได้เร็วๆ นี้ โดยเจ้าของโครงการบอกว่า จะพยายามกำหนดค่าธรรมเนียมใช้งานไว้ในอัตราต่ำมากๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่มีอุปสรรคในการใช้บริการทางการเงิน สามารถเข้าถึงได้ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ ส่วนการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์นั้น คาดว่าต้องรอไปถึงปี 2563

 

ยักษ์ใหญ่ตบเท้าหนุนเสถียรภาพค่าเงิน

 

          อีกความน่าสนใจของสกุลเงินดิจิทัล Libra ที่นำโดยเฟซบุ๊ก ก็คือ เฟซบุ๊ก กำหนดบทบาทความ “เป็นกลาง” ให้กับตัวเอง โดยจัดตั้ง สมาคมลิบร้า (Libra Association) เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรมาเป็นผู้ควบคุมดูแลสกุลเงินดิจิทัลนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า มีความตั้งให้สกุลเงินนี้เป็น “สินค้าสาธารณะ (public good)”

 

          ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกผู้ก่อตั้ง 28 ราย จากหลากหลายประเทศและภาคส่วนครอบคลุม เทคโนโลยี การเงิน และองค์กรไม่แสวงผลกำไร ได้แก่ Mastercard, Visa, eBay, Paypal, Spotify, Uber, Lyft, Vodafone, Stripe, Facebook, บริษัทบล็อกเชนอย่างCoinbase, Anchorage

 

ตลาดสกุลเงินดิจิทัล "สะเทือน" เมื่อเฟซบุ๊กโดดร่วมวง

 

          รวมทั้งกองทุนร่วมทุนAndreessen Horowitz, Breakthrough Initiatives แต่ละรายมีสิทธิยกมือโหวตรายละ 1 เสียงเท่ากัน รวมทั้งเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการด้วย พร้อมตั้งความหวังว่าก่อนการเปิดตัวเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในปีหน้า น่าจะมีจำนวนสมาชิกไม่ต่ำกว่า 100 ราย

 

          สมาคมลิบร้า ยังได้ออกการเสนอขายสินทรัพย์ที่นำมาเป็นโทเคน หรือ Security Tokens (STOs) ของตนเอง ชื่อว่า Libra Investment Token

 

          ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการระดมทุนเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานของสมาคมฯ ซึ่งสมาชิกที่เข้ามาอยู่ในเครือข่ายของสมาคมฯ ต้องเข้ามาลงทุนขั้นต่ำใน STOs รายละ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ตลาดสกุลเงินดิจิทัล "สะเทือน" เมื่อเฟซบุ๊กโดดร่วมวง

 

          แต่ก็ใช่ว่าใครจะเข้ามาลงทุนในสมาคมลิบร้าได้ง่ายๆ เพราะมีเกณฑ์เข้มข้นเพื่อปกป้องเสถียรภาพทางการเงินของสกุลเงินดิจิทัลนี้ไว้ในระดับสูง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นองค์กรที่ทำธุรกิจด้านเฮดจ์ฟันด์เงินดิจิทัล จะต้องมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

          ส่วนบริษัทนอกกลุ่มคริปโต ก็ต้องมีขนาดของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน

 

อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน Libra

 

          จุดแตกต่างของ Libra จากสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ รวมถึงบิทคอยน์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ก็คือ เหรียญนี้ได้รับการออกแบบเพื่อเป็น เหรียญดิจิทัลที่มีหลักทรัพย์อ้างอิง (Stable Coin) กล่าวคือจะถูกหนุนหลังด้วยสินทรัพย์จริง ๆ และจะถูกรองรับโดยเครือข่ายของสถานที่ ๆ ให้แลกเปลี่ยนซื้อขายเหรียญ Libra ได้

 

          นั่นหมายความว่าเหรียญดังกล่าวนั้นจะถูกเงินจริงมาค้ำไว้เป็นแบบ 1:1 โดยเปิดกว้างรับสกุลเงินหลักๆ ของโลกที่จะนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น ดอลลาร์สหรัฐ สกุลเงินเยนญี่ปุ่น เป็นต้น

 

ตลาดสกุลเงินดิจิทัล "สะเทือน" เมื่อเฟซบุ๊กโดดร่วมวง

 

          อีกทั้ง Libra จะเป็นสกุลเงินดิจิทัลแบบโอเพนซอร์ส ที่เปิดโอกาสให้นักพัฒนาทั่วโลกสามารถสร้างแพลตฟอร์มหรือบริการอื่น ๆ มาเชื่อมต่อได้ด้วย รวมทั้ง เฟซบุ๊ก ยังเปิดตัว Calibra กระเป๋าเงินดิจิทัล (digital wallet) ที่มีไว้รองรับการรับส่งเงินสกุล Libra ผ่านแอพ Calibra ซึ่งจะอยู่ใน iOS และแอพโปรแกรมสนทนาอย่าง Messenger, WhatsApp อีกด้วย

 

          และในอนาคตจะเพิ่มบริการการทำธุรกรรมการเงินให้ซับซ้อนขึ้น เช่น การเพิ่มปุ่มจ่ายบิลรายเดือน, จ่ายเงินซื้อกาแฟผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด ไปจนถึงการชำระค่าโดยสารบริการสาธารณะโดยไม่ต้องพกเงินสดหรือตั๋วโดยสารอีกต่อไป

 

          การใช้จ่ายด้วยสกุลเงิน Libra ผู้ใช้ต้องมีการโอนเงินจริงผ่านธนาคาร หรือไปที่จุดให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตรา และทำการแลกจากสกุลเงินท้องถิ่นเป็นสกุลเงิน Libra

 

ตลาดสกุลเงินดิจิทัล "สะเทือน" เมื่อเฟซบุ๊กโดดร่วมวง

 

          และในการใช้จ่ายด้วยสกุลเงินดิจิทัลนี้ที่มีเพื่อนส่งมาให้ผ่านโปรแกรมแมสเซนเจอร์ โดยไม่ได้ผ่านทางบัญชีเงินฝาก ก็ต้องได้รับการตอบรับจากเจ้าของร้านค้านั้นๆ ก่อนว่ายอมให้จ่ายด้วย Libra

 

          เงื่อนไขเหล่านี้ ถือเป็นมาตรการที่ดีเยี่ยมในการรักษาเสถียรภาพค่าเงินดิจิทัลสกุลนี้ เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาอย่างเงินดิจิทัลที่ออกมาก่อนหน้าทั้งหลาย ที่เมื่อได้รับความนิยมก็จะมีมูลค่าถีบตัวสูงโดยไม่มีหลักค้ำประกันใดๆ กรณีผันผวนภายหลัง

 

          อย่างเช่น บิทคอยน์ ที่ปัจจุบันมีมูลค่าต่อเหรียญเทียบเท่ามูลค่าราว 9,000 ดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว

 

กูรูแนะรัฐต้อง “รู้ทัน” เฟซบุ๊ก

 

          ขอปิดท้ายด้วยบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจจากเว็บไซต์ coinman.co เกี่ยวกับ “บทบาท” หรือภารกิจซ่อนเร้นของสกุลเงินดิจิทัล Libra ที่หลายๆ คนอาจมองข้ามไป โดยผู้เขียนบทความนี้ ตั้งประเด็นส่วนหนี่งไว้ในหัวข้อ “ภาษี-ดุลทางการค้า สิ่งที่ควรพึงระวังในเศษฐกิจไร้พรมแดน”

 

          โดยผู้เขียนได้ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ยุคของสกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency หรือเงินที่ไม่ต้องมีตัวกลาง ไม่มีพรมแดน ที่คนสามารถโอนเงินหากันเองได้บนเว็บนั้นๆ โดยไม่ต้องผ่านธนาคาร ไม่มีธนาคารกลางกำกับ ไม่ต้องเสียภาษีเวลาซื้อของกัน

 

ตลาดสกุลเงินดิจิทัล "สะเทือน" เมื่อเฟซบุ๊กโดดร่วมวง

 

          ดังนั้น เฟซบุ๊ก ที่เมื่อก่อนอาจเป็นเพียง Social Network ที่สามารถซื้อโฆษณาได้ แต่ด้วยการมาของ Libra จะทำให้เฟซบุ๊ก กลายเป็นตลาดออนไลน์ที่ให้ผู้คนเข้ามาซื้อขายกันได้ด้วย จบภายในที่เดียว หรือเรียกว่า Social Network + Social Commerce นั่นเอง

 

          และเมื่อมองจากขนาดของประชากรแล้ว เฟซบุ๊ก ก็คือเขตเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่ง และอาจเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย เพราะมีฐานประชากรมหาศาลอยู่บนนั้น ผลก็คือ Libra จะเป็นตัวสูบความมั่งคั่งออกจากระบบเศรษฐกิจทุกประเทศ

 

ตลาดสกุลเงินดิจิทัล "สะเทือน" เมื่อเฟซบุ๊กโดดร่วมวง

 

          โดยยกตัวอย่างเช่น ปกติหากการซื้อขายสินค้าทำผ่านเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซทั่วไป ผู้ขายจะถูกหักค่าขายสินค้าส่วนหนึ่งออกไป เพื่อเป็นกำไรของบริษัทนั้นๆ และบริษัทส่วนมากก็เสียภาษีให้แก่ประเทศอีกต่อนึง เพื่อรัฐนำเงินภาษีนั้นไปสร้างสวัสดิการทางสังคมและขับเคลื่อนประเทศ

 

          แต่เฟซบุ๊ก “แตกต่าง” เพราะทั้งตัวบริษัท และผู้ค้าขายเอง ก็ไม่ต้องเสียภาษี ธุรกรรมเกิดขึ้นบน เฟซบุ๊ก และสื่อกลางคือ Libra สกุลเงินดิจิทัลที่สร้างโดยเฟซบุ๊กนั่นเอง

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ