Lifestyle

"ผู้หญิง" ในอุตสาหกรรมไอที ความเหลื่อมล้ำทางเพศที่รอทางออก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"วังวน" ของปัญหาโลกแตกที่ต่อเนื่องมานับแต่ยุคดึกดำบรรพ์คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ ที่ดูเหมือนว่า "พื้นที่" สำหรับผู้หญิงในสายไอทีมีสัดส่วนไม่ถึง 1 ใน 4

          เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “เทคโนโลยี” หรือ “ไอที” เชื่อว่าแทบทุกคนต้องนึกถึงภาพความล้ำสมัย ล้ำโลก ล้ำยุค และคงมีจำนวนน้อยยิ่งกว่าน้อยที่ “คาดไม่ถึง” ว่าในอุตสาหกรรมนำอนาคตอย่างวงการเทคโนโลยี จะยังคงติดอยู่ใน “วังวน” ของปัญหาโลกแตกที่ต่อเนื่องมานับแต่ยุคดึกดำบรรพ์คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ ที่ดูเหมือนว่า “พื้นที่” สำหรับผู้หญิงในสายไอทีมีสัดส่วนไม่ถึง 1 ใน 4

 

          ทั้งนี้ Havard Business Review เคยรายงานถึงสถานการณ์ “ช่องว่าง” ระหว่างเพศชายและหญิงในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีว่า เฟซบุ๊ก กูเกิล และแอปเปิ้ล มีสัดส่วนของพนักงานหญิงอยู่ในองค์กรเพียง 17%, 19% และ 23% ตามลำดับ อีกทั้งมีผลสำรวจหลายชิ้น ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า บรรดาบริษัทไอทีซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในซิลิกอน วัลเลย์ ไม่มีรายใดเลยที่มีจำนวนพนักงานหญิงเกิน 25% ในสาขางานด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ และแม้ถ้ามองภาพที่กว้างขึ้นครอบคลุม 4 สาขาหลักของสายงานอาชีพนี้ ซึ่งประกอบด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) ในประเทศพัฒนาแล้วก็ยังคงมีสัดส่วนผู้หญิงเพียง 26% ขณะที่ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีสัดส่วนน้อยลงไปอีก

 

"ผู้หญิง" ในอุตสาหกรรมไอที  ความเหลื่อมล้ำทางเพศที่รอทางออก

 

          ยังมีอีกหลายแหล่งข้อมูลที่ตอกย้ำสถานการณ์นี้ อย่างเช่น ผลการสำรวจจาก National Center for Women & Information Technology ซึ่งจัดทำร่วมกับ NCWIT’s Workforce Alliance show พบว่า ผู้หญิงในสายอาชีพที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มีอยู่เพียง 25% และมีความเป็นไปได้ที่จะลดลงไปอีก ข้อมูลจาก Github (กิตฮับ) ระบุว่า ในบริษัทสตาร์ทอัพที่ซิลิกอนวัลเล่ย์ มีเพียงสัดส่วนวิศวกรหญิงอยู่ราว 12% ชณะที่ เว็บไซต์ Businessinsider เผยแพร่รายงานจากบริษัทกฎหมาย Fenwick & West LLP ซึ่งระบุว่า ตำแหน่งผู้บริหารของบริษัทในซิลิกอนวัลเล่ย์ มีพัยง 11% ที่เป็นเก้าอี้ของผู้บริหารหญิง

 

ดีอี หนุนกิจกรรมปั้นนร.หญิงสู่สายงานดิจิทัล

          นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ในยุทธศาสตร์ที่ 5 ของกระทรวงฯ ซึ่งให้ความสำคัญกับด้านการพัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล จะมุ่งสร้างกำลังคนดิจิทัลใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การศึกษาในระบบ โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2.การพัฒนาหลักสูตรในมหาวิทยาลัย เช่น การจัดตั้ง Digital Academy Thailand (DAT)เป็นสถาบันที่ให้การพัฒนาแรงงานด้านดิจิทัลเพื่อปรับทักษะ นำไปสู่การยกระดับแรงงานขั้นสูงด้านดิจิทัล เป็นศูนย์กลางสร้างบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญในด้าน Al และ Data Science3.การสร้าง Talent พัฒนาแนวคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และ 4. สร้างคนดิจิทัลที่สามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ในการทำธุรกิจ พัฒนาอาชีพ หรือในชีวิตประจำวันได้ โดยในข้อนี้ หนึ่งในกลุ่มที่หัความสำคัญคือ การพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงให้ก้าวเข้าสู่สายอาชีพด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ซึ่งเป็นสาขาที่ปัจจุบันยังมีสัดส่วนของผู้หญิงน้อย และเป็นสาขาที่มีความพร้องการบุคลากรอีกมาก

 

"ผู้หญิง" ในอุตสาหกรรมไอที  ความเหลื่อมล้ำทางเพศที่รอทางออก

 

          ล่าสุด กระทรวงฯ จึงร่วมจัดกิจกรรม #MakeWhatsNext-DigiGirlz 2019 Thailand ซึ่งเป็นหนึ่งในแคมเปญโครงการระดับโลกของไมโครซอฟท์ มุ่งปั้นเด็กผู้หญิงสู่สายงานด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล กลุ่มเป้าหมายคือเยาวชนหญิงระดับมัธยมจากทั่วประเทศ ที่สนใจประกอบอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) นำเสนอไอเดียเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้ทักษะด้านการเขียนโค้ด และนำเสนอโครงงาน และใช้ทักษะที่ได้เรียนรู้ไปประดิษฐ์ผลงานร่วมแข่งขัน

          “โครงการนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ช่วยให้เยาวชนหญิงที่เข้าร่วมได้รับโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และได้รับแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพในสายงานด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลต่อไป โดยเฉพาะในสาขาที่เป็นแนวโน้มที่กำลังมาแรงอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เน้นการสร้างนวัตกรรม และจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในแทบทุกอุตสาหกรรม และกิจกรรมในการดำเนินชีวิต”

          โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการขยายตัวของเทคโนโลยี AI กำลังนำมาซึ่ง “โจทย์” สำคัญเกี่ยวกับ “จริยธรรม (Ethic)” เพื่อไม่ให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด ดังนั้น การที่โครงการ #MakeWhatsNext-DigiGirlz จัดทำขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นเยาวชนในระดับมัธยม จึงถือเป็นการให้ความรู้และสร้างความตระหนักแต่เนิ่นๆ ในเรื่องความรู้เชิงเทคโนโลยีควบคู่กับการปลูกฝังจริยธรรมควบคู่กันไป เพื่อเตรียมพร้อมกำลังคนดิจิทัลรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพอย่างแท้จริง

 

"ผู้หญิง" ในอุตสาหกรรมไอที  ความเหลื่อมล้ำทางเพศที่รอทางออก

 

เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม คาดปัญหานี้อยู่นานอีก 200 ปี

          จากรายงานของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ระบุว่า ช่องว่างระหว่างเพศด้านโอกาสทางเศรษฐกิจทั่วโลกนั้น ยังคงมีขอบเขตที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานเพื่อการแก้ไข โดยการกำจัดช่องว่างระหว่างเพศนั้นถูกคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลาถึง 202 ปี นอกจากนี้ ยังพบว่า จากจำนวนผู้ประกอบอาชีพด้าน AI ทั่วโลก มีเพียง 2% ที่เป็นผู้หญิง การพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่ขาดความสามารถที่หลากหลาย ทำให้ถูกจำกัดความสามารถในการบุกเบิกนวัตกรรมที่ครอบคลุม และมีโอกาสในการนำเสนอชุดข้อมูลที่มีการละเลยเรื่องความลำเอียงทางเพศอีกด้วย

 

"ผู้หญิง" ในอุตสาหกรรมไอที  ความเหลื่อมล้ำทางเพศที่รอทางออก

 

          นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทยจำกัด กล่าวว่า ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ หากปราศจากมุมมองของผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถในสาขา STEM อาจทำให้ขาดปัจจัยที่ก่อให้เกิดโซลูชั่นเชิงสร้างสรรค์ โดยมีคาดการณ์ที่ระบุว่า หากจำนวนผู้หญิงที่ประกอบอาชีพในสาชา STEM มีไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดตำแหน่งว่างงานหลายหมื่นตำแหน่งในอนาคต รวมทั้งพลาดโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมอีกหลากหลายรูปแบบ

          “การที่กระทรวงดีอี เข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการจุดประกายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และอีกหลายๆ ภาคส่วนให้เห็นความสำคัญของความหลากหลาย (Diversity) และการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในอนาคตที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive) นอกจากกิจกรรมนี้ เรายังมีความร่วมมือกันในโครงการอื่นๆ เช่น โครงการ Coding Thailand ให้ความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แก่เยาวชน และโครงการ Re-Skill พัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่มีอยู่ให้กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลด้าน AI และ Data เพื่อให้หลุดพ้นจากผลกระทบของ Technology Disruption” นายธนวัฒน์กล่าว

          พร้อมทั้งให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ ไม่ให้ความสนใจกับการศึกษาในสาขา STEM มีหลายข้อ ได้แก่ ขาดบุคคลที่เป็นต้นแบบ การสร้างความรู้ที่บิดเบือนเกี่ยวกับอาชีพในสาขานี้ทำให้เข้าสู่สายอาชีพนี้จำนวนลดลง การชักจูงให้กลุ่มเด็กหญิงหันมาสนใจสาขานี้มากขึ้น ต้องใช้วิธีการที่ครอบคลุม และช่วยให้มองเห็นโอกาสของอนาคตในการทำงาน ซึ่งไมโครซอฟท์ ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ ซึ่งกิจกรรม #MakeWhatsNext-DigiGirlz 2019 Thailand จะเป็นส่วนหนึ่งในความคิดริเริ่มที่ช่วยให้ประเทศไทยในการจัดการปัญหาเกี่ยวกับช่องว่างระหว่างชายหญิงได้

 

"ผู้หญิง" ในอุตสาหกรรมไอที  ความเหลื่อมล้ำทางเพศที่รอทางออก

 

หัวใจหลักสร้างแรงบันดาลใจผู้หญิงสายไอที

          นางสาวสุภารัตน์ จูระมงคล ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมเพื่อชุมชน บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้จัดโครงการที่มุ่งสร้างแรงบันดาลใจในสาขาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี และเสริมสร้างศักยภาพเด็กผู้หญิงในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง #MakeWhatsNext-DigiGirlz 2019 Thailandมีความพิเศษกว่าเดิม โดยเปิดโอกาสให้เด็กผู้หญิงทั่วประเทศแข่งโค้ดดิ้งสำหรับอุปกรณ์แผงวงจร micro:bit เป็นครั้งแรกเพื่อการพัฒนาเขียนโปรแกรมเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ซึ่งทักษะที่ได้จะต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์จากเซ็นเซอร์ได้หลากหลายด้าน

          “#MakeWhatsNext-DigiGirlz เป็นแคมเปญที่สนับสนุนให้เด็กผู้หญิงก้าวเข้าสู่สายงานด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งจากข้อมูลเชิงลึกทำให้เราเห็นถึงปัจจัยที่ยังเป็นอุปสรรค เช่น การขาด Role Model, การเรียนการสอนในโรงเรียนไม่ดึงดูดความสนใจ, ขาดการส่งเสริมสนับสนุนสภาพแวดล้อม ที่สร้างบรรยากาศให้เด็กๆ เกิดความตื่นเต้นในการเรียนรู้ เป็นต้น”

 

"ผู้หญิง" ในอุตสาหกรรมไอที  ความเหลื่อมล้ำทางเพศที่รอทางออก

 

          ดังนั้น ไมโครซอฟท์ได้ตีโจทย์ปัญหาข้างต้น และนำมาสู่การออกแบบการจัดกิจกรรมที่ประกอบด้วย 3 หัวใจหลัก เพื่อกระตุ้นแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ และให้เด็กผู้หญิงมองเห็นโอกาสในสายอาชีพด้านนี้ ได้แก่ Excitement อบรมทักษะการเขียนโปรแกรม (โค้ดดิ้งให้นำไปต่อยอดสร้างผลงานเข้าแข่งขัน, Encouragement ออกแบบสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการสร้างแรงบันดาลใจ และ Growth Mindset ขยายกรอบแนวคิดให้เห็นว่าการเรียนรู้ในสาขา STEM น่าสนุกและเพลิดเพลิน

          โครงการปีนี้มีนักเรียนหญิง ระดับชั้น ม.3-6 สมัครเข้าร่วมโครงการรวม 145 คน จากโรงเรียนทั่วประเทศ 20 แห่งหลังผ่านการอบรมจะคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันเหลือ 9 ทีม เพื่อนำเสนอแนวคิดโครงงาน พร้อมรับคำแนะนำจากโค้ช และรับชุด micro:bit ไปใช้ในการประดิษฐ์ผลงาน จากนั้นวันที่ 10 พฤษภาคม ทุกทีมนำเสนอผลงานประดิษฐ์ เพื่อให้คณะกรรมการประกาศผลการแข่งขัน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ