Lifestyle

เดินหน้างานวิจัยถอดรหัสยีนมะเร็ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"วาโก้" สนับสนุน "ศิริราช" รักษามะเร็งเต้านมด้วยการแพทย์แม่นยำ มอบ 1 ล้านบาทเดินหน้างานวิจัยถอดรหัสยีนมะเร็ง

          “โรคมะเร็ง” สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย เป็นฝันร้ายที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะแม้เทคโนโลยีการแพทย์ปัจจุบันจะก้าวหน้าไปมาก แต่ต้องยอมรับว่าโรคนี้รักษาหายขาดได้ยาก โดยเฉพาะผู้ป่วยระยะลุกลามที่มีโอกาสเสียชีวิตสูง ทั้งยังมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงวิธีการรักษาแบบใหม่ๆ เหล่านี้ได้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และไม่อยู่ในสิทธิ์เบิกจ่ายใดๆ ของภาครัฐ แต่อีกไม่นาน คำว่า “มะเร็งเป็นได้ก็หายได้” อาจไม่ใช่ความหวังที่ไกลเกินเอื้อม เมื่อทุกคนมีโอกาสรับการรักษาได้เท่าเทียมกัน จากงานวิจัย “ถอดรหัสยีนมะเร็ง” เพื่อสร้างฐานข้อมูลพันธุกรรมมะเร็งในคนไทยเป็นครั้งแรกของประเทศ ริเริ่มโดยสถานวิทยามะเร็งศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศที่จะผลักดันให้เกิดมาตรฐานใหม่ ในการวางแนวทางรักษาโรคมะเร็งตามหลักการแพทย์แม่นยำ ให้เหมาะสมกับพันธุกรรมของผู้ป่วยมะเร็งแต่ละรายมากที่สุด จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้หายขาดได้ถึงขีดสุด และมีผลข้างเคียงต่ำ

เดินหน้างานวิจัยถอดรหัสยีนมะเร็ง

ธรรมรัตน์ โชควัฒนา 

          ล่าสุด บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) นำโดย ธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการบริหาร บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินภารกิจต้านโรคมะเร็งเต้านมมาต่อเนื่อง 18 ปี ภายใต้ “โครงการวาโก้โบว์ชมพู สู้มะเร็งเต้านม ได้่ร่วมสมทบทุน 1,000,000 บาท เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยดังกล่าว และเชิญชวนทุกคนมาร่วมเป็นผู้ให้ในการส่งมอบความหวังใหม่ในการรักษามะเร็งครั้งนี้ไปด้วยกัน

เดินหน้างานวิจัยถอดรหัสยีนมะเร็ง

อ.ดร.นพ. วิทูร ชินสว่างวัฒนกุล

          อ.ดร.นพ. วิทูร ชินสว่างวัฒนกุล หัวหน้าสถานวิทยามะเร็งศิริราช กล่าวว่า การรักษามะเร็งด้วยการแพทย์แม่นยำจะใช้เทคโนโลยีถอดรหัสยีนมะเร็งเข้ามาช่วยใน 2 เรื่องคือ การตรวจวินิจฉัยเพื่อดูว่า ผู้ป่วยแต่ละรายเกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์ชนิดใดจนเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง จากนั้นแพทย์จึงจะสามารถวางแนวทางการรักษาที่จำเพาะสอดคล้องกับสาเหตุของโรคได้อย่างแม่นยำ และเลือกใช้ในเวลาที่เหมาะสม ทำให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีผลข้างเคียงน้อย ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องลองใช้ยาทีละตัวๆ ไปตามขั้นตอน แต่สามารถระบุวิธีการรักษาหรือตัวยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยได้ตั้งแต่เริ่มต้น และมีโอกาสหายขาดจากโรคมากขึ้น   

เดินหน้างานวิจัยถอดรหัสยีนมะเร็ง

ตัวอย่างเนื้อเยื่อของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

เดินหน้างานวิจัยถอดรหัสยีนมะเร็ง

เซลล์มะเร็งที่เพาะเลี้ยงขึ้นจากผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

          “ทีมแพทย์และนักวิจัยได้ตั้งเป้าโครงการระยะแรกไว้ว่า ภายในปี 2022 จะต้องถอดรหัสยีนมะเร็งจากผู้ป่วยระยะลุกลามให้ได้อย่างน้อย 2,000 ราย ซึ่งต้องใช้เงินทุนราว 200 ล้านบาท ก่อนจะขยายผลให้ครบ 10,000 รายภายในเวลา 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งข้อมูลนี้จะถูกนำไปใช้ปรับแผนการวินิจฉัยและการรักษากันใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยใหม่ที่พบมากถึงปีละกว่า 100,000 ราย ปัจจุบัน การถอดรหัสยีนมะเร็งมีเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ค่าใช้จ่ายสูงถึงประมาณ 50,000-200,000 บาท หากโครงการนี้ได้รับการผลักดันเดินหน้าไปด้วยดี จนมีฐานข้อมูลพันธุกรรมใหญ่เพียงพอที่จะรู้ว่าคนไทยต้องการยาต้านมะเร็งชนิดใดมากเป็นพิเศษ ภาครัฐก็อาจตระหนักถึงความสำคัญและประสิทธิภาพของการรักษาด้วยหลักการแพทย์แม่นยำ และให้การสนับสนุนนำตัวยาดังกล่าวเข้าไปอยู่ในสิทธิ์เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล พร้อมทั้งผลักดันให้มีบริการถอดรหัสยีนมะเร็งเป็นบรรทัดฐานในการรักษาตามหน่วยบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ” หัวหน้าสถานวิทยามะเร็งศิริราช กล่าว 

เดินหน้างานวิจัยถอดรหัสยีนมะเร็ง

เดินหน้างานวิจัยถอดรหัสยีนมะเร็ง

บรรยากาศการทำงานในห้องวิจัย 

          มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นผู้ให้เพื่อพิชิตโรคมะเร็งร้ายไปด้วยกัน ผ่านเลขที่บัญชี 901-7-05999-0 ชื่อบัญชี: ศิริราชมูลนิธิ กองทุนสนับสนุนการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ (ใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ