Lifestyle

ได้เวลาถนอม"ดวงตา"จากหน้าจอกันแล้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ข้อปฎิบัติ 6 วิธีก่อนที่ "คอมพิวเตอร์ วิชั่น ซินโดรม" จะถามหา

        ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า “ออฟฟิศ ซินโดรม” หรือ อาการป่วยที่เกิดจากการทำงานออฟฟิศ แต่ทราบกันหรือไม่คะว่าการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ก็อาจจะเป็นสาเหตุของอาการป่วยอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “คอมพิวเตอร์ วิชั่น ซินโดรม” (Computer Vision Syndrome) หรือ CVS ได้เช่นกัน เป็นอาการป่วยที่เกิดจากการใช้สายตากับหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน รวมถึงแท็บเล็ต เป็นเวลานานๆ ซึ่งโดยเฉลี่ยจะเกิดกับ 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ใช้อุปกรณ์เหล่านี้เป็นประจำ

ได้เวลาถนอม"ดวงตา"จากหน้าจอกันแล้ว

         อาการของ “คอมพิวเตอร์ วิชั่น ซินโดรม” รวมถึงอาการเคืองตา ตามัว แพ้แสง ไปจนกระทั่งอาการปวดศีรษะ ปวดคอ และหลัง ที่สำคัญหลายๆ ครั้ง เราไม่รู้ว่าอาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากการใช้เวลากับหน้าจอมากจนเกินไปโดยไม่ได้ให้สายตาได้พักและทำให้ไม่ได้รับการแก้ไขที่ตรงจุด อย่างไรก็ตามในโลกปัจจุบันการไม่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์เหล่านี้คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก สิ่งสำคัญคงจะเป็นการป้องกันอาการป่วยที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงการใช้สายตาในระดับที่เหมาะสม ในวิธีการถนอมดวงตาจากหน้าจอ ผู้เชี่ยวชาญจากไลฟ์เซ็นเตอร์ มีข้อแนะนำดังนี้ “ปรับตำแหน่ง” ระยะห่างและมุมการมองจอให้เหมาะสม หน้าจอควรจะอยู่ต่ำกว่าระดับสายตาของเราประมาณ 10-15 ซม. เพื่อให้เราสามารถก้มศีรษะลงเล็กน้อย และระยะห่างระหว่างหน้าจอกับตาที่เหมาะสมที่สุด คือประมาณ 50-60 ซม.

ได้เวลาถนอม"ดวงตา"จากหน้าจอกันแล้ว

         “ปรับแสงสว่างโดยรอบให้เหมาะสม” แสงสว่างที่มากจนเกินไปอาจทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าของดวงตา ขณะที่มีการใช้งานกับจอคอมพิวเตอร์ เราสามารถปรับแสงสว่างให้ลดลงได้ โดยปริมาณแสงที่เหมาะสมคือความสว่างเพียงครึ่งหนึ่งของแสงสว่างภายในออฟฟิศปกติ ซึ่งเราสามารถลดปริมาณของแสงได้ด้วยการปิดม่าน หรือดับไฟบางดวงในห้องทำงานลงบ้าง “กะพริบตาบ่อยๆ” และให้สายตาได้พัก สาเหตุของอาการตาแห้ง อาจมีสาเหตุมาจากการเพ่งสายตาเป็นเวลานานๆ เพราะฉะนั้นในระหว่างการใช้งานกับจอคอมพิวเตอร์ อย่าลืมกะพริบตาบ่อย หรือในทุกๆ ระยะ 20 นาที ให้หลับตา สลับกับลืมตาช้าๆ ประมาณ 10 ครั้ง เพื่อช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อจากการเพ่ง และลดอาการตาแห้ง

ได้เวลาถนอม"ดวงตา"จากหน้าจอกันแล้ว

         นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกนั่นคือ “พักสายตาเป็นระยะ” หลังจากการใช้งานของสายตากับหน้าจอต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ควรเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่นเป็นระยะสั้นๆ โดยในทุกๆ 2 ชั่วโมง ควรให้สายตาได้พักอย่างน้อย 15 นาที และในทุกๆ 20-30 นาที ของการใช้สายตากับหน้าจอ ควรพักสายตาด้วยการละสายตาจากจอ และมองออกไปไกลๆ สัก 15-20 วินาที หรือจะมองไกล สลับการการมองใกล้ๆ ครั้งละ 10-15 วินาที ทำอย่างนี้สัก 10 ครั้ง ก็จะช่วยให้สายตาได้พัก “นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ” การพักผ่อนที่น้อยจนเกินไป นอกจากส่งผลต่อการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย ยังอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองกับดวงตาได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ดังนั้นอย่าลืมจัดตารางให้แก่การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และที่ขาดไม่ได้

ได้เวลาถนอม"ดวงตา"จากหน้าจอกันแล้ว

         “ตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ” ผู้ที่ใช้สายตากับหน้าจอเป็นประจำ ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจดูความผิดปกติทางสายตา หรืออาการป่วยที่อาจเกิดขึ้น เพราะการทราบถึงอาการผิดปกติในระยะแรก ย่อมหมายถึงโอกาสที่จะรักษา หรือป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นได้ การพบแพทย์และตรวจความผิดปกติของสายตาเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป ที่อาจเริ่มมีอาการทางสายตาที่เกิดตามวัยได้อีกด้วย
         ถึงเวลาไปดูกันแล้วว่าหน้าจอของเราอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือยัง ห้องทำงานมีปริมาณและทิศทางของแสงที่พอเหมาะหรือไม่ และที่สำคัญ อย่าลืมให้สายตาได้พักบ้าง พักผ่อนให้เพียงพอ และจัดตารางการดูแลสุขภาพตา ไปพบแพทย์เป็นระยะ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ