Lifestyle

“การออกแบบระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การออกแบบระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ จะต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญที่ถือเป็นมาตรฐานของโลกให้สอดคล้องกับการใช้สอยสำหรับคนทุกประเภท ทุกวัย ทุกสถานะ คำนึงความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งสามารถเป็นแรงผลักดันให้เกิดเป็นแลนด์มาร์คของเมืองและประเทศนั้นด้วย โดยมีหลักคิดรวม ดั

 1. ออกแบบให้ครอบจักรวาล “Universal Design” 
 มีความเป็นสากลเหมาะสมกับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกลักษณะ ทั้งคนพิการ คนสูงอายุ เด็ก คนป่วย คนปกติ ให้สามารถใช้สอยได้สะดวกอย่างเท่าเทียมกัน

 2. มีสัญลักษณ์บอกทางและภาษาแบบสากล 
 ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่น หรือภาษาประจำรัฐ  หลักการออกแบบไม่ควรใช้ภาษาที่คนต่างชาติ ต่างภาษาอ่านไม่รู้เรื่อง และควรมีสัญลักษณ์ บอกตำแหน่งต่างๆ ที่อ่านง่ายไม่ยุ่งยากและมีความสวยงาม

 3. การเลือกวัสดุ
 ควรคำนึงถึงความปลอดภัย ไม่ลุกลามไฟ ทนทาน ดูแลรักษาง่าย ไม่เก่าเร็ว

 4. ความเข้าใจเรื่องการสัญจร และการระบายคน 
 โดยใช้หลักสากลของการออกแบบประเภทนี้ อีกทั้งการออกแบบที่คำนึงถึงการเข้าและออกอาคาร ความไม่ทับซ้อนกันของเส้นทางสัญจร การคำนวณปริมาณของคนที่มากสุด, เร่งรีบสุด ไปจนถึงน้อยสุด มาเป็นปัจจัยในการออกแบบพื้นที่ต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดการคอขวด, ติดขัดหรืออันตรายต่อการใช้พื้นที่

 5. ความปลอดภัย 
 มีระบบป้องกันภัยทุกประเภท เช่นการติดตั้งระบบสัญญาณเตือนภัยต่างๆ ระบบกล้องวงจรปิดมากจุด ป้องกันการเกิดอาชญากรรม ระบบการออกแบบที่ทำให้การขึ้นยานพาหนะปลอดภัยที่สุด  โดยคำนึงถึงพฤติกรรมของคนทุกประเภทที่มาอยู่รวมกันมากที่สุด

 6. มีการแบ่งโซนลำดับการเดินทาง 
 เพื่อความเป็นระเบียบและสอดคล้องกับพฤติกรรมมนุษย์มากที่สุด ทั้งขนส่งคนและสัมภาระ  โดยแบ่งเป็นโซนและกั้นตามตำแหน่งและลำดับในการเดินทาง มีการตรวจตราตั้งแต่คนเข้าและทยอยออกสู่ยานพาหนะอย่างสะดวกที่สุด
ระบบขนส่งมวลชน, สถานีเพื่อการเดินทาง มีหลักคิดในการออกแบบจากหน่วยเล็กที่สุด ไปจนถึงหน่วยใหญ่ที่สุดดังนี้ครับ

 1. ป้ายจอดรถประจำทาง  การออกแบบควรคำนึงถึงพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ความปลอดภัย ความคล่องแคล่ว สะดวกสบายในการเดินทางขึ้นรถ มีโครงสร้างที่แข็งแรงทนแดด ทนฝน ไม่เก็บฝุ่น ทำความสะอาดง่าย สามารถป้องกันฝนได้ดี ป้ายรถประจำทางควรมีที่พักคอยอย่างเพียงพอ โปร่งใส มีป้ายและสัญลักษณ์อธิบายการเดินรถในแต่ละเวลาอย่างละเอียด มีโทรศัพท์สาธารณะ มีแสงสว่างเพียงพอ โดยติดตั้งกล้องวงจรปิดและสามารถควบคุมดูแลให้เกิดความปลอดภัยจากอาชญากร ที่สำคัญการออกแบบให้เหมาะสม มีความทันสมัย สวยงามและถือเป็นเสน่ห์ของเมืองนั้นๆ

 2. ท่าเรือ  ควรมีโครงสร้างที่ปลอดภัย ออกแบบรองรับคนได้จำนวนที่เหมาะสม มีป้ายบอกน้ำหนัก  และจำนวนคน มีการออกแบบระบบการเทียบท่าของเรือได้อย่างปลอดภัย พอดี ขยับได้ตามน้ำขึ้นน้ำลง มีเสื้อชูชีพให้พอดีหรือมากกว่าจำนวนคน  มีป้ายและระบบหน้าจอที่ทันสมัยบอกการเดินทางตามเวลาที่กำหนดของเรือแต่ละเที่ยว

 การออกแบบท่าเรือกลายเป็นสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมภายในที่นักออกแบบได้แสดงออกทางความคิดกันอย่างสนุกและน่าสนใจ และอาจเป็นแลนด์มาร์คของเมืองนั้นๆ มีการคิดค้นให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ทั้งการเลือกวัสดุและระบบทางวิศวกรรม และเป็นโอกาสดีที่ทำให้ผู้ออกแบบสามารถแสดงความคิด ไอเดียได้อย่างเต็มที่

 การออกแบบที่ดีจะต้องประกอบด้วย การออกแบบสภาพแวดล้อมและบริเวณให้เป็นสื่อสากล ทั้งสัญลักษณ์การบอกทาง และสัญลักษณ์อื่นๆ

 การออกแบบท่าเรือที่สมบูรณ์  มีองค์ประกอบแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ตั้งแต่ตำแหน่งที่ซื้อขายตั๋วเดินทาง, การออกแบบให้เกิดการรอคิวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการออกแบบกราฟฟิกที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบ ทั้งตั๋ว เอกสารบอกรายละเอียด โบรชัวร์ ป้าย สัญลักษณ์ เสื้อผ้าพนักงาน  รูปแบบ  บุคลิกของเรือ สีสัน บรรยากาศ ทั้งภายในและภายนอกของท่าเรือ ตลอดจนการออกแบบบรรยากาศ สีสันรูปแบบภายในเรือแต่ละประเภทด้วย  ตลอดจนส่วนให้บริการต่างๆ ที่รองรับการเดินทาง เช่น ร้านค้าย่อย, ร้านอาหาร, ร้านขายของที่ระลึก จนบางแห่งอาจจะกลายเป็นแหล่งช็อปปิ้งใหญ่ และบางแห่งอาจจะสามารถสร้างแม่เหล็กให้เกิดความประทับใจและจดจำของนักเดินทางได้

 3. สถานีขนส่งมวลชนระบบรางรถไฟฟ้า, รถใต้ดิน, รถราง, และรถไฟ  แหล่งรวมการเดินทางที่มีคนพลุกพล่านมากที่สุด และถือเป็นปัจจัยสำคัญของการใช้ชีวิตอันเร่งรีบของคนเมือง ประเทศไทยยังถือว่าล้าสมัยในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะรถไฟไทยที่ยังต้องได้รับการปรับปรุงอย่างมาก ทั้งระบบการให้บริการ รูปแบบบรรยากาศ  ระบบเทคโนโลยี และการเชื่อมต่อเครือข่ายรถรางทั้งระบบทุกประเภท ทั้งรถไฟฟ้า รถใต้ดิน และรถไฟเดินทางข้ามเมือง

 การออกแบบที่ดีต้องทำให้เกิดระเบียบในการใช้บริการมากที่สุด  มีทิศทางในการเดินชัดเจน มีแสงสว่างเพียงพอ มีความเป็นเอกภาพในการออกแบบกราฟฟิกทั้งหมดอย่างลงตัว สวยงาม องค์ประกอบอื่นที่ทำให้สถานีเหล่านี้มีเสน่ห์ก็คือ จุดให้บริการเช่น จุดจำหน่ายตั๋วเดินทาง ร้านค้าต่างๆ องค์ประกอบของการจัดรูปแบบของป้ายโฆษณาต่างๆ การเพิ่มเติมศิลปะประจำท้องถิ่นเข้าไปอย่างกลมกลืนไม่ขัดแย้ง จุดให้บริการนักท่องเที่ยว และจุดศูนย์รวมมอนิเตอร์ดูความเคลื่อนไหว  ความปลอดภัยทั้งอาคารก็เป็นจุดสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการให้บริการที่เป็นสากล

 4. สถานีขนส่งรถประจำทางระหว่างเมือง เป็นอีกประเภทที่มีความพลุกพล่านมากที่สุด โดยเฉพาะช่วงเทศการต่างๆ ประจำปีของแต่ละประเภท  การออกแบบครอบคลุมทุกเรื่องทั้งสถาปัตยกรรม, สถาปัตยกรรมภายใน การออกแบบเลขศิลป์และกราฟฟิก, การออกแบบผลิตภัณฑ์และระบบการอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย มีความสวยงามและสอดคล้องกับพฤติกรรมของคนเดินทาง เช่น การออกแบบให้มีการลำดับคิวอย่างลงตัว, การทยอยสัมภาระไม่ให้มีความวุ่นวายและสับสน เป็นอีกจุดหนึ่งที่ประเทศไทยควรปรับปรุงและสร้างอาคารให้เป็นแลนด์มาร์คสำคัญอย่างหนึ่ง

 5. สนามบิน เป็นอาคารสาธารณะที่สำคัญที่สุดประเภทหนึ่งของเมืองสำคัญๆ ทั่วโลก และเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของประเทศนั้นๆ ที่มีการแข่งขันกันเป็นผู้นำ มีผลต่อเศรษฐกิจระดับชาติ, ระดับโลก เป็นสถานที่ที่ต้องคำนึงถึงกฎสากลในการเดินทาง มีการออกแบบให้เกิดสัญลักษณ์ประจำเมืองท้องถิ่น โดยสามารถสื่อสารเอกลักษณ์ออกมาผ่านการออกแบบได้  แต่ไม่ควรนำเสนอจนเลอะเทอะต้องคงลักษณะความเป็นกลาง และสากลเอาไว้ โดยเติมงานศิลปะเอาไว้อย่างกลมกลืน

 สนามบินสมุยเป็นตัวอย่างที่ดีในการเปลี่ยนวิธีการนำเสนอด้วยสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น  สามารถอ้างอิงแนวคิดที่ดีเหล่านี้ได้ด้วยบรรยากาศสนามบินที่ให้ความเป็นกันเอง และสามารถเชื่อมโยงกับบริบทสภาพแวดล้อมของสมุยอย่างดีมาก

 ในขณะที่สนามบินนานาชาติทั่วโลกพยายามแข่งขันกันเพื่อช่วงชิงความเป็น “HUB” ของแต่ละภูมิภาคการออกแบบจึงต้องนำระบบเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้สนามบินทันสมัยรองรับคนจากทั่วโลกอย่างสะดวกรวดเร็ว ความจำเป็นในการออกแบบอาคาร สถานที่อย่างมีคุณภาพควรจะอยู่ในวิสัยทัศน์ของผู้นำ ผู้บริหารประเทศหรือองค์กรต่างๆ เพราะยุคหน้าเป็นยุคที่ต้องแข่งขันกันสร้างสรรค์มากที่สุด
 
 ท่านใดอยากขอคำปรึกษาการออกแบบ และจองสัมมนาในช่วงกุมภาพันธ์ปีหน้านี้  สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่  โทร.0-2984-0091-2

 อ. เอกพงษ์   ตรีตรง www.ideal1group.com

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ