Lifestyle

แม่ฮ่องสอนตะลอนดูหัตถวิถีชนเผ่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หัตถกรรมท้องถิ่น ตัวเชื่อมโยงระหว่างความเชื่อความผูกพันระหว่างวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต

      “แม่ฮ่องสอน” หลายคนรู้จักกันดีในนาม “เมืองสามหมอก” ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองรองในด้านการท่องเที่ยว แต่ถ้าจะนับกันจริงๆ มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม ให้นักเที่ยวไปสัมผัสเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน “แม่ฮ่องสอน” ยังมีความโดดเด่นในเรื่องของ “ชนเผ่า” หรือ “กลุ่มชาติพันธุ์” เป็นจำนวนไม่น้อย อาทิ ไทยใหญ่, มูเซอ (ล่าหู่), ลีซู (ลีซอ), ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง), ม้ง (แม้ว), ลัวะ (ละเวือะ) ซึ่งแต่ละชนเผ่าล้วนเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เพียงแค่ในเรื่องวิถีชีวิตแต่ยังมีเรื่องหัตถกรรมท้องถิ่น ได้แก่ ผ้าทอ เครื่องเงิน 

แม่ฮ่องสอนตะลอนดูหัตถวิถีชนเผ่า

ทุ่งบัวตองบานเต็มดอยอูคอ

       ททท.แม่ฮ่องสอน เล็งเห็นว่าไม่ได้เป็นสินค้าหรือหัตถกรรม แต่เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างความเชื่อความผูกพันระหว่างวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต รวมกันออกแล้วถ่ายทอดออกมาเป็นผืนผ้าล้วนมีคุณค่าทางใจ ในทางกลับกันกลุ่มชนเผ่าเองต่างก็พยายามอนุรักษ์ภูมิปัญญาของตัวเองจากรุ่นปู่ย่าตายายลงมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเอาไว้เป็นอย่างดี 

แม่ฮ่องสอนตะลอนดูหัตถวิถีชนเผ่า

หญิงชาวปกาเกอะญอกับเสื้อที่บ่งบอกสถานะของแต่ละคน

       อย่างที่ในเขตอำเภอเมือง ที่บ้านป่าปุ๊ ต.ผาบ่อง มีกลุ่มชาติพันธุ์ “ปกาเกอะญอ” หรือ “กะเหรี่ยง” อาศัยอยู่ ที่นี่มีเรื่องราวเกี่ยวกับ “ผ้าต่ากีญะ” (ภาษากะเหรี่ยง แปลว่า ผ้า) น่าสนใจไม่น้อย ซึ่ง ราตรี ปรีชญาวิชัยกุลประธานกลุ่มผ้าต่ากีญะ  ถ่ายทอดให้ฟังว่า วัฒนธรรมของปกาเกอะญอ ใช้เสื้อผ้าเป็นเครื่องบ่งบอกสถานภาพของบุคคล อย่าง “เด็กเกิดใหม่” แม่จะต้องทอผ้าสีขาวสำหรับเย็บเป็นชุดใส่ในพิธีครบ 1 ขวบ โดยแม่จะทำหน้าที่ทอคนเดียวหรือหากมีผู้ช่วยต้องรวมกันเป็น 3 คน ที่สำคัญต้องทอให้เสร็จภายในวันเดียว และ “เด็กผู้หญิง” เมื่ออายุครบ 12 ปีต้องเริ่มหัดทอผ้าเพื่อเตรียมไว้เป็นชุดแต่งงาน โดยเป็นผ้าพื้นที่ดำปักลายสีแดงและสีขาว

แม่ฮ่องสอนตะลอนดูหัตถวิถีชนเผ่า

ลวดลายดั้งเดิมของผ้าประจำชนเผ่าปกาเกอะญอ

      ส่วนเด็กผู้หญิงปกาเกอะญอต้องใส่ชุดขาวมีลายที่เชิงเล็กน้อยครั้นพอ “โตเป็นสาวแต่ยังไม่แต่งงาน” จะใส่ชุดยาวสีขาวมีลายที่ช่วงอก กระทั่งเมื่อ “แต่งงาน” แล้ว ต้องเปลี่ยนมาใส่ผ้าถุงเสื้อดำมีลาย และเสื้อเป็นสีดำ สื่อความหมายว่า ความรักอมตะ ตามประเพณีของชนเผ่าปญากะญอที่ยึดถือคู่ผัวเดียวเมียเดียว ในทางกลับกันผู้ชายปญากะญอจะไม่ใช้ “ผ้าลายน้ำไหล” เลยไม่ว่าจะเป็นเสื้อและย่ามเพราะเป็นลายที่ใช้เฉพาะผ้านุ่งของผู้หญิงเท่านั้น และที่สุดชาวปญากะญอต้องเตรียมชุดใหม่ 1 ชุด ย่าม 1 ใบ และผ้าห่ม 1 ผืน สำหรับใช้เมื่อวาระสุดท้ายมาถึง

     สำหรับเอกลักษณ์ของผ้าต่ากีญะประกอบด้วย 7 ลายตามความเชื่อแต่โบราณว่าลายของผ้าทอกะเหรี่ยงได้มาจากลายหนังงูใหญ่ที่เป็นคู่รักในอดีตของหญิงสาวชาวกะเหรี่ยง โดยที่งูตัวนั้นจะเปลี่ยนลายทุกวันและหญิงสาวก็ทอผ้าตามลายที่ปรากฏจนครบ 7 วัน มีชื่อเรียกว่า ลายโยห่อกือ, เกอเปเผลอ, ฉุ่ยข่อลอ, ทีข่า, เกอแนเดอ, เซอกอพอ และแซะฉ่าแอะ ส่วนการย้อมผ้ายังคงใช้วิธีการย้อมสีจากธรรมชาติ เช่น เปลือกต้นเพกา ต้นซากอแระ ใบสัก เป็นต้น

      แม่ฮ่องสอนตะลอนดูหัตถวิถีชนเผ่า

นอกเวลาทำไร่ทำสวนหญิงชาวมูเซอดำจะหยิบผ้าขึ้นมาเย็บปัก

     จุดเช็กอินอันดับต้นๆ ของแม่ฮ่องสอนในตอนนี้คงไม่พื้น “บ้านจ่าโบ่” ต.ปางมะผ้า อ.ปางมะผ้า ซึ่งเป็นชุมชนของชาวไทยภูเขาเผ่า “ลาหู่” หรือ “มูเซอดำ” ที่นี่มีผ้าประจำเผ่าไว้คอยดึงเงินในกระเป๋านักเที่ยว นะกอ ไพรเพชราทิพย์ กลุ่มเย็บผ้าชุดประจำเผ่าบ้านจ่าโบ่ เล่าในฟังขณะนั่งเย็บเสื้อตัวใหม่ว่า แต่ดั้งเดิมชาวมูเซอดำมีวิถีชีวิตเป็นนายพราน ดังนั้นผ้าของผู้ชายกางเกงดำล้วน ของผู้หญิงสีดำมีแทบ เป็นงานเย็บด้วยมือแบบด้นถอยหลังถี่ๆ เวลาที่หมู่บ้านมีงานรื่นเริง ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลปีใหม่ เทศกาลกินข้าวใหม่ (ช่วงเดือนก.ย.) มีการเต้นรำ ผู้ชายมูเซอจะเชิญผู้หญิงที่ตัวเองสนใจออกมาเต้นรำ พร้อมถือโอกาสนี้แอบดูความละเอียดของเสื้อผ้า หากสาวคนไหนใส่เสื้อผ้ามีแถบเยอะๆ หมายความว่าเป็นคนขยัน ก็จะขอสาวคนนั้นแต่งงาน ในทางตรงข้ามผู้หญิงก็จะเลือกชายหนุ่มที่มือหยาบกร้าน เพราะหมายถึงเป็นคนทำมาหากิน กลับมาที่เรื่องเสื้อผ้าประจำเผ่า “แถบสี” ที่ปรากฏบนตัวเสื้อล้วนมีความหมายตามวิถี “แดง” แทนเลือดหมู “เหลือง” แทนชา กับเทียนขี้ผึ้ง “สีดำ” แทนหมูดำ หรือมูเซอดำ “สีน้ำเงิน” และ “สีขาว” แทนพืชผัก สีขาวแทนข้าวปุ๊ก นอกจากนี้ปีใหม่ทุกคนต้องใส่ชุดใหม่ ถ้าไม่ใส่เสื้อใหม่แถบสีไม่เยอะก็จะถูกชาวบ้านตำหนิว่าเป็นคนเกียจคร้าน

แม่ฮ่องสอนตะลอนดูหัตถวิถีชนเผ่า

         สาวน้อยสาวใหญ่เผ่าลัวะ ที่บ้านละอูบ จับกลุ่มปั่นฝ้ายทอผ้าและเย็บผ้า บนชานบ้าน

     ขณะที่ อ.แม่ลาน้อย ก็มีชนเผ่า “ลัวะ” หรือ “ละเวือะ” หรือ “ละว้า” อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากที่ บ้านห้วยห้อม นอกจากอาชีพหลักด้านการเกษตรกรรมปลูกข้าว ปลูกกาแฟ มะลิวัลย์ นักรบไพร ยังเปิดบ้านตัวเองเป็นร้านกาแฟควบคู่กิจการโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการร่วมกับกลุ่มกับสมาชิกอีก 50 คน จาก 72 ครัวเรือน จัดตั้ง “กลุ่มทอผ้าขนแกะ" ที่ได้มาจากการเลี้ยงแกะซึ่งได้รับพระราชทานพันธุ์จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เมื่อถึงหนึ่งปีก็จะตัดขนแกะจากนั้นจึงนำมาแปรรูปเป็นผ้าในลวดลายประจำของชนเผ่าแล้วแปรรูปเป็นผ้าพันคอ ผ้าปูโต๊ะ และตัดเป็นเสื้อสำหรับจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว ในอำเภอเดียวกันที่ บ้านละอูบ แม้จะมีจุดชมวิว 360 องศา “โมซัมเบียง” เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าสัมผัสความงดงามของธรรมชาติไม่ขาดสาย แต่ยังมีวิถีชีวิตอย่างการทำ “เครื่องเงิน” เป็นอีกหนึ่งแรงฉุดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเรียนรู้และช็อปติดไม้ติดมือกลับมาเป็นที่ระลึก

แม่ฮ่องสอนตะลอนดูหัตถวิถีชนเผ่า

ฟาร์มแกะห้วยห้อมในฤดูกาลเก็บเกี่ยวให้ความงดงามไปอีกแบบ

แม่ฮ่องสอนตะลอนดูหัตถวิถีชนเผ่า

มะลิวัลย์ นักรบไพร และลูกสาวขณะนั่งปั่นด้ายจากขนแกะ

      เรื่องนี้ ณรงค์ พิมพ์ใจประภา ประธานกลุ่ม เล่าว่า ชนเผ่าลัวะมีความผูกพันกับเครื่องเงินมากว่า 130 ปี โดยเฉพาะในด้านความเชื่อ “เงินพดด้วง” ยังต้องใช้คู่กับประเพณีการเกิด แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ แม้แต่ในพิธีศพยังต้องมีเงินพดด้วงฝังตามไปด้วย ด้านสังคมผู้หญิงเผ่าลัวะยังคงใช้เครื่องเงินเป็นเครื่องประดับเวลามีพิธีกรรมต่างๆ เพื่อบ่งบอกฐานะ ไม่ต่างจากฝ่ายผู้ชายหากจะดูว่าใครฐานะเป็นอย่างไรสามารถสังเกตได้จากมีดพกประจำตัว ถ้าใครฐานะดีด้ามมีดก็ต้องทำจากเครื่องเงินล้วนๆ

แม่ฮ่องสอนตะลอนดูหัตถวิถีชนเผ่า

“ผ้าตวน” หนึ่งในเรื่องราวความผูกพันของชาวลัวะกับผืนผ้า

     นอกจากนี้ที่บ้านละอูบ ยังมีเรื่องราวของ “ผ้าทอ” ที่น่าสนใจบนชานเรือนใต้ถุนสูง วรรณดา พรมเมือง และสมาชิกกลุ่มสตรีแปรรูปผ้าบ้านละอูบ ขณะกำลังขะมักเขม่นกับการทอเส้นฝ้ายให้เป็นผืนผ้าในมือ แต่ก็ช่วยถ่ายทอดเรื่องราวผ้าทอของชาวลัวะ หรือละว้า ว่าทุกคนตั้งแต่เกิดจนตายมีความผูกพันกับผ้า เพราะแต่ละคนต้องมีผ้าประจำตัว 2 ผืน ซึ่งคนเป็นแม่ต้องทอผ้าเตรียมไว้ให้ ผืนแรกเรียกว่า “ผ้าตวน” สำหรับใช้หนุนหัวตอนเกิดเชื่อว่าจะปกป้องจากผีร้าย ส่วนอีกผืนคือ “ผ้าลาเบย” ใช้คลุมร่างตอนเสียชีวิต

แม่ฮ่องสอนตะลอนดูหัตถวิถีชนเผ่า

ปลอกมีดทำจากเงิน เครื่องบ่งบอกฐานะผู้ชายเผ่าลัวะ

      นอกเหนือจากการเดินทางเข้าไปเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแล้ว การได้เรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับผ้าของชนเผ่าต่างๆ ยังช่วยต่อยอดความเข้าใจและเพิ่มความสนุกในเรื่องประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นมากยิ่งขึ้นอีกทาง...แม้ว่าจะทำให้กระเป๋าสตางค์เกือบฉีกไปบ้างเมื่อถูกตาต้องใจผ้าชนเผ่า แต่ก็ถือว่าคุ้มสุดๆ

เรื่อง-ภาพ...กอบแก้ว แผนสท้าน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ