Lifestyle

เกษตรกรยุคอนาคต 'เทคโนโลยี' ต้องมา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อีกไม่กี่ปีจากนี้ การเกษตรอัจฉริยะ จะสร้างผลกระทบมหาศาลให้กับเศรษฐกิจการเกษตร ปิดช่องว่างระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก

 

         ช่วงกลางปีที่ผ่านมา องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development : OECD) ได้จัดเวทีใหญ่ Global Forum on Agriculture 2018 “Digital technologies in food and agriculture: reaping the benefits” เพื่อสะท้อนความสำคัญของบทบาท “เทคโนโลยี” ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเกษตรกรรมซึ่งจะ “ไม่เหมือนเดิม” อีกต่อไป และเกษตรกรที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเข้าใจและเข้าถึง ก็จะหลุดพ้นกับดักความยากจนได้

 

เกษตรกรยุคอนาคต 'เทคโนโลยี' ต้องมา

 

          โดยประเด็นหนึ่งที่เน้นย้ำ ก็คือ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเทคโนโลยีระดับสูง หรือระดับต่ำ ก็ล้วนสามารถช่วยให้ใช้ประโยชน์จากแอพพลิเคชั่นด้านดิจิทัลได้ทั้งนั้น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในเชิงการเกษตร ครอบคลุมตั้งแต่ การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ใช้งาน แบ่งปันกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่การเกษตรซึ่งอยู่ห่างไกล มีอุปสรรคในการเชื่อมต่อ

          จากบริบทโลกยุคปัจจุบันที่การเชื่อมโยงถึงกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล โทรศัพท์มือถือขนาดเล็กลง ทำงานรวดเร็วขึ้น ราคาถูกลง และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ที่ผ่านมาเราจะเห็นภาพ “ธุรกิจ” ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่ปัจจุบันภาคการเกษตร ก็กำลังเกาะติดความได้เปรียบด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลใหม่ๆ มากรายขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ พวกเขาสามารถพยากรณ์ปริมาณน้ำในการเกษตร ปริมาณการใช้ปุ๋ย หรือวางแผนการจัดการพื้นที่และการเพาะปลูกได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการทำปศุสัตว์

 

+++เกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีที่ “ต้อง” จับตา

          สถาบันวิจัย BIS Research ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกสำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ ชื่อว่า Global Smart Farming Market คาดการณ์แนวโน้มตลาดการเกษตรอัจฉริยะว่าจะขยายตัวได้ถึง 23.14 พันล้านดอลลาร์สหร้ฐ ภายในปี ค.. 2022 สะท้อนสัญญาณที่สดใสด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่อยู่ในระดับสูงถึง 19.3% ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตนี้ มาจากความต้องการเพิ่มผลผลิตของเกษตรกร การเติบโตของการใช้เทคโนโลยีไอซีทีในการทำเกษตร และความต้องการที่สูงขึ้นสำหรับเทคโนโลยีการเกษตรที่ฉลาดต่อสภาพภูมิอากาศ (climate-smart agriculture)

 

เกษตรกรยุคอนาคต 'เทคโนโลยี' ต้องมา

 

          พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า อีกไม่กี่ปีจากนี้ การเกษตรอัจฉริยะ จะสร้างผลกระทบมหาศาลให้กับเศรษฐกิจการเกษตร ปิดช่องว่างระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ปรากฎการณ์นี้จะขยายวงทั้งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา

          ปัจจุบัน ประเทศจีนและญี่ปุ่น รุกหนักกับการใช้สมาร์ทโฟน และระบบ IoT มาเพิ่มความเก่งของโซลูชั่นการเกษตรแม่นยำ (precision agriculture) ขณะที่ รัฐบาลหลายประเทศ ก็ตระหนักถึงความจำเป็นและความได้เปรียบของเทคโนโลยีด้านนี้ ผลักดันโครงการนำร่องส่งเสริมเทคนิคในการพยากรณ์ที่แม่นยำสำหรับการเกษตร เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดในอนาคต

 

การเกษตรแม่นยำโตแรง

          ตัวเลขเมื่อปีที่ผ่านมา ระบุว่า โซลูชั่นระบบฮาร์ดแวร์ มีสัดส่วนมากกว่า 72% ของตลาดการเกษตรอัจฉริยะทั่วโลก แอพพลิเคชั่นด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตรที่แม่นยำ ได้รับความนิยมสูงมาก มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 31% ตัวอย่างแอพพลิเคชั่นด้านนี้ ได้แก่ การวิเคราะห์น้ำในดิน (precision irrigation), การคาดการณ์และตรวจวัดผลผลิต (yield monitoring and forecasting), การให้ปุ๋ย/ยาฆ่าแมลง (variable rate), การสอดส่องพืชผล (crop scouting) และการบันทึกและการจัดเก็บข้อมูล เป็นต้น

          อีกปัจจัยสนับสนุนการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งจะได้ผลยิ่งขึ้นถ้านำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ก็เนื่องมาจากการเติบโตของพื้นที่เมือง และความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผลผลิตทางการเกษตรที่สดใหม่ตลอดปี โดยไม่ถูกจำกัดกับฤดูกาลผลิตแบบวิถีเกษตรเดิมๆ เหล่านี้ทำให้เห็นการทำเกษตรในร่ม (indoor farming) มากขึ้น

          ทั้งนี้ ถ้ามองในภาพรวมทั่วโลก ภูมิภาคอเมริกาเหนือ ถือเป็นผู้นำตลาดเกษตรอัจฉริยะระดับโลก และมีความต้องการทางการตลาดสูงมาก ขณะที่ เม็กซิโก เป็นประเทศที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นตลาดที่เติบโตที่สุดในช่วง 5 ปีจากนี้

          สำหรับเอเชีย-แปซิฟิก ถูกยกให้เป็นตลาดที่มีอัตราเติบโตเร็วที่สุด ในช่วงปี ค.. 2017 – 2022 มีปัจจัยขับเคลื่อน ได้แก่ ขนาดประชากรเมืองเพิ่มขึ้น สัดส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตในการบริหารจัดการพื้นที่เกษตร และการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาล ที่สำคัญยังได้แรงหนุนจาก 2 ประเทศใหญ่ในภูมิภาคอย่าง จีน และอินเดีย ที่จะหนุนให้ขยับเป็นผู้นำด้านเกษตรอัจฉริยะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 

เกษตรกรยุคอนาคต 'เทคโนโลยี' ต้องมา

 

IoT-เซ็นเซอร์ พระเอกเกษตรยุคดิจิทัล

          เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) มีส่วนสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (disrupte) ให้กับอุตสาหกรรมการเกษตร “ในเชิงบวก” และยังครอบคลุมไปถึงอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีรายงานที่จัดทำโดย Cisco ประมาณการณ์ไว้ว่า มูลค่าตลาด IoT จะขยับขึ้นไปสูงถึง 14.4 ล้านล้านดอลลาร์สหร้ฐ ด้วยเทคโนโลยีนี้ จะทำให้เกิดปริมาณข้อมูลมหาศาลจากกระบวนการทำการเกษตรที่จัดเก็บผ่านอุปกรณ์เซ็นเซอร์จำนวนมหาศาลที่ติดตั้งใช้งานในพื้นที่การเกษตร

          ข้อมูลเหล่านี้ยังรวมถึงภาพถ่ายต่างๆ ที่ส่งตรงจากพื้นที่การเกษตรผ่านเซ็นเซอร์ ช่วยให้เกษตรกรสามารถเกาะติดพืชผลได้ทุกที่ ทุกเวลา ข้อมูลต่างๆ จากเซ็นเซอร์จะถึงมือเกษตรกรได้แบบเรียลไทม์ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาก็สามารถรับมือได้อย่างทันการณ์ ยกตัวอย่างเช่น ทำให้ทราบว่าเวลานี้ พืชผลที่ปลูกไว้ต้องการน้ำ หรือการบำรุงรักษาอื่นๆ

 

ดีแทค-ดีอี หนุนเกษตรกรเข้าถึงดิจิทัล

          นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ดีแทค มุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร เพื่อเสริมสร้างศักยภาพสังคมตามวิสัยทัศน์Empowering societies สอดคล้องกับโครงการนโยบายประชารัฐของรัฐบาล มุ่งพัฒนาสู่สังคมดิจิทัล โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำตามกรอบการพัฒนาของสหประชาชาติ ผ่าน2โครงการหลัก ได้แก่1.ดีแทคเน็ตอาสา โครงการที่ช่วยสนับสนุนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้รับประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนาต่อยอดสู่สังคมดิจิทัล 2. Dtac Smart Farmerโครงการที่ช่วยเกษตรกรได้เข้าถึงข้อมูลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

 

เกษตรกรยุคอนาคต 'เทคโนโลยี' ต้องมา

 

          ทั้งนี้ Dtac Smart Farmer เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนากลุ่มเกษตรกร ซึ่งมีสัดส่วนประชากรถึง33%ของประชากรไทย แต่กลับสร้างรายได้ให้ประเทศเพียง10%ของจีดีพี สะท้อนถึงผลิตภาพที่ต่ำในภาคการเกษตร ทำให้ดีแทคและพันธมิตรร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมอย่างบริการ “ฟาร์มแม่นยำ” ซึ่งเป็นการส่งตรงเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างดาวเทียมและบิ๊กดาต้าสู่มือเกษตรกร สามารถเข้าถึงข้อมูลระดับรายแปลง ทำให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้โซลูชัน “ฟาร์มแม่นยำ” เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง หรือIoTเพื่อการเกษตรที่แม่นยำขึ้น โดยเฉพาะพืชในโรงเรือน

          ท่ามกลางความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเกษตร ทั้งสภาพภูมิอากาศ ภาวะผลิตภาพตกต่ำ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้เทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามามีบทบาทในภาคการเกษตรมากขึ้น และนี่ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการเปลี่ยนสู่การทำการเกษตรอย่างยั่งยืน” นางอเล็กซานดรากล่าว

 

เกษตรกรยุคอนาคต 'เทคโนโลยี' ต้องมา

 

          และเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการเสริมสร้างศักยภาพสังคมสู่การเป็นชุมชนดิจิทัล อันเป็นโมเดลในการเปลี่ยนฐานรากองเศรษฐกิจสู่ยุคดิจิทัล(Digital economy) ระหว่างวันที่ 21-23 ธันวาคมนี้ ได้มีการจัดงาน “ดีมาGetดีMarket” ซึ่งรวบรวมร้านค้าออนไลน์ต้นแบบจากทั่วประเทศจำนวนกว่า40ราย มาออกบูธ ณ ลานกิจกรรม สยามสแควร์วัน เพื่อเป็นโอกาใสให้บุคคลที่สนใจเรียนรู้ พัฒนาและต่อยอด ขยายโมเดลชุมชนดิจิทัลไปยังทั่วประเทศ

          ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึง บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมเศรษฐกิจผู้ประกอบการในชุมชนท้องถิ่น อีกทั้งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยกระทรวงฯ รับหน้าที่สนับสนุนการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสู่ทุกตำบลทั่วไทย

          นับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระยะเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากและเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับชุมชน และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขยายตลาดชุมชนสู่ตลาดเมือง สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งเน้นสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

          ในงานดังกล่าว ทั้ง กระทรวงฯ ภายใต้ความร่วมมือโครงการนี้ ยังได้คัดเลือกสินค้าชุมชนออนไลน์เพื่อรับรางวัลสุดยอดสินค้าชุมชนออนไลน์ระดับประเทศ และในงานยังมี Smart Farmer ระดับประเทศ ราย(จาก 40 เกษตรต้นแบบที่ทำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้และประสบความสำเร็จมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ด้วย

////

จากคอลัมน์ อินโนสเปซ โดย บัซซี่บล็อค  หนังสือพิมพ์คมชัดลึกฉบับวันที่ 22-23 ธ.ค.2561

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ