
7 อาชีพอนาคตไกล "ไม่ตกงาน"
ไม่ว่าเทคโนโลยีจะ "ล้ำ" ไปไกลแค่ไหน แต่ยังมีบางสาขา "อาชีพ" ที่มีแต่มนุษย์เท่านั้น จึงจะสามารถทำได้ดีและเป็นที่ต้องการมากกว่าหุ่นยนต์หรือเอไอ
ในยุคที่เทคโนโลยีเริ่มมีอำนาจเหนือชีวิตมนุษย์และธุรกิจมากขึ้น ตามความสามารถและความชาญฉลาดที่พัฒนาได้อย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งเห็นชัดเจนในบางเทคโนโลยีอย่างเข่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Artificial Intelligence) และหุ่นยนต์ (Robotics) จนเกิดกระแสความหวาดวิตกว่าจะเป็นภัยคุกคามที่ทำให้หลายอาชีพต้องตกงาน
อย่างไรก็ตาม ขอบอกว่าอย่าเพิ่งกังวลกันมากเกินไป เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะ “ล้ำ” ไปไกลแค่ไหน แต่ยังมีบางสาขา “อาชีพ” ที่มีแต่มนุษย์เท่านั้น จึงจะสามารถทำได้ดีและเป็นที่ต้องการมากกว่าหุ่นยนต์หรือเอไอ โดยเว็บไซต์ www.salary.com ได้จัดอันดับ 7 อาชีพที่ “มีอนาคต” ไม่ว่าโลกใบนี้จะถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยีรุนแรงแค่ไหนก็ตาม
สาขาการดูแลสุขภาพ
ในหลายประเทศกำลังเผชิญปรากฎการณ์หนึ่งร่วมกันคือ การเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” เทคโนโลยีด้านการแพทย์ดีขึ้น คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น คนมีความรู้เรื่องการดูแลตัวเองมากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้ประชากรโลกมีแนวโน้มอายุยืนยาวขึ้น แต่เป็นธรรมดาของโลกเช่นกันที่ว่ายิ่งสูงวัยขึ้นเท่าไร สังขารย่อมเสื่อมลงเป็นธรรมดา โรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเยือนโดยง่าย ดังนั้นอาชีพที่จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นตามไปด้วยก็คือ อาชีพในสาขาที่เกี่ยวกับสุขภาพ ตั้งแต่ระดับบุคลากรทางการแพทย์อย่างหมอ พยาบาล นักกายภาพบำบัด ครอบคลุมไปถึงการให้บริการช่วยเหลือผู้ป่วยตามบ้าน และเภสัชกร
สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ
ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาล้ำหน้ามากเท่าไร ความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านไอที หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ก็เพิ่มตามไปด้วย หรืออาจกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ สร้างให้เกิดอาชีพใหม่ๆ โดยเฉพาะแรงขับเคลื่อนจากความแพร่หลายของการใช้งานคอมพิวเตอร์และมือถือสมาร์ทโฟน สำหรับการทำงาน ทำธุรกิจ และการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ดังนั้นแน่ใจได้ว่าอาชีพโปรแ กรมเมอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูล และผู้ดูแลระบบไอที (Admin) จะยังมี “ช่องว่าง” ในตลาดแรงงานรอรับเสมอ
แต่ทั้งนี้ ตลาดแรงงานไอทีในยุคใหม่ก็จำเป็นต้องมีทักษะที่สูงขึ้นเพื่อให้ตามทัน หรือรู้ทันแนวโน้มการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย ได้แก่ ทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูล โดยเฉพาะในยุคที่ “ข้อมูล (Data)” กลายเป็นสินทรัพย์ทางธุรกิจที่มีมูลค่าสูง (ถ้าใช้เป็น) ความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการคิดแก้ปัญหา เป็นต้น
สาขาพลังงานทางเลือก
แม้โลกใบนี้ยังบริโภคน้ำมันและก๊าซเป็นพลังงานหลัก แต่พลังงานที่ผลิตได้จากแหล่งทางเลือกอื่นๆ ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานจากความร้อนใต้พิภพ (geothermal power) และพลังงานแสงอาทิตย์ เหล่านี้กำลัง “เปิดโอกาส” ให้กับตำแหน่งงานอีกมากมาย ตั้งแต่ระดับคนดูแลเครื่องจักร ผู้จัดการโรงไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือก วิศวกร และพนักงานการตลาดและขาย
กฎหมายระหว่างประเทศ
การขยายตัวของธุรกิจและการค้าที่ไม่จำกัดอยู่แค่ภายในประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป ทำให้องค์กรต่างๆ มองหา “บุคลากร” ที่มีการศึกษา มีประสบการณ์ และมีทักษะครบเครื่องเรื่องการเจรจาต่อรองในด้านข้อกฎหมายระหว่างประเทศ ภาษี กฎระเบียบในการทำงาน และกฎระเบียบสิ่งแวดล้อมของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และชื่อสาขาอาชีพนี้ก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ข้อที่ห้ามลืมก็คือ คนที่จะ “รุ่ง” ในอาชีพนี้นอกจากความเก่งกาจด้านข้อกฎหมายแล้ว ยังต้องมีทักษะการสื่อสารภาษาที่ 2 และอาจรวมไปถึงภาษาที่ 3, 4 ,5 อีกด้วย เรียกได้ว่ายิ่งเก่งหลายภาษา ยิ่งมีแต่คนแย่งซื้อตัวไปร่วมงาน
สาขาการสร้างสรรค์คอนเทนท์
ปัจจุบันนี้เป็นยุคของการทำตลาดบ้านพื้นฐานของความรู้ มากกว่าแค่การขายให้จบๆ ไป ดังนั้น “มือเขียน” จึงเป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง เพื่อสื่อสารสิ่งที่บริษัทเจ้าของสินค้าหรือบริการต้องการจะบอกกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย หรือว่าที่ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิผล ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ บล็อก จดหมายข่าว บทความบนเว็บไซต์ สมุดปกขาว และรายงานพิเศษ เป็นต้น ที่สำคัญนักสร้างสรรค์คอนเทนท์ ควรต้องมีความรู้เฉพาะทางเกี่ยวกับประเภทสินค้า/บริการที่ต้องการนำเสนอด้วย
สาขาการตลาด
การแข่งขันในโลกธุรกิจการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามปริมาณการค้าโลก องค์กรธุรกิจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อหาวิธีการทางการตลาดใหม่ๆ สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ดังนั้น อาขีพนักการตลาด จึงยังเป็นที่ต้องการอยู่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ทั้งนี้นักการตลาดที่จะมี “ที่ยืน” อย่างมั่นคงในโลกการค้ายุคใหม่ ต้องเป็นคนที่เกาะติดกับแนวโน้มและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างทันการณ์ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ออกมารับมือได้อย่างทันท่วงที และชิงความได้เปรียบในสนามแข่งขัน
สาขานักวิเคราะห์การเงิน
สภาพเศรษฐกิจที่ “คาดเดา” ได้ยากขึ้นทุกที อนาคตทางการเงินของแทบทุกประเทศบนโลกใบนี้ที่ “คำพยากรณ์” เริ่มลดความแม่นยำลงเรื่อยๆ ปรากฎการณ์เหล่านี้เรียกร้องคำแนะนำและการวางแผนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ อาชีพนักวิเคราะห์และนักวางแผนด้านการเงิน จึงทวีความสำคัญยิ่งขึ้น แน่นอนว่านี่เป็นอาชีพมาแรง เงินดี แต่ก็ต้องตระหนักด้วยว่าคุณพร้อมแบกรับความเครียดแค่ไหน
กำลังคนยุคดิจิทัลแบบไหน ที่ประเทศไทยต้องการ
เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัท โรเบิร์ต วอลเตอร์ หนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาด้านการสรรหาบุคลากรระดับมืออาชีพชั้นนำของโลก ได้เปิดเผยข้อมูล “ผลการสำรวจเงินเดือน ประจำปี 2019 คาดการณ์ทักษะแรงงานดิจิทัลที่ประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความต้องการ” พบว่า จากผลกระทบของการเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่ทำให้ภูมิภาคนี้มีบทบาทสำคัญในโลกธุรกิจยุคดิจิทัล ส่งผลให้มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านไอทีจำนวนมาก โดยเฉพาะในสาขาที่กำลังเติบโต ได้แก่ เอไอ, บิ๊กดาต้า และไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ขณะที่อีกสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการไม่แพ้กันคือ ด้านเทคโนโลยีและการทำอี-คอมเมิร์ซ
เมื่อเจาะลึกข้อมูลการสำรวจในส่วนของประเทศไทย พบว่า แนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ก็ส่งแรงกระเพื่อมถึงประเทศไทยเช่นกัน โดยเฉพาะความต้องการจ้างงาน “คนไทย” ที่มีประสบการณ์และทักษะในระดับ “สากล” ทั้งด้านภาษาและความรู้ด้านเทคโนโลยี เพราะปี 2019 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนธุรกิจสู่รูปแบบดิจิทัล ซึ่งขับเคลื่อนการทำธุรกิจให้ก้าวเข้าสู่ยุคโลกการค้าแบบไร้พรมแดนอย่างแท้จริง
สำหรับไฮไลท์ผลสำรวจเงินเดือนประเทศไทยปี 2019 มีข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ ความต้องการธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น จากปัจจัยที่ประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น และความมีชื่อเสียงของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางด้านการแพทย์ระดับภูมมิภาค, ความต้องการมืออาชีพที่สามารถบูรณาการเทคโนโลยีมาแรงแห่งยุคอย่าง บิ๊กดาต้า, บล็อกเชน และเอไอเข้าด้วยกัน เพื่อกำหนดเป็นกรอบการทำงานในการพัฒนาธุรกิจให้กับองค์กรได้, บุคลากรที่มีทักษะครบเครื่องสำหรับการทำงานในยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมต่อผ่านมือถือ (Mobile-first) จะเป็นที่ต้องการและมีอำนาจต่อรองเรื่องเงินเดือนสูง โดยเฉพาะถ้าสามารถตกผลึกเป็นกลยุทธ์ที่ผสานทักษะด้านไอทีและความเข้าใจทางธุรกิจเข้าด้วยกัน
องค์กรธุรกิจในประเทศไทยมีความต้องการนักวิเคราะห์และนักวางแผนด้านการเงิน คลอดจนคู่ค้าทางธุรกิจสูงขึ้น เพื่อให้สอดรับกับการลดกระบวนการทำงาน และการปรับเข้าสู่รูปแบบการทำงานอัตโนมัติเพิ่มขึ้น, ความต้องการผู้บริหารที่มีมาตรฐานสูงในอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญของไทย และมีบทบาทการบริหารจัดการโครงการที่ใช้เทคโนโลยี เช่น อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง หรือไอโอที (Internet of Things), แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซกระตุ้นให้ประเทศไทยมีความต้องการนักการตลาดที่มีทักษะด้านดิจิทัล และมีวิสาหกิจในรูปแบบบีทูบี (Business to Business) มากขึ้น ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค
ธุรกิจค้าปลีกต้องการมืออาชีพที่มีทักษะด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดสินค้าแบรนด์หรูก็ยังไม่เสื่อมมนตร์ ทำให้พนักงานขายในกลุ่มนี้ยังเป็นที่ต้องการอยู่, บางสาขาอาชีพอาจมีแนวโน้มการปรับเงินเดือนเพิ่มสูงขึ้นถึง 40% โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่เกี่ยวกับการจัดซื้อ (procurement ) และห่วงโซ่อุปทานเฉพาะด้าน
ผลการสำรวจฉบับนี้ ยังระบุถึงปัจจัย 4 ข้อหลัก ที่กำหนดความพึงพอใจในการทำงานในปี 2019 ได้แก่ ความสมดุลในชีวิตและการทำงาน ค่าตอบแทน ผลตอบรับ และการสนับสนุนจากผู้บริหาร ตลอดจนการฝึกอบรม และการได้รับโอกาส ขณะที่ แรงจูงใจข้อสำคัญสุดในการเปลี่ยนงาน ก็คือ ความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ทั้งการปรับเพิ่มเงินเดือน/สวัสดิการที่ดีขึ้น รวมไปถึงความสมดุลในชีวิตการทำงานที่ดีกว่าเดิม
/////////////
จากคอลัมน์ อินโนสเปซ โดย บัซซี่บล็อค หนังสือพิมพ์คมชัดลึกฉบับวันที่ 8-9 ธันวาคม 2561