สมาร์ท ไฮเวย์ เทคโนโลยีขับเคลื่อนการจราจรรับเมืองอัจฉริยะ
ASEAN Digital Minister Retreat Meeting โดยจะจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ในช่วงเดือนเมษายน ปีหน้า มีประเด็นเร่งด่วน 6 ด้าน หนึ่งในนั้นก็คือ หัวข้อ "เมืองอัจฉริยะ"
ในยุคที่ประเทศทั่วโลก “ตื่นตัว” เรื่องการสร้างเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ท ซิตี้ โดยในส่วนของภูมิภาคอาเซียน ก็ได้มีการจัดตั้งเครือข่ายสมาร์ทซิตี้อาเซียน 26 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้ 3 แห่งเป็นจังหวัดในประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี และภูเก็ต เป็นความสืบเนื่องจากการเห็นพ้องของประเทศอาเซียนเมื่อการประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งที่ 32 ที่ประเทศสิงคโปร์ และในปี 2562 ที่ประเทศไทยจะขึ้นรับตำแหน่งประธานอาเซียน ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม
ASEAN Digital Minister Retreat Meeting โดยจะจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ในช่วงเดือนเมษายน ปีหน้า เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนดิจิทัลของอาเซียนในระดับชุดโครงการ (action programs) มีประเด็นเร่งด่วน 6 ด้าน หนึ่งในนั้นก็คือ หัวข้อ “เมืองอัจฉริยะ” หรือสมาร์ท ซิตี้
แนวโน้มดังกล่าว เป็นหนึ่งในปัจจัยหนุนการเติบโตให้กับตลาด Smart Highway ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการระบบการจราจร การเดินทางและเส้นทางถนนสายต่าง รวมถึงทางด่วนให้ “ชาญฉลาด” ยิ่งขึ้น ให้ข้อมูลที่สามารถใช้ในการบริหารจัดการเส้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดระยะเวลาเดินทาง ลดการใช้พลังงาน และลดมลภาวะทางอากาศ โดยมีข้อมูลจาก Mordor Intelligence คาดการณ์ว่าตลาดนี้จะขยายตัวจากมูลค่า 19.89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2560 เป็น 54.11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี 18.15%
ข้อมูลฉบับดังกล่าว ระบุอีกว่า โครงการโครงสร้างพื้นฐานของเส้นทางหลวงสายใหม่ๆ จะมองถึงการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น บางประเทศอย่างเช่น อินเดีย เมื่อปีที่ผ่านมามีโครงการลักษณะนี้ที่เกิดจากความร่วมมือในรูปแบบรัฐ-เอกชน (PPP) มากถึง 783 โครงการที่เกี่ยวกับการสร้างสะพานและถนน ด้วยตัวเลขการลงทุนโดยรวมประมาณ 74.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประเทศมหาอำนาจอย่าง อเมริกา ก็โหมการลงทุนด้านนี้เช่นกัน คาดหมายว่าจะมีตัวเลขเพิ่มจาก 91 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2559 เป็นมากกว่า 99.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563
+++ระบบการจัดการจราจรอัจฉริยะ “มาแน่”
และเมื่อ Smart Highway มา ที่ต้องเกิดขึ้นคู่ขนานกันไปก็คือ ระบบจราจรอัจฉริยะ (Smart Traffic) นั่นเอง เพราะไม่ว่าถนนหนทางจะเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน แต่ปริมาณการจราจรและความแออัดบนท้องถนน ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นในอัตรารวดเร็วกว่า โดยเฉพาะในแทบทุกเมืองใหญ่ทั่วโลกต่างก็กุมขมับกับปัญหานี้ไม่ต่างกัน ดังนั้น ถนนสายใหม่ๆ (หรืออาจรวมถึงสายเก่า) ต่างก็หันมามองถึงการติดตั้งระบบบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะมากขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีนี้เป็นการผสานการใช้ประโยชน์จากระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลกด้วยอุปกรณ์จีพีเอส หรือดาวเทียม (GNSS/GPS) กับเทคโนโลยีใหม่ต่างๆ
เมื่อช่วงไตรมาสแรกปี 2560 ซิสโก้ หนึ่งในบริษัทด้านไอทีและระบบเครือข่ายชั้นนำของโลก ได้ทำงานร่วมกับ Davra Networks ทำการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์และแหล่งข้อมูลต่างๆ แบบเรียลไทม์ เพื่อปรับปรุงความสะดวกในการเดินทาง หรือใช้บริการขนส่งสาธารณะ (mobility) และความปลอดภัย, ลดความแออัดของปริมาณการจราจร ตลอดจนปรับปรุงการบริหารจัดการการจราจรในเมืองสวินดัน (Swindon) ทางตอนใต้ของอังกฤษ เป็นการทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบริษัทไอทีรายใหญ่หลายราย โดยมีการปรับปรุงระบบจัดการการจราจรบนเส้นทางสายหลักๆ ของเมือง เพื่อสามารถให้ข้อมูลเรียลไทม์กับชาวเมืองนี้ และอัพเดทเส้นทางที่รวดเร็วกว่าให้ผู้ใช้ถนนสามารถหลบเลี่ยงการจราจรติดขัดได้ ผลลัพธ์ที่ได้คือ เพิ่มการใช้ถนนอย่างปลอดภัยได้มากขึ้น
+++อาลีบาบาชี้เทคโนโลยีเอไอช่วยพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
เมื่อไม่นานนี้มีผลการศึกษาจัดทำโดยบริษัท อาลีบาบา คลาวด์ ซึ่งเป็นหนีงในธุรกิจของกลุ่มอาลีบาบา ยักษ์อี-คอมเมิร์ซ เบอร์ 1 ของโลก พูดถึง 5 แนวโน้มหลักด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Artificial Intelligence) โดยหนึ่งใน “แนวโน้ม” ที่ถูกระบุถึง ก็คือ การพัฒนาของเมืองอัจฉริยะ เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาความต้องการด้านต่างๆ ของประชากร โดยเฉพาะคนเมือง เช่น น้ำ ไฟฟ้า การขนส่งที่สะดวกรวดเร็ว และอากาศปลอดมลพิษ ซึ่งถือเป็นความท้าทายของหน่วยงานรัฐด้านการปกครองของหลายประเทศ โดยเฉพาะยังต้องคำนึงถึงทรัพยากรที่มีจำกัด เทคโนโลยีที่จะช่วยปลดล็อคปัญหาเหล่านี้ ก็คือ เอไอ, บิ๊กดาต้า และไอโอที (IoT)
ผลการศึกษานี้ยังระบุว่า เมืองใหญ่ทั่วโลกกำลังเติบโตขึ้นๆ ในอัตราที่ส่งสัญญาณอันตราย โดยอ้างอิงข้อมูลคาดการณ์ของสหประชาชาติว่า ภายในปี 2593 ประชากร 3 ใน 4 ของโลก จะเข้ามาอยู่ในเมือง โดยภูมิภาคของโลกที่น่าเป็นห่วง ก็คือ เอเชีย และแอฟริกา ซึ่งจะเห็นปรากฎการณ์นี้ชัดเจนในช่วงทศวรรษหน้า
นอกจากนี้ ปัญหาที่ส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันซึ่งประชากรตามเมืองใหญ่ๆ ต้องเจอแน่นอน ก็คือ การจราจรแออัด จากดัชนีการวัดการจราจรตามเมืองต่างๆ ทั่วโลกของ TomTom Index บ่งชี้ว่า 6 ใน 10 เมืองใหญ่สุดของโลก ที่ต้องเผชิญกับปริมาณการจราจรมากขึ้นเรื่อยๆ ล้วนเป็นประเทศในเอเชีย อีกทั้งยังมีแรงเหวี่ยงจากธรรมชาติสที่ทำให้ปัญหาย่ำแย่ลงไปอีก ได้แก่ ฝนตกหนักในหน้ามรสุมที่ทำให้เกิดน้ำท่วม เป็นต้น
ปัญหาการจราจรติดขัด และการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน กลายเป็นความท้าทายที่ซับซ้อนสำหรับผู้บริหารและนักวางผังเมือง การบำรุงรักษาประจำวันของโครงสร้างพื้นฐานการจราจรขนาดใหญ่ของการขนส่งมวลชน (Mass Infrastructure) ครอบคลุมถึง รถโดยสาร รถไฟ สัญญาณไฟจราจร ป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ บนถนน/เส้นทาง เป็นต้น อีกปัญหาที่ผู้บริหารจัดการเส้นทางจราจรต้องรับมือ ก็คือ การช่วยให้พนักงานสามารถรับมือกับการให้บริการสาธารณะที่หลากหลายตอบโจทย์ผู้ใช้ถนน การแก้ปัญหา/ตอบสนองอย่างเร่งด่วน และการบังคับใช้กฎหมายในบางประเด็นใหญ่ๆ
+++ดอนเมืองโทลเวย์ใช้เอไอช่วยจัดการจราจร
ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย รองกรรมการผู้จัดการ บมจ. ทางยกระดับดอนเมือง บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานและให้บริการทางยกระดับที่รู้จักกันในชื่อ “ดอนเมืองโทลเวย์” เส้นทาง 21.9 กิโลเมตร กล่าวว่า บริษัทได้ใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อพัฒนาปรับปรุงระบบบริหารจัดการจราจร ภายใต้ชื่อโครงการ Smart Project ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (ปี 2561-2563) โดยเป็นระบบบริหารการจราจรที่ทันสมัยอัตโนมัติ
“โครงการนี้มีปรัชญาในการดำเนินการ โดยคำว่าSmartย่อมาจากSafety - ความปลอดภัย, Manageble– สามารถบริหารจัดการได้, Accurate –ข้อมูลที่ได้จากระบบอัจฉริยะต้องมีความถูกต้อง, Reliableเชื่อถือได้ ทันเวลา ตรงเวลา ส่วนตัวอักษร Tเป็นkeywordคือTraffic Control System.เนื่องจากว่าเราบริหารจัดการทางด่วน และเราดำเนินการมา 30ปีแล้ว ซึ่งระยะเวลาดังกล่าว ระบบทาง ระบบเทคโนโลยีต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปและทันสมัยมากขึ้น ทางบริษัทจึงมีแผนใช้ระบบบริหารจัดการที่ตรงกับวัตถุประสงค์การดำเนินงาน จึงใช้ทั้ง 5 คำนี้ในปรัชญาเข้ามาทำงาน”
ในโครงการ Smart Projectเป็นการติดตั้งระบบอัตโนมัติ ทั้งที่เป็นกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) และกล้องอัจฉริยะ ที่มีทั้งตัวกล้องซีซีทีวี และระบบซอฟต์แวร์ที่เป็นเอไอ (Artificial Intelligence) เพื่อช่วยในการบริหารจัดการจราจร โดยยกตัวอย่างความชาญฉลาด เช่น เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือรถจอดบนทาง หรือของตกหล่น ปกติจะใช้กล้องซีซีทีวีดู เมื่อทางมีเยอะขึ้น กล้องมีเยอะขึ้น และต้องใช้คนบริหารจัดการตลอด24 ชัวโมงทุกวัน ก็ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการตรวจสอบ กว่าจะเจอของที่ตกหล่น แต่ถ้าเป็นกล้องที่ติดตั้งเอไอ ใช้เวลาเพียง3-5วินาที ดังนั้นถ้ารถจอด รถเสีย เพียงแค่3-10วินาที ก็สามารถหาจุดพบและส่งเจ้าหน้าที่ไปประสานงานช่วยเหลือได้เร็วขึ้น อีกส่วนหนึ่งในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ระบบนี้จะช่วยdetectได้อย่างอัตโนมัติ
“ถามว่าช่วยใครได้บ้าง ช่วยลูกค้า2ส่วน ส่วนแรกคือ ประชาชนผู้ใช้บริการ อันนี้ผลโดยตรงเลย คือเมื่อเกิดอุบัติเหตุบนทาง หรือรถเสียบนทาง เราก็จะเข้าช่วยเหลือได้เร็วขึ้น ลูกค้าอีกส่วนก็จะเป็นลูกค้าภายในของเรา ซึ่งก็คือพนักงานของเรา จะทำงานได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากมีระบบอุปกรณ์ที่ทันสมัยมากขึ้น”
ความคืบหน้าการดำเนินงาน ปีนี้ติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานและระบบงานหลังบ้าน, ปี 2562ติดตั้งกล้อง เอไอ และป้ายอัจฉริยะ ซึ่งจะมีบอกระยะเวลาในการเดินทางถึงจุดหมายปลายทาง ใช้ข้อมูลของตัวระบบเอไอ ที่จะประมวลผลที่ศูนย์ควบคุม ส่งผ่านเครือข่ายการสื่อสาน (Comunicaiton Network) ที่เป็นไฟเบอร์ออปติกไปตามจุดต่างๆ ตามแผนติดตั้ง 5-10 จุด
และปี 2563 จะเริ่มใช้งานและทดสอบความถูกต้อง จำนวนกล้อง ความถี่จะใกล้เคียงกับญี่ปุ่นคือติดตั้งทุกระยะ 300-500เมตรทั้งไปและกลับ จากปัจจุบันทุกระยะ1กิโลเมตร ตามมาตรฐานของทางด่วน มีระบบdetectอัตโนมัติและแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่พนักงานโดยตรง เร็วขึ้น ลดระยะเวลา 5-10นาที เป็นการmonitor สถานะแบบเรียลไทม์ โดยระบบจะเป็นแบบอัตโนมัติผนวกกับเอไอ ทั้งนี้ จะไม่มีการลดคน แต่จะใช้ทักษะของคนในการดำเนินการช่วยเหลือ ส่วนการจัดการก็ให้ระบบคอมพิวเตอร์จัดการ
ผู้บริหารดอนเมืองโทลเวย์ สรุปทิ้งท้ายว่า “ความคาดหวังต่อการใช้ระบบนี้คือ ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร บริหารจัดการให้การจราจรมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้โนว์ฮาวที่มีอยู่ในด้านระบบริหารจัดการ ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า ออกแบบระบบอัจฉริยะให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการของเรา”