Lifestyle

ภาวะคลอดยากในสุนัขและแมว!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง โดย - น.สพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญหรือหมอเล็ก  [email protected] ​

 

         เมื่อสุนัขและแมวตั้งท้องเจ้าของหลาย ๆ คนก็เริ่มจะมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างขบวนการคลอด เพราะสุนัขบางตัวอาจจะไม่สามารถคลอดลูกเองได้ตามธรรมชาติ แถมยังมีโอกาสความเสี่ยงต่อชีวิตของแม่และลูกสุนัขในท้องอีกด้วย ดังนั้นในฉบับนี้เราจะมาดูภาวะหนึ่งที่สามารถพบได้เมื่อสุนัขเข้าสู่ขบวนการคลอดแล้ว นั้นก็คือ “ภาวะการคลอดยาก”

 

     ภาวะคลอดยาก สามารถพบได้ในสุนัขและแมวทุกสายพันธ์ แต่โอกาสเกิดขึ้นมากกับสุนัขพันธ์เล็ก เช่นพันธุ์ ชิวาวา ปอมเมอริเนียน ปั๊ก เป็นต้น เนื่องจากการตั้งท้องแต่ละครั้งมักจะให้จำนวนลูกต่อคอกไม่มากนัก ส่งผลให้ลูกนั้นมีขนาดตัวที่ใหญ่ อีกทั้งนิสัยของสุนัขพันธุ์เล็กมักจะขี้กลัว ตื่นตะหนก และกระสับกระส่ายเวลาใกล้คลอด ทำให้ไม่ยอมเบ่งคลอด ส่วนในสุนัขพันธ์ใหญ่ก็สามารถพบได้เช่นกัน เนื่องจากการที่มีลูกจำนวนมาก ทำให้มดลูกมีความล้าจากการเบ่งคลอดเป็นเวลานาน

         ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการคลอดยากแบ่งเป็นปัจจัยจากตัวแม่ เช่น ช่องเชิงกรานเล็กแคบ เคยมีการแตกหักมีประวัติการถูกรถชน รถทับ หรือเป็นการตั้งท้องท้องแรก ปัจจัยด้านพันธุกรรม รวมถึงเกิดภาวะมดลูกล้า เป็นต้น ส่วนอีกปัจจัยมาจากตัวลูก เช่น ลูกมีขนาดตัวที่ใหญ่ มีการจัดตัวผิดท่า ท่าไม่เหมาะสมกับการคลอด เป็นต้น

  คราวนี้มาดูวิธีการสังเกตุกันนะครับว่าแม่สุนัขตัวดังกล่าว จะมีภาวะคลอดลูกยากหรือไม่

     โดยดูได้จากหลาย ๆ อย่าง ยกตัวอย่างเช่น ระยะเวลาในการตั้งท้อง ซึ่งโดยปกติแล้วนั้นสุนัขจะตั้งท้องราว 2 เดือน หรือ 60 วัน นับจากวันที่ได้รับการผสม การมีน้ำเมือก หรือสารคัดหลั่งสีเขียว สีแดง น้ำตาล ไหลออกจากช่องคลอด แม้กระทั้งกรณที่พบถุงน้ำคร่ำแตก และแม่สุนัขไม่สามารถคลอดลูกตัวแรกได้ภายใน 1-2 ชั่วโมงนับจากมีอาการเบ่ง หรือคลอดลูกตัวแรกแล้วภายใน 2 ชั่วโมงไม่สามารถคลอดลูกตัวต่อมาได้ เหล่านี้ล้วนแสดงให้รู้ถึงว่าแม่สุนัขเข้าข่ายของการเกิด “ภาวะคลอดยาก”ทั้งสิ้น 

    หากเกิดอาการเหล่านี้อาจต้องมาตรวจเพิ่มเติมในด้าน รังสีวินิจฉัย โดยการ x-ray และ อุลตร้าซาวด์ ถ้าเป็นไปได้หมออยากให้ตรวจทั้งสองอย่างเพราะการ x-ray หมอจะทราบถึงท่าการคลอดว่าเป็นอย่างไร ส่วนการตรวจทางอุลตร้าซาวด์จะช่วยในการวินิจฉัยว่าลูกยังมีการเต้นของหัวใจหรือไม่ ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าลูกยังมีชีวิตหรือไม่เพื่อนำผลวินิจฉัยมาประเมินว่าจะวางแผนแก้ไขด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อไป รวมถึงการตรวจสอบระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งท้องในการช่วยประเมิน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดการสูญเสียทั้งแม่และลูกได้เช่นภาวะมดลูกแตก หรือการที่แม่เกิดภาวะมดลูกล้าไม่มีแรงเบ่งคลอด

   

   การแก้ไขและการป้องกันภาวะคลอดยาก การแก้ไขมีสองแนวทางคือการใช้แนวทางอายุรกรรม โดยการใช้ยาหรือฮอร์โมนในการช่วยให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวดีขึ้น อีกวิธีคือการผ่าตัดเพื่อนำลูกออก หมอขอแทรกวิธีการในการจัดการภาวะคลอดยากในสัตว์ขนาดใหญ่อีกวิธีคือการจัดท่าคลอดให้ลูกอยู่ในท่าปกติก็สามารถทำได้แต่ยังไงหมอก็ไม่แนะนำให้ทำการช่วยคลอดในภาวะคลอดยากด้วยตัวเองนะครับ

       การป้องกันคือการเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกแม่พันธุ์ที่ไม่มีประวัติคลอดยาก ไม่เคยมีโรคทางระบบสืบพันธุ์เช่นมดลูกอักเสบ เป็นต้น รวมถึงการใช้ยาหรือสารเคมีที่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์เป็นต้น ในส่วนของพ่อพันธุ์ ไม่ควรมีขนาดใหญ่กว่าแม่พันธุ์มากเกินไปเพราะเป็นปัจจัยที่ลูกมีขนาดใหญ่กว่าขนาดเชิงกรานของแม่ รวมถึงการมีเชื้อแท้งติดต่อ หรือโรคอื่นๆด้วย

ดังนั้นเมื่อเราเตรียมสุนัขที่ได้รับการผสมควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายและเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอดลูกต่อไป รวมถึงการปรึกษานัดหมายหาสัตวแพทย์ล่วงหน้าในกรณีที่อาจต้องมีการช่วยคลอดหรือผ่าตัดทำคลอดนะครับ!

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ