นายสุชาติ อิ่มบัญชร ซีอีโอ บริษัท บีทามส์ โซลูชั่นส์ จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำซีเอสอาร์ของบริษัทตามแนวคิดที่ต้องการ “สร้างโอกาสให้กับคนชายขอบ” โดยเข้ามาสนับสนุนการพัฒนา ออกแบบ และติดตั้งแอพพลิเคชั่น Internal Control System (CIS) หรือการตรวจรับรองมาตรฐานภายในแบบครบวงจร รวมถึงการปรับปรุงและบำรุงรักษาระบบ
แอพพลิเคชั่น ICS ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ทั้งแบบออฟไลน์ซึ่งข้อมูลจะถูกเก็บไว้ในมือถือสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต และเมื่อออนไลน์ข้อมูลจะถูกส่งไปเก็บบนคลาวด์ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในครั้งนี้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดการใช้กระดาษ ในกระบวนการผลิตกาแฟตามมาตรฐาน IFOAM ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นโดยสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements - IFOAM) ซึ่งจะทำการตรวจสอบย้อนกลับครอบคลุมตั้งแต่แปลงกาแฟอินทรีย์ จนไปสิ้นสุดที่กระบวนการบรรจุภัณฑ์ จากความสำเร็จลดจำนวนเอกสารจาก 43 เอกสารเหลือ 22 เอกสาร และลดเวลาจาก 5 วันเหลือ 74 นาที
“โครงการนี้คือหนี่งในไฮไลท์ของการตอกย้ำบทบาทสำคัญของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่สามารถสัมผัสได้จริงในพื้นที่ด้วยคนในพื้นที่จริงๆ และเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างประชาชนกับดิจิทัล ในวิถีไทย ซึ่งครอบคลุมทั้งอัตลักษณ์ และการเกษตร”
+++กาแฟเปลี่ยนโลก (ให้ดีกว่าเดิม)
เดิมชาวบ้านส่วนใหญ่ของบ้านขุนลาว มีอาชีพหลักคือทำเกษตรไร่ชาอัสสัม สำหรับทำเมี่ยงอาหารกินเล่น พื้นถิ่นของภาคเหนือ แต่หลังจากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการตรวจสอบคุณภาพกาแฟออร์แกนิก ซึ่งเป็นผลผลิตการเกษตรที่มีส่วนสำคัญในการร่วมรักษาพื้นที่ป่า อีกทั้งมีราคาสูง และการปลูกไม่ยุ่งยาก ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนมาปลูกกาแฟเป็นหลัก
เพราะหนึ่งในคุณลักษณะสำคัญของกาแฟออร์แกนิก นอกเหนือจากการปลอดสารเคมีในทุกระบวนการแล้ว ก็คือ ต้องเป็นกาแฟที่ปลูกใต้ร่มไม้ และเสริมความหลากหลายด้วยการปลูกพืชชนิดอื่นๆ แซมไว้ในไร่กาแฟ โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า สมาชิกวิสาหกิจชุมขนชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่าบ้านขุนลาว ต้องปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ 50 ต้น / พื้นที่ปลูกกาแฟ 1 ไร่ เพื่อเพิ่มความหลากหลาย
โครงการนี้ ได้ดำเนินการผลิตกาแฟอาราบิก้าด้วยระบบวนเกษตรอินทรีย์ เพื่อรักษาผืนป่าต้นน้ำและสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนของชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ป่าต้นน้ำ และในภาพรวมทั้งโครงการครอบคลุมทุกหมู่บ้านมีเกษตรกรเข้าร่วมแล้วใม่น้อยกว่า 350 ครอบครัว ใน 9 หมู่บ้าน ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่ากว่า 8,000 ไร่ ใน 3 ป่าต้นน้ำของอุทยานขุนแจและลำน้ำกก โดยมีเป้าหมายขยายพื้นที่ให้ได้ 20,000 ไร่ ภายในปี 2568
**********//**********
จากคอลัมน์ อินโนสเปซ โดย บัซซี่บล็อก หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับ 10-11 พ.ย.61