Lifestyle

น้อมนำศาสตร์พระราชาฟื้นเขาหัวโล้น จ.น่าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำตามศาสตร์พระราชา ป่าไม่หาย อุทยานได้พื้นที่ป่าเพิ่ม

        “จังหวัดน่าน” ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมั่งคังไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และวิถีการดำเนินชีวิตเฉพาะตัว อาทิ ดอยเสมอดาว จุดชมวิวที่งดงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของอุทยานแห่งชาติศรีน่าน สูงจากระดับน้ำทะเล 888 เมตร มีแนวสันเขายาว เปิดโล่งกว้าง สามารถชมวิวทิวทัศน์ขุนเขาน้อยใหญ่ได้ไกลสุดลูกหูลูกตา เสาดินนาน้อย ความมหัศจรรย์ของพลังธรรมชาติ วัดพระธาตุแช่แห้ง วัดศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่าน ตามความเชื่อเรื่องการไหว้พระธาตุพระจำปีเกิดของชาวล้านนา เชื่อว่าคนเกิดปีเถาะหรือปีกระต่าย วัดพระธาตุเขาน้อย สร้างในสมัยเจ้าปู่แข็ง เมื่อปี พ.ศ.2030 องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ เป็นศิลปะพม่าผสมล้านนา เป็นปูชนียสถานที่สาคัญและเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของ จ.น่าน วัดภูมินทร์ มีชื่อเสียงในเรื่องของภาพจิตรกรรมฝาผนังสีฝุ่น เล่าเรื่องชาดก ตำนานพื้นบ้านและความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีต โดยเฉพาะภาพ “กระซิบรักบันลือโลก” และกลายเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองน่านที่ไปปรากฏอยู่ในสินค้าจำนวนมาก โฮงเจ้าคำฟอง เป็นบ้านของเจ้าฟองคำที่มีประวัติอันยาวนาน สร้างจากไม้สักหลังใหญ่สไตล์ล้านนา เดิมเป็นบ้านของเจ้าศรีตุมมา เป็นเชื้อสายของเจ้าอนันตวรฤทธิเดชเจ้าผู้ครองนครองค์ที่ 62 ของเมืองน่าน ซึ่งเป็นบิดาของเจ้าผู้ครองนครสององค์สุดท้าย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน หนึ่งในสิ่งจัดแสดงที่เป็นไฮไลท์คือ “งาช้างดำ” วัตถุโบราณหายากคู่บ้านคู่เมืองน่านและเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของน่าน หรือ หอศิลป์ริมน่าน แหล่งรวมศิลปะและวัฒนธรรมของจังหวัดน่าน โดยศิลปินชาวน่าน วินัย ปราบริปู ฯลฯ  ล้วนเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดให้ใครต่อใครต่างพากันหลั่งไหลเข้าสู่ “น่านนคร” 

น้อมนำศาสตร์พระราชาฟื้นเขาหัวโล้น จ.น่าน

พระพุทธรูปสี่ทิศภายในวัดภูมินทร์

         ....ไม่เฉพาะ “นักท่องเที่ยว” เท่านั้นที่หลงใหลในเสน่ห์แห่งเมืองน่าน “นักลงทุน” ก็เล็งเห็นโอกาสในการเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางธรรมชาติเหล่านี้ด้วยเช่นกัน จึงเป็นเหตุให้พื้นที่ป่าไม้ในจังหวัดน่าน ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเทือกเขาประสบกับปัญหาถูกบุกรุกทำลายป่าจากชาวบ้าน ในการใช้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ จนก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา

น้อมนำศาสตร์พระราชาฟื้นเขาหัวโล้น จ.น่าน

เปลี่ยนไร่ข้าวโพดให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมตามศาสตร์พระราชา

         ดังนั้นเพื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วประเทศสานต่อแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต นำโดย อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ ร่วมกับสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ  นำทีมโดย ไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิ พร้อมด้วยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน จัดกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ครั้งที่ 4 ในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 6  ในพื้นที่ของ “กานต์” วริศรา จันธี ผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน บ้านห้วยเลา ต.เชียงของ อ.นาน้อย จ.น่าน โดยได้รับเกียรติจาก “อาจารย์ยักษ์” หรือ วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมกิจกรรม

น้อมนำศาสตร์พระราชาฟื้นเขาหัวโล้น จ.น่าน

วิวัฒน์ ศัลยกำธร-อาทิตย์ กริชพิพรรธ ร่วมกิจกรรมเอามือสามัคคี

        วิวัฒน์ ศัลยกำธร กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดน่านมีการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวบนพื้นที่เขาสูงชันจำนวนมหาศาล ทำให้เสียพื้นที่ป่าไม้ถึง 1.5 ล้านไร่ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ เป็นต้นกำเนิดของน้ำร้อยละ 40 ของแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งทำให้น้ำแล้ง-น้ำท่วม จ.น่าน และภาคกลางของไทย การแก้ปัญหาจะต้องสร้างหลุมขนมครกบนพื้นที่สูงเปลี่ยนเขาหัวโล้นไปเขาหัวจุก เหตุที่เลือกพลิกฟื้นเขาหัวโล้นในอุทยานศรีน่าน ทั้งที่วิกฤติหนัก เพราะที่นี่มีชุมชนต้นน้ำน่าน (ชตน.) ที่ประสบผลสำเร็จในการใช้ศาสตร์พระราชาแก้ไขพื้นที่ อีกทั้งเป็นศูนย์ฝึกอบรมเปลี่ยนความคิดคนให้ทำกสิกรรมธรรมชาติเพื่อดำรงชีวิต

น้อมนำศาสตร์พระราชาฟื้นเขาหัวโล้น จ.น่าน

บัณฑิต ฉิมชาติ

        สอดคล้องกับ บัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานศรีน่าน กล่าวว่า ปัจจุบันการแก้ปัญหาชาวบ้านทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มียุทธศาสตร์ชาติกำหนดให้ภาครัฐร่วมวางแผนกับชุมชนในป่า ในส่วนของกรมอุทยานจะขับเคลื่อนต้นแบบคนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน โดยจะไม่ไล่ชาวบ้านที่มาทำกิน เพราะชาวบ้านอยู่มาก่อนจัดตั้งอุทยาน สิ่งที่ทำได้คือไม่ให้ชาวบ้านเปิดพื้นที่แล้วใช้แนวทางปลูกป่าในใจคนตามพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 สำหรับที่บ้านห้วยเลา ตัวเองลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านนาน 10 เดือน จึงมีชาวบ้านสมัครใจไปอบรม โดยมี 9 คนพร้อมที่จะลงมือทำตาม ส่วนพื้นที่กสิกรรมธรรมชาติของ “กานต์” วริศรา จันธี ก็มาช่วยกัน พาไปดูบ้านน้ำมีด ไปอบรม ทั้งนี้จะเน้นกับชาวบ้านว่าไม่ขายผลผลิต แต่ปลูกข้าวกิน มีข้าวเต็มยุ้ง ปลูกถั่ว ข้าวโพดหลังนา ปลูกพืชผักสวนครัว ถ้าทำตามศาสตร์พระราชา ป่าไม่หาย อุทยานได้พื้นที่ป่าเพิ่ม

น้อมนำศาสตร์พระราชาฟื้นเขาหัวโล้น จ.น่าน

วริศรา จันธี มุ่งมั่นในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่

        ผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่อุทยานบ้านห้วยเลา ที่เลิกปลูกข้าวโพดมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ “กานต์” วริศรา จันธี อายุ 29 ปี เล่าว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำไร่ข้าวโพด มีนายทุนเอาเมล็ดข้าวโพดมาให้ แต่กำหนดราคาขายต่ำ ชาวบ้านไม่มีอำนาจต่อรอง ทำแล้วมีแต่หนี้ ในขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหากับเจ้าหน้าที่อุทยานด้วย เพราะยิ่งมีหนี้เยอะก็ยิ่งถางป่าขยายไร่เพื่อปลูกข้าวโพดให้เยอะขึ้น ยิ่งถางป่าก็ยิ่งมีปัญหากับเจ้าหน้าที่อุทยานเป็นปัญหาวนเวียน กระทั่งหัวหน้าฉิมเข้ามาพูดคุยกับชาวบ้าน มาชวนให้ไปดูตัวอย่างที่บ้านน้ำมีด กลับจากอบรมก็ลองทำ โดยขอแบ่งที่จากแม่จำนวน 1 ไร่ ใช้จอบขุดปรับพื้นที่เดือนธันวาคม 2560 ลงมือปลูกเดือนพฤษภาคม 2561 แม้ในตอนแรกจะยังไม่สำเร็จแถมยังถูกชาวบ้านสบประมาทมากมาย แต่ก็ไม่ท้อลองใหม่อีกครั้ง คราวนี้ได้มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติจัดทีมมาเอามื้อใหญ่ 30 คน ได้คลองไส้ไก่ ทำหนองเก็บน้ำจากฟ้า ตอนนี้กานต์ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทำสวนผลไม้กว่า 50 ชนิด เงาะ มะขาม มะม่วง การเอามื้อครั้งนี้ก็ขุดคลองไส้ไก่ ขุดหนองให้ลึกขึ้น ทำฝายเพิ่มอีก

น้อมนำศาสตร์พระราชาฟื้นเขาหัวโล้น จ.น่าน

         “11 เดือนที่ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ก็เริ่มเห็นผล ได้กินพืชผักสวนครัว มีถั่วฝักยาว มะเขือ แตงกวา ผัก พริก ชะอม ชะพลู บนดอยก็ปลูกผักกูด จากที่แม่ให้ 1 ไร่ ก็ยกให้เลย 6 ไร่ 2 งาน ตอนนี้พักชำระหนี้ทั้ง ธ.ก.ส.และกองทุนหมู่บ้าน ประมาณ 500,000 บาท อยากปลดหนี้ให้ได้ภายใน 5 ปี แต่สำคัญสุดไม่สร้างหนี้เพิ่มแล้ว ไม่ต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ค่าปุ๋ย ค่าหยอด พ่นยา แต่ในพื้นที่ยังมีชาวบ้านทำไร่ข้าวโพด ตัวเองก็นำเศษเปลือกทำเป็นปุ๋ย แล้วยังมีอาชีพเสริมเลี้ยงด้วงมะพร้าว รายได้ 2,500 บาทต่อเดือน เชื่อมั่นว่าจะทำได้สำเร็จ และจะใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ของชาวบ้านด้วย”  วริศรา กล่าวด้วยความมุ่งมั่น

น้อมนำศาสตร์พระราชาฟื้นเขาหัวโล้น จ.น่าน

 อาทิตย์ กริชพิพรรธ

         อาทิตย์ กริชพิพรรธ กล่าวว่า 6 ปีผลของโครงการคืบหน้าเกินคาด แต่ละพื้นที่ลงมือทำเพื่อพิสูจน์ศาสตร์พระราชาและกสิกรรมธรรมชาติไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางหลักนำพาชีวิตชาวบ้าน เกษตรกรรอดปลอดภัย มีแหล่งอาหารแหล่งน้ำของตัวเอง จะขยายผลต่อไปเพื่อแก้ปัญหาจัดการน้ำของประเทศ และให้ทีมงานเกาะติดสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่เพื่อเข้าไปแนะนำ ปรับแก้ หนุนเสริม จัดการปัญหาคอขวดให้ได้ นอกจากนี้เชฟรอนยังสนับสนุนโครงการวิจัยเพื่อติดตามประเมินผลการปรับปรุงพื้นที่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ งานวิจัยจะสิ้นสุดปีนี้ ผลวิจัยและการถอดบทเรียนต่างๆ ถือเป็นความรู้ทางวิชาการ หวังใช้ขยายผลให้พื้นที่ต่างๆ นำไปใช้ในอนาคต
         ในส่วนของการซ่อมสร้างนอกจากต้องอาศัยระยะเวลาแล้ว ความร่วมไม้ร่วมมือเดินหน้าลุยไปด้วยกันก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อน จากวันนี้เชื่อว่าอีกไม่นานภูเขาหัวโล้นเมืองน่านจะกลับมาเขียวขจีเหมือนเดิม และที่สำคัญเกษตรกรชาวน่านจะมีความสุขยิ่งกว่าเดิม


กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง
เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต
...ภาพ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ