Lifestyle

เปิด 10 เทรนด์เทคโนโลยียุทธศาสตร์ปี  2019

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลังปี 2021 บทบาทของเอไอ จะเปลี่ยนมาสู่การเป็นเครื่องมือสร้างรายได้ใหม่ จากการเพิ่มยอดขายของบริการที่มีอยู่เดิม  และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

          เวียนกลับอีกครั้ง สำหรับคาดการณ์แนวโน้มเทคโนโลยีสำหรับปีต่อไปซึ่งคนทั่วโลกเฝ้ารอคอยจากบริษัทวิจัยการตลาดไอทีระดับโลก “การ์ทเนอร์” กับรายงาน 10 แนวโน้มเทคโนโลยีมาแรงสำหรับปี 2019 หรือ  Top 10 Strategic Technology Trends For 2019 จากเวทีงานประชุมใหญ่ประจำปีของการ์ทเนอร์ ที่จัดเป็นประจำในช่วงเดือนตุลาคม

 

          ความโดดเด่นของคาดการณ์แนวโน้มในรายงานฉบับนี้ ก็คือ การ์ทเนอร์  ทุกเทคโนโลยีที่ถูกนำมาระบุถึงต้องสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์เพิ่มศักยภาพให้กับการทำธุรกิจได้อย่างยาวนานต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 5 ปี  สำหรับแนวโน้ม 10 เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า มีดังนี้

เปิด 10 เทรนด์เทคโนโลยียุทธศาสตร์ปี  2019

อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่งทำงานร่วมกัน (Autonomous Things)

          แนวโน้มที่เริ่มเป็นจริงแล้วจากความสามารถและความแพร่หลายของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Artificial Intelligence : AI) ช่วยให้อุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ที่เป็น Internet of Things (IoT) สามารถเชื่อมโยงถึงกันและทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายในวงกว้างได้ นอกจากนี้  เอไอ ยังเพิ่มมันสมองให้กับสิ่งของอัจฉริยะต่างๆ อย่างเช่น หุ่นยนต์  เครื่องบินไร้คนขับ (โดรน) และยานพาหนะไร้คนขับ ให้สามารถสื่อสารและมีปฏิกริ ยาโต้ตอบกับคน รวมถึงสภาพแวดล้อมรอบข้างได้อย่างเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

 

การวิเคราะห์ข้อมูลโดยปัญญาประดิษฐ์ (Augmented Analytics)

          การใช้ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจะเป็นที่นิยมมากขึ้น ใช้เครื่องจักรในการเรียนรู้และแปลงข้อมูลที่มีการสร้างขึ้นในที่ต่างๆ หรือมีการแชร์กันโดยอัตโนมัติ มาสู่เครื่องมือเพื่อช่วยในการตัดสินใจขององค์กร และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด โดยข้อมูลเหล่านั้น ไม่จำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล อย่างนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และนักวิเคราะห์ทำให้ หรือพูดได้ว่าต่อไปนี้ทุกคนสามารถเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้ โดยการ์ทเนอร์ทำนายเอาไว้ว่าภายในปี 2020 จะมีคนกลุ่มนี้ที่เรียกว่า Citizen Data Scientist  จำนวนเพิ่มขึ้ถึง 5 เท่า

 

การพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI-Driven Development)

          องค์กรมีความต้องการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางธุรกิจและเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา การพัฒนาเครื่องมือที่ใช้งานง่าย และทำให้นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น สามารถนำเอไอ ไปเสริมในแอพพลิเคชั่นของตนได้  ซี่งความต้องการในส่วนนี้จะมากกว่าส่วนที่มาจากนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลซะอีก ทั้งนี้ การ์ทเนอร์ คาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี 2020 จะมีโครงการพัฒนาแอพพิลเคชั่นใหม่ๆ ราว 40% จะต้องมีนักพัฒนาร่วมด้านเอไอ (AI co-developers) ร่วมทีมอยู่ด้วย

เปิด 10 เทรนด์เทคโนโลยียุทธศาสตร์ปี  2019

 

ดิจิทัล ทวิน (Digital Twins)

          เว็บไซต์ www.techtalkthai.com ให้คำนิยามภาษาไทยของ Digital Twin ไว้อย่างเข้าใจง่ายว่า คือการนำข้อมูลจากวัถตุหรือระบบในโลกจริงไปนำเสนอแบบครบถ้วนทุกมิติในโลกดิจิทัล แนวโน้มนี้เกิดขึ้นมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว และยังมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นตามความเฟื่องฟูของ IoT  โดยเฉพาะการนำไปใช้ประโยชน์สำหรับองค์กรธุรกิจต่างๆ เพื่อให้สามารถส่งมอบ “คุณค่า” ที่ลูกค้าต้องการได้อย่างรวดเร็ว โดยมีผลสำรวจจากการ์ทเนอร์ ระบุว่า เกือบครึ่งขององค์กรที่มีการนำ IoT เข้ามาใช้ในปีนี้ มีแผนจะติดตั้งเทคโนโลยีดิจิทัลทวินเข้าไปด้วย  และมีประมาณการณ์ว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า ภายในปี 2020

 

เอดจ์คอมพิวติ้งจะเก่งขึ้น (Empowered Edge)   

          ระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า Edge computing ซึ่งช่วยให้การประมวลผลข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล และการส่งคอนเทนท์ เข้าไปใกล้จุดต้นทาง หรือพื้นที่จัดเก็บข้อมูลทำได้รวดเร็วขึ้นได้มากยิ่งขึ้น  การ์ทเนอร์ มองว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า เอดจ์ คอมพิวติ้ง  จะถูกขับเคลื่อนการทำงานด้วย IoT และมีความสามารถล้ำหน้ายิ่งขึ้น ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์อัจฉริยะเข้าไป ได้แก่ ชิปเอไอที่ได้รับการออกแบบเฉพาะ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลรุ่นใหม่ และการประมวลผลด้วยเทคโนโลยี 5จี เป็นต้น

 

ประสบการณ์จากโลกดิจิทัล (Immersive Experience)

          แนวโน้มความแรงของเทคโนโลยีนี้ จะหนุนเสริมกับทิศทางการตลาดยุคใหม่ ที่พร้อมสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าได้ครบทุกมิติ ไม่ว่าจะในโลกจริง หรือบนโลกดิจิทัล  การสร้างประสบการณ์ที่เรียกว่า immersive experience ก็คือ การขนเอาทุกวิธีการและกลยุทธ์ที่จะลบหรือเบลอภาพเทคโนโลยี ไม่ให้มากั้นขวางโลกจริงกับโลกดิจิทัลออกจากกัน เทคโนโลยีของแพลตฟอร์มการสนทนา อย่างเช่น แชทบอท จะเข้ามาเปลี่ยนวิธีการที่มนุษย์โต้ตอบกับโลกดิจิทัล ไปสู่รูปแบบใหม่ ได้แก่ เทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality)  การรวมสภาพแวดล้อมจริงกับภาพเสมือน 3 เข้าด้วยกันให้ผู้ใช้มองผ่านกล้อง (Augmented Reality)  หรือการแสดงภาพ 3 มิติได้ในพื้นที่จริง (Mixed Reality)  เหล่านี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการรับรู้ต่อโลกดิจิทัลของคน  ทำให้เกิดวิธีการสื่อสารและโต้ตอบรูปแบบใหม่ระหว่างผู้ใช้งานกับเทคโนโลยี

 

บล็อกเชน (Blockchain)

           บล็อกเชน ได้รับความเชื่อมั่นใน “คำมั่น” ที่ว่าจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรม ด้วยจุดแข็งเรื่องความน่าเชื่อถือของการรวมศูนย์  ทำให้เกิดความโปร่งใส และลดอุปสรรคในระบบนิเวศน์ทางธุรกิจ ผู้บริหารระดับสูงด้านข้อมูลสารสนเทศ (CIO) หลายคน เริ่มมองบล็อกเชน และประเมินถึงศักยภาพ ปัจจุบันมีบริษัทขนาดใหญ่บางราย เดินหน้าโครงการนำร่องเกี่ยวกับบล็อกเชนแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่วงการค้าปลีกอย่างวอล์มาท หรือบริษัทเดินเรือขนส่งสินค้าระดับโลกอย่าง Maersk  

 

พื้นที่อัจฉริยะ (Smart Spaces)

          การ์ทเนอร์ ให้คำจำกัดความของ พื้นที่อัจฉริยะ ไว้ว่า คือสภาพแวดล้อมทางกายภาพหรือดิจิทัล ซึ่งมนุษย์และเทคโนโลยี สามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้มากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีแบบเปิด การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต การทำงานร่วมกัน และระบบนิเวศน์อัจฉริยะ แนวโน้มการเติบโตของ “พื้นที่อัจฉริยะ” เห็นได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ผ่านเทคโนโลยีสมาร์ทซิตี้ ห้องทำงานดิจิทัล สมาร์ทโฮม และโรงงาน โรงงานที่เป็นการเชื่อมโยงระหว่างเครื่องจักร เซ็นเซอร์ และซอฟต์แวร์ เป็นต้น (Connected Factory) 

เปิด 10 เทรนด์เทคโนโลยียุทธศาสตร์ปี  2019

ความเป็นส่วนตัวและจริยธรรมบนโลกดิจิทัล

          ยิ่งโลกเคลื่อนเข้าไปสู่ความเป็นดิจิทัลมากเท่าไร ประเด็นความกังวลเกี่ยวกับจริยธรรมและความเป็นส่วนตัว ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งในระดับตัวบุคคล องค์กร และรัฐบาล ทั้งนี้ การ์ทเนอร์ คาดการณ์ว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเห็นความสำคัญเพิ่มขึ้นในเรื่องของ ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ การบรรเทาความเสี่ยง  และค่านิยม

 

ควอนตัม คอมพิวติ้ง (Quantum Computing)

          การทำงานของควอนตัม คอมพิวติ้ง คือการนำคุณสมบัติของ ‘”อะตอม” มาใช้ในการประมวลผล  เพิ่มความรวดเร็วกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไปมหาศาล และอีกมุมหนึ่งก็คือ เท่ากับการมีสมองที่ทำงานได้เร็วขึ้น ทำให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ได้ไวขึ้น หรือพูดได้ว่าปัญญาประดิษฐ์จะฉลาดล้ำอย่างก้าวกระโดด

เปิด 10 เทรนด์เทคโนโลยียุทธศาสตร์ปี  2019

 

           นักพัฒนาสามารถสร้างและทำให้แอพพลิเคชั่นต่างๆ ของควอดตัมผ่านคลาวด์ ผู้บริหารระดับ CIO  ของหลายองค์กร จึงกำลังเกาะติดเทคโนโลยีนี้อย่างใกล้ชิด จึงเชื่อว่าน่าจะเห็นการใช้ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมได้ในราวปี 2022 หรือ 2023

 

โลกยุคใหม่หมุนรอบเอไอ

          ข้อสังเกตที่เห็นชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มเทคโนโลยีมาแรงสำหรับปีหน้า ก็คือ หลายเทคโนโลยี  “มาแรงขึ้น” และ “มีความสามารถสูงขึ้น”ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ (เอไอ) ซึ่งเปรียบเสมือนมันสมองที่แฝงตัวอยู่อย่างเงียบๆ และมีคุณค่า

 

          การ์ทเนอร์ จัดทำรายงานขนาดของตลาดเอไอในภาพรวมทั่วโลก ระบุว่า จะมีมูลค่าทางธุรกิจจะเติบโตจาก 1.2ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐปีนี้ ไปแตะหลัก 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022

 

          จอห์น-เดวิด เลิฟล็อค รองประธานฝ่ายวิจัย ของการ์ทเนอร์ บอกว่า เอไอ จะยังคงครองตำแหน่งเป็นเทคโนโลยีที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ (disruptive technology) ต่อเนื่องไปอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปี เพราะอานิสงค์จากพลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ บิ๊กดาต้าที่ขยายตัวไม่หยุดทั้งในแง่ ปริมาณข้อมูล (volume),  ข้อมูลที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (velocity) และข้อมูลมีความหลากหลาย อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากความก้าวหน้าของโครงข่ายประสาทสำหรับการเรียนรู้เชิงลึก  (Deep Neural Networks : DNNs)

 

          โดยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า บทบาทสำคัญในเบื้องต้นของเอไอ จะเป็นงานเกี่ยวกับการสร้างประสบการณ์ลูกค้า โดยเฉพาะการพัฒนาด้านการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า รวมถึงการช่วยลดต้นทุนผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม หลังปี 2021 บทบาทของเอไอ จะเปลี่ยนมาสู่การเป็นเครื่องมือสร้างรายได้ใหม่ จากการเพิ่มยอดขายของบริการที่มีอยู่เดิม  และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด

เปิด 10 เทรนด์เทคโนโลยียุทธศาสตร์ปี  2019

 

สมาคมปัญญาประดิษฐ์ MOU สถาบันการศึกษา 4 แห่ง

          ศ.ดร. ธนารักษ์ ธีระมั่นคง สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (เอไอเอที) กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ระหว่างสมาคมปัญญาประดิษฐ์ กับสถาบันการศึกษา 4 แห่ง ซึ่งมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันในเรื่องการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย

 

          ทั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกของการผนึกความร่วมมือสนับสนุน และส่งเสริมกิจกรรมสร้างความรู้และสร้างเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ ให้เผยแพร่ในวงกว้าง นำไปสู่การทำงานด้านการวิจัยและพัฒนา ที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ


          โดยสถาบันการศึกษาทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง,  มหาวิทยาลัยบูรพา, วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และวิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต ยังมีความตกลงกับสมาคมฯ เรื่องการจัดทำหนังสือตำราเรียนด้านปัญญาประดิษฐ์ฉบับมัธยมปลายและบุคคลทั่วไปร่วมกัน

********//*************

คอลัมน์อินโนสเหซ โดย ...บัซซี่บล็อก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 3-4 พ.ย. 2561

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ