Lifestyle

รู้ทัน 3 ตัวร้ายพาร่างพัง! "หวาน มัน เค็ม"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

3 รสชาติของความอร่อยที่หลายๆ คนยังไม่รู้ว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดโรคร้าย ที่เรียกว่า "NCDs"

          อาหาร “หวาน มัน เค็ม” 3 รสชาติของความอร่อยที่หลายๆ คนยังไม่รู้ว่าการกินอาหารที่รสชาติจัดจ้านมากเกินไปเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดโรคร้าย ที่เรียกว่า “NCDs” (Non-Communicable Diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งได้แก่ โรคเบาหวาน กลุ่มโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคมะเร็ง โรคถุงลมโป่งพอง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง ในปัจจุบันกลุ่มโรคเหล่านี้คือสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของคนไทย   

รู้ทัน 3 ตัวร้ายพาร่างพัง! "หวาน มัน เค็ม"

          หวาน-ไม่ได้นับแค่ปริมาณน้ำตาลที่เติมลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติในอาหาร แต่รวมถึงน้ำตาลที่อยู่ในอาหาร ขนม และเครื่องดื่มต่างๆ การกินน้ำตาลมากเกินไปร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลส่วนเกินเป็นไขมันสะสม ทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวาน การกินหวานที่เหมาะสมนั้น ผู้ใหญ่ควรบริโภคน้ำตาลที่เติมลงในอาหารหรือเครื่องดื่มไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ส่วนเด็กไม่เกิน 4 ช้อนชาต่อวัน

รู้ทัน 3 ตัวร้ายพาร่างพัง! "หวาน มัน เค็ม"

           มัน-มาจากปริมาณน้ำมันในการประกอบอาหาร รวมถึงไขมันที่อยู่ในขนมขบเคี้ยวแสนอร่อยทั้งหลาย อาหารประเภททอด และอาหารแปรรูปต่างๆ ที่มีไขมันแฝงตัวอยู่ อาทิ ไส้กรอก ทูน่ากระป๋อง ขนมเค้ก ของหวานน้ำกะทิ เบเกอรี่ เป็นต้น ปริมาณไขมันที่สูงเกินไปจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคอ้วนและความดันโลหิตสูง ควรบริโภคไขมันไม่เกิน 65 กรัมต่อวัน หรือใช้น้ำมันประกอบอาหารไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน

          รู้ทัน 3 ตัวร้ายพาร่างพัง! "หวาน มัน เค็ม"

          เค็ม-โซเดียม คืออีกหนึ่งภัยอันตรายต่อสุขภาพ การกินเค็มมากเกินไปทำให้เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงและโรคไต ควรบริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 1 ช้อนชาต่อวัน นอกจากนี้ยังต้องระวังโซเดียมที่แฝงในอาหาร อาทิ อาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูปขนมขบเคี้ยว อาหารหมักดอง และที่สำคัญ คือเครื่องปรุงรสนานาชนิดที่เรานิยมใช้ปรุงแต่งรสชาติอาหารให้อร่อย ดังนั้นจึงควรชิมก่อนปรุง และปรุงรสชาติอาหารแต่พอเหมาะ

รู้ทัน 3 ตัวร้ายพาร่างพัง! "หวาน มัน เค็ม"

          วิธีง่ายๆ ที่จะทำให้มีพฤติกรรมการกินที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นคือ การเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่ามีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และเกลือ ที่เหมาะสม ไม่เกินปริมาณที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน

รู้ทัน 3 ตัวร้ายพาร่างพัง! "หวาน มัน เค็ม"

ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต

          ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารศึกษา คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ และอาจารย์สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สัญลักษณ์ทางเลือกเพื่อสุขภาพจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ด้านหน้าของผลิตภัณฑ์ ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มให้มีโภชนาการเหมาะสมและเกิดประโยชน์โดยตรงต่อผู้บริโภค ทำให้มีทางเลือกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพมากขึ้น การที่ผู้บริโภคเกิดความตระหนักหันมาใส่ใจสุขภาพจะเกิดความสนใจหาความรู้ ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโภชนาการมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ลดการบริโภคอาหารรสหวานจัด เค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง ทำอาหารผัดและทอดน้อยลงและเพิ่มการบริโภคผักผลไม้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมโภชนาการเพื่อสุขภาพอย่างยั่งยืน" ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ