Lifestyle

อลังการ "ดุริยนาฏนวมินทร์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

น้อมรำลึกในพระปรีชาสามารถด้านวรรณศิลป์ นาฏศิลป์ และดุริยศิลป์ ในหลวง ร.9

        เพื่อน้อมรำลึกในพระปรีชาสามารถ และพระอัจฉริยภาพด้านวรรณศิลป์ นาฏศิลป์ และดุริยศิลป์ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงอันไพเราะวิจิตร งดงาม และลึกซึ้งแก่ปวงชนชาวไทย มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ โดย ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกรรมการ ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยการสนับสนุนของ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด จัดการแสดงดนตรีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร “ดุริยนาฏนวมินทร์" รอบกาล่า โดยได้รับเกียรติจากบุคคลสำคัญในหลากหลายแวดวง อาทิ ม.ล.วิฏราธร จิรประวัติ, ดร.จิรายุ-ท่านผู้หญิงอรนุช อิศรางกูร ณ อยุธยา, ท่านผู้หญิงมณฑินี มงคลนาวิน, ท่านผู้หญิงอรศรี วังวิวัฒน์, อานันท์ ปันยารชุน, วุฒา ภิรมย์ภักดี, รศ.นพ.กฤษณ์-คุณหญิงฟิโนล่า จาฏามระ, ณฐินี ศรียุกต์ศิริ, นันดา-ไกรทิพย์ ไกรฤกษ์ ฯลฯ มาร่วมรับชมงานแสดงดนตรีครั้งสำคัญนี้ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันก่อน

อลังการ "ดุริยนาฏนวมินทร์"

ดร.จิรายุ-ท่านผู้หญิงอรนุช อิศรางกูร ณ อยูธยา

อลังการ "ดุริยนาฏนวมินทร์"

 ดร.ฮาราลด์ ลิงค์

         ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า การแสดงดนตรี “ดุริยนาฏนวมินทร์” เป็นการรวมตัวของหลายฝ่าย ทั้งมูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ คณะบัลเล่ต์ วงโยธวาทิตโรงเรียนวัดสุทธิวราราม คณะนักร้องประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักร้องรับเชิญ รวมทั้งหมดกว่า 300 ชีวิต โดยได้เชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์อันทรงคุณค่าในหลากหลายท่วงทำนอง ทั้ง บทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงมาร์ช ที่สะท้อนความมั่นคงของชาติ บรรเลงโดยวงโยธวาทิตโรงเรียนวัดสุทธิวราราม นอกจากนี้ยังมีบทเพลงพระราชนิพนธ์ชุดแรกที่พระราชทานออกเพื่อการลีลาศ ที่สร้างความอภิรมย์แก่ประชาชน บรรเลงโดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ รวมทั้ง บทเพลงพระราชนิพนธ์ 3 บท ที่ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ ขับร้องโดยนักร้องรับเชิญ นอกจากนั้นยังมีเพลง Lullaby (ค่ำแล้ว) ที่ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปี 2549 เพื่อกล่อมพระราชโอรสและพระราชธิดาเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ และปิดรายการเพลงขององก์แรกด้วยเพลงแผ่นดินของเรา ซึ่งบทเพลงทุกเพลงล้วนสร้างความประทับใจและตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ที่ได้รับชม
         “สำหรับบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่จัดแสดงในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทางด้านดุริยศิลป์ วรรณศิลป์ และนาฏศิลป์ โดยแบ่งการแสดงเป็น 2 องก์ ได้แก่ องก์ที่ 1 เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และ องก์ที่ 2 มโนราห์ บัลเล่ต์ (Manohra Ballet) บัลเล่ต์สัญชาติไทย ที่เมื่อ พ.ศ. 2504 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชนิพนธ์เพลงชุด “กินรี สวีท” สำหรับการแสดงบัลเล่ต์เรื่อง “มโนราห์” เปิดการแสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2505” มูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ กล่าว

อลังการ "ดุริยนาฏนวมินทร์"

ณฐินี ศรียุกต์ศิริ-นันดา ไกรฤกษ์-อานันท์ ปันยารชุน-วุฒา ภิรมย์ภักดี-ไกรทิพย์ ไกรฤกษ์

         วุฒา ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระปรีชาสามารถและพระเกียรติคุณทางด้านดนตรีเป็นที่ชื่นชมในระดับสากล ทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง บทเพลงพระราชนิพนธ์ทุกเพลงที่ได้พระราชทานไว้ล้วนเป็นบทเพลงอันทรงคุณค่าที่ควรอนุรักษ์ และเผยแพร่อย่างกว้างขวาง โดยบุญรอดบริวเวอรี่ ได้จัดทำโครงการเผยแพร่บทเพลงพระราชนิพนธ์ต่อเนื่องมาตลอดเวลาหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และทำหน้าที่สืบสานบทเพลงพระราชนิพนธ์ไว้     

อลังการ "ดุริยนาฏนวมินทร์"

ฉัตรชัย-ณัฐวรรณ ทีปสุวรรณ

         “งานนี้ยังได้จัดการแสดงบัลเล่ต์ชุด ‘มโนห์รา’ ขึ้น ซึ่งเป็นการแสดงบัลเล่ต์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดงครั้งแรก ณ เวทีสวมอัมพร เมื่อ พ.ศ.2505 โดยเชิญบทเพลงชุด ‘กินรี สวีท’ มาประกอบกับการแสดงบัลเล่ต์ที่ผสมผสานการเต้นบัลเล่ต์คลาสสิกกับนาฏยศิลป์ไทย ในครั้งนั้นพระองค์ทรงอำนวยการสร้าง กำกับ และทรงฉายภาพด้วยพระองค์เอง และการแสดงบัลเล่ต์ ‘มโนห์รา’ บรรเลงโดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ จะทำให้เราได้ย้อนรำลึกถึงพระปรีชาสามารถทางด้านดนตรีของพระองค์และเพื่อเผยแพร่บทเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระราชทานไว้ให้คงอยู่เป็นมรดกของแผ่นดินสืบไป”  วุฒา กล่าว

         ภายในงานคับคั่งไปด้วยบุคคลสำคัญจากหลากหลายแวดวง ที่พร้อมใจมาร่วมชมการแสดงฯ และร่วมแบ่งปันความรู้สึกที่ได้มีโอกาสชื่นชมการแสดงดังกล่าว ที่สะท้อนพระอัจฉริยภาพทั้ง 3 ด้านของศิลปกรรม ได้แก่ ดุริยศิลป์ วรรณศิลป์ และนาฏศิลป์ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล   

อลังการ "ดุริยนาฏนวมินทร์"

รศ.นพ.กฤษณ์-คุณหญิงฟิโนล่า จาฏามระ

         เริ่มจาก ม.ล.วิฏราธร จิรประวัติ กล่าวว่าตลอดระยะเวลาที่ได้ชมการแสดงครั้งนี้ ทุกบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ได้รับฟัง นอกจากทำให้คิดถึงพระองค์มากยิ่งขึ้นแล้ว ยัง    ชื่นชมในพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์บทเพลงได้หลากหลายแนว ทั้งเพลงมาร์ช ที่สะท้อนความความมั่นคงของชาติ จากนั้นต่อด้วยความรู้สึกนุ่มนวลผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระราชทานออกเพื่อการลีลาศ รวมถึงพระอัจฉริยภาพด้านวรรณศิลป์ที่ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องเป็นภาษาอังกฤษ อย่างบทเพลง Still on my mind หรือในดวงใจนิรันดร์ ที่ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองเป็นเพลงแรก ซึ่งในแต่ละบทเพลงได้ถ่ายทอดอารมณ์และความหมาย ที่สามารถสะท้อนสิ่งที่พระองค์ต้องการสื่อสารกับพสกนิกรผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์ และทำให้อยากกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ต่าง ๆ ของประเทศไทยในแต่ละช่วงที่พระองค์พระราชนิพนธ์แต่ละบทเพลงขึ้นมา รวมทั้งเป็นครั้งแรกที่ได้ชมมโนห์รา บัลเล่ต์ ซึ่งเป็นการแสดงที่หาชมได้ยาก และสะท้อนถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ในการนำความเป็นไทยมาผสมผสานกับสากลได้อย่างลงตัว 

อลังการ "ดุริยนาฏนวมินทร์"

พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา-สุพรรณรัศมิ์ ศิริหงษ์-วนิดา ดุละลัมพะ-บุษบา มัยลาภ-ทิพย์สุดา ศิริกุล

         ปาณเกศ ศาตะมาน เผยว่าความที่ตอนเด็กๆ เคยเรียนบัลเล่ต์กับท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช  ซึ่งท่านเคยแสดงเป็นมโนห์ราคนที่สอง บวกกับเคยร่วมแสดงเป็น งู ในการแสดงมโนห์รา บัลเล่ต์ ซึ่งครั้งนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ มาชมการแสดงด้วย ถือเป็นความภาคภูมิใจครั้งหนึ่งในชีวิตอย่างหาที่สุดมิได้ ดังนั้นจึงตั้งตารอชมการแสดงมโนห์รา บัลเล่ต์ในครั้งนี้ และประทับใจในการแสดงที่ตื่นตาตื่นใจอย่างมาก สวยงามทั้งเสื้อผ้าและท่าเต้นที่ครูโจ้ (สุธีศักดิ์ ภักดีเทวา) ได้ออกแบบและปรับท่าทางต่าง ๆ ให้เข้ากับยุคสมัย ทันสมัยกว่าเดิม และยังมีท่าทางต่าง ๆ ที่ผสมผสานความเป็นไทยเข้าไป อย่าง ท่าจีบมือเหมือนการรำไทย  เป็นท่วงท่าในการเต้นบัลเล่ต์ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในการเต้นบัลเล่ต์ของประเทศตะวันตก ซึ่งองค์ประกอบโดยรวมลงตัวเมื่อเข้ากับเพลงพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 9 ทั้งยังเป็นเรื่องราวจากนิทานชาดกของไทย ที่นำมาจัดแสดงในรูปแบบของไทยผสมผสานตะวันตก ก็จะคงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยต่อไป และเป็นครั้งแรกที่ได้ฟังเพลงพระราชนิพนธ์ที่แสดงโดยวงออเคสตร้าและวงโยธวาทิต ไพเราะมาก นอกจากนี้บทเพลงพระราชนิพนธ์ ยังถือเป็นมรดกล้ำค่าของแผ่นดินที่ลูกหลานคนไทยควรสืบสานให้คงอยู่ตลอดไป” 

อลังการ "ดุริยนาฏนวมินทร์"

พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์-โพธิพงษ์-ยุพา-นวลพรรณ ล่ำซำ

        วฤตดา ภิรมย์ภักดี เผยว่าในฐานะที่ตัวเองเป็นนักดนตรี และชอบฟังดนตรีคลาสสิก ยอมรับเลยว่า บทเพลงพระราชนิพนธ์แต่ละบทเพลงมีรายละเอียดที่ท้าทายนักดนตรี และทรงมีพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์บทเพลงในหลากหลายแนวมาก ทั้งเพลงมาร์ช ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เพลงปลุกใจทำให้คนไทยรู้สึกถึงความสามัคคีปรองดองกัน รวมไปถึงบทเพลงอื่นๆ ในแง่ของความไพเราะสวยงาม รวมทั้งมีความหมายที่ลึกซึ้ง สำหรับบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ชื่นชอบมากที่สุด คือ แว่ว หรือ Echo ที่มีท่วงทำนองไพเราะงดงาม และทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง ที่สำคัญคือเป็นครั้งแรกที่ได้ชมมโนห์รา บัลเล่ต์ และชื่นชมในพระอัจริยภาพของพระองค์ท่านเป็นอย่างมาก ในการนำศิลปะที่เป็นสากลมาผสมผสานกับความเป็นไทยไว้อย่างลงตัว” 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ