Lifestyle

 ภาวะ "มดลูกอักเสบ&มดลูกเป็นหนอง"ในสัตว์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง โดย - นสพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญ หรือหมอเล็ก    [email protected] 

 

          สวัสดีครับ คราวก่อนพูดถึงเรื่องการคุมกำเนิดไปแล้ว วันนี้มาคุยเรื่องภาวะมดลูกอักเสบและมดลูกเป็นหนอง ซึ่งเป็นโรคที่เราพบได้บ่อยๆ ทั้งในสุนัขและแมว  เรามักจะรู้จากการที่พบว่ามีสิ่งคัดหลั่งไม่ว่าจะมีลักษณะเป็นหนองหรือไม่ก็ตาม ทำให้บรรดาหมอๆ ทั้งหลายเริ่มสงสัยภาวะนี้และเริ่มซักประวัติเพิ่มเติม และตรวจร่างกายต่อไป 

          จริงๆ แล้วโรคนี้มีสองลักษณะอย่างที่กล่าวไว้แล้ว คือ มดลูกอักเสบ นั่นคือมีการอักเสบเกิดขึ้นที่มดลูก แต่ไม่มีการติดเชื้อ กับ มดลูกเป็นหนอง  คือการที่มีหนองที่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งทั้งสองภาวะนี้มีอาการการเกิดได้ 2 แบบ คือ แบบเปิด และแบบปิด สิ่งที่ต่างกัน คือ แบบเปิดจะพบการที่คอมดลูกเปิด และพบว่ามีหนองหรือสิ่งคัดหลั่งไหลออกมาจากช่องคลอด ซึ่งแบบนี้เจ้าของมักจะเห็น และพามาพบหมอ 

         กับอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่าแบบปิด เป็นแบบที่คอมดลูกปิด ดังนั้นหนองหรือสิ่งคัดหลั่งจะไม่สามารถไหลออกมาทางช่องคลอดได้ ซึ่งแบบนี้บางครั้งเจ้าของก็ไม่สามารถสังเกตเห็นได้

        คราวนี้มาดูสาเหตุที่เกิดมักเกิดจากการที่ภาวะฮอร์โมนเพศไม่สมดุล ซึ่งเกิดจากสาเหตุภายนอกและภายในได้ สาเหตุภายนอก เช่น การได้รับการฉีดยาคุม หรือจากแหล่งอาหาร เป็นต้น สาเหตุภายใน เช่น อายุสัตว์ ซีสต์ หรือเนื้องอกที่รังไข่ทำให้การสร้างฮอร์โมนเพศผิดปกติไป เป็นต้น

        อาการ และการตรวจรักษาอาการที่พบ ถ้าหากเป็นแบบเปิดมักจะสังเกตอาการได้ง่าย เจ้าของมักพามาพบสัตวแพทย์และเห็นอาการ จากนั้นสัตวแพทย์จะตรวจร่างกายซักประวัติเพิ่มเติม พร้อมทั้งตรวจทางรังสี เช่น เอกซเรย์ หรือทำอัลตราซาวด์เพิ่มเติมรวมถึงการเจาะเลือดดูการติดเชื้อร่วมด้วย ซึ่งการตรวจวินิจฉัยทางรังสีและการตรวจเลือดจะเพิ่มความแม่นยำในการตรวจโรคในแบบปิดมากขึ้นด้วย นอกจากการพบสิ่งคัดหลั่งแล้วอาจดูอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ซึม อ่อนแรง เบื่ออาหาร อาเจียน มีไข้ ช่องท้องกาง ซึ่งพบได้มากในชนิดมดลูกเป็นหนองอย่างปิด พบว่ามีการกินน้ำเยอะขึ้น ปัสสาวะมาก เยื่อเมือกซีด ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นอาการไม่สบายแบบรวมๆ ทั่วไป

         การรักษา มีการรักษา 2 แบบ คือ ทางศัลยกรรม และอายุรกรรม การรักษาทางศัลยกรรม คือการผ่ามดลูก รังไข่ ปีกมดลูกที่มีการอักเสบ หรือหนองออกจากร่างกาย ซึ่งก็คล้ายกับการผ่าตัดทำหมันนั่นเอง เพียงแต่มีความเสี่ยงกว่าเนื่องจากไม่ใช่การผ่าตัดปกติ อาจพบการติดเชื้อภายหลังการผ่าตัด หรือภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ แต่หมอยังแนะนำวิธีนี้เพราะหากไม่ทำ สัตว์เลี้ยงเราแย่แน่ๆ ครับ 

       อีกวิธีคือ การรักษาทางอายุรกรรม หมอมักแนะนำในกรณีที่มีการตรวจอย่างละเอียดเพื่อหาดูว่าฮอร์โมนตัวใดที่ผิดปกติไป เช่น เป็นซีสต์ที่รังไข่ระยะใด แล้วใช้ฮอร์โมนในการรักษา ซึ่งใช้ในภาวะมดลูกอักเสบไม่มีการติดเชื้อ เป็นต้น

        การป้องกันง่ายๆ เลยครับ งดการใช้ยาคุม และการผ่าตัดทำหมันเพื่อลดโรคที่เกิดจากฮอร์โมนเพศ ซึ่งการฉีดยาคุมกำเนิดในสุนัข หมอไม่แนะนำเพราะเป็นการทำให้ฮอร์โมนเพศไม่สมดุลได้ครับ!

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ