Lifestyle

วิธีฝึกแก้นิสัย(ไม่ดี)ให้สุนัข !

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 คอลัมน์ - พิชิตปัญหาสัตว์เลี้ยง โดย - น.สพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญหรือหมอเล็ก   [email protected] 

 

           สัปดาห์ก่อนเราพูดคุยกันถึงเรื่องของสัตว์ดุทำร้ายคนมาแล้ว คราวนี้หมอจะมาบอกว่าเราจะทำอย่างไร หากต้องเผชิญหน้ากับสุนัขดุเหล่านี้ อันดับแรก เราต้องรู้จักรักษาตัวรอดเป็นยอดดีก่อนครับ นั่นคือการไม่พาตัวเราไปอยู่ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายทั้งหลาย ไม่เข้าไปในสถานที่มีสัตว์ดุนั้นอยู่เนื่องจากเป็นการรุกรานพื้นที่ส่วนตัวของเขา หรือถ้าหากต้องเผชิญหน้ากับสุนัขดุนั้น เราต้องมีสติ ประเมินสถานการณ์รอบตัวว่าเราสามารถมีทางหนีทีไล่ทางไหนได้บ้าง มีทางออก หรือสิ่งกำบังรวมถึงสิ่งป้องกันตัวหรือไม่ 

        การวิ่งหนีหรือเข้าทำร้ายก่อนจะเป็นการกระตุ้นให้สุนัขเข้าทำร้ายได้ หากเป็นไปได้ให้ค่อย ๆ ออกจากพื้นที่นั้นโดยนุ่มนวล หรือหากในกรณีมีสุนัขหลายตัว หัวหน้าฝูงจะเป็นผู้นำให้ลูกฝูงเข้าทำร้ายเราได้ ส่วนในกรณีสุนัขของเราเองแล้วมีพฤติกรรมดุร้ายกับเจ้าของด้วยมักเกิดจากการเลี้ยงดูผิดเงื่อนไขมาตั้งแต่แรก ๆ การแก้ไขอาจจะยาก แต่ยังมีหนทางครับ เช่น สุนัขบางตัวหวงอาหาร ชามข้าว เราอาจสร้างเงื่อนไขใหม่ว่าถ้ายอมให้เจ้าของจับชามข้าวขณะที่สุนัขกินอยู่ เค้าจะได้ขนมหรืออาหารเพิ่ม อาจต้องใช้ระยะเวลาและความอดทนที่มากสักหน่อย แต่ทุกอย่างมีทางออกเสมอครับ 

         การสร้างโจทย์หรือสถานการณ์เพื่อสร้างการเรียนต่าง ๆ ก็สามารถทำได้เพื่อให้สุนัขเรียนรู้ หรือปรับทัศนคติไม่ดีต่าง ๆ ของตัวสุนัขเองก็ได้ การสร้างความเป็นผู้นำให้เจ้าของเป็นหัวหน้าฝูงก็มีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ถ้าสุนัขไม่ยอมรับเราก็จะเป็นการยากที่จะฝึกฝน สอนให้เรียนรู้ และอื่น ๆ

      ก่อนที่จะเริ่มการฝึกควรคำนึงถึงข้อจำกัดของเจ้าของหรือผู้เลี้ยงเสียก่อนว่าเรามีศักยภาพในการดูแลเค้าแค่ไหน มีเวลาให้เพียงพอหรือไม่ มีพื้นที่เลี้ยงพอมั้ย เนื่องจากว่านิสัยประจำพันธุ์สุนัขแต่ละสายพันธุ์ก็จะแตกต่างกันไป เช่น สุนัขพันธุ์ใช้งาน (working dog) ก็ต้องการที่จะใช้เวลาและพื้นที่ในการออกกำลังมากกว่าสุนัขพันธุ์เล็กเป็นต้น หากผู้เลี้ยงคิดว่าไม่มีเวลาเพียงพอก็ควรที่จะเลือกเลี้ยงสายพันธุ์ที่ไม่ต้องการการออกกำลังมากนัก เพราะว่าหากสุนัขไม่ได้มีการออกกำลังที่เหมาะสมอาจทำให้สุนัขมีการแสดงออกที่ไม่ดี เช่น กัดแทะสิ่งของ เป็นต้น 

       อย่างที่พูดถึงสายพันธุ์ สถานที่ และเวลาแล้ว สิ่งสำคัญต่อไปก็เป็นเรื่องของความสม่ำเสมอ เช่น ถ้าเราฝึกสอนเค้าสำเร็จแล้วก็ต้องคอยทบทวนหรือซักซ้อมให้เค้าไม่ลืมบทเรียนอยู่เสมอ จะเห็นได้ว่าสถาบันการฝึกสอนสุนัขมักจะให้เจ้าของมีส่วนร่วมในการฝึกด้วย เพื่อที่จะให้สุนัขและเจ้าของคุ้นเคยในการฝึกร่วมกัน หลังจากจบหลักสูตรแล้ว เมื่อกลับไปบ้านผู้เลี้ยงก็ควรทบทวนคำสั่งอยู่เสมอเพื่อเป็นการทบทวนเช่นกัน  

         หมอเองเคยพบเจอผู้เลี้ยงที่มาปรึกษาว่าทำไมสุนัขส่งไปเรียนหนังสือจนจบหลักสูตรแล้วสักพักก็ลืมคำสั่ง เนื่องจากไม่มีความสม่ำเสมอและต่อเนื่องต่อบทเรียนนั่นเอง ต่อมาในเรื่องของอุปกรณ์เสริม หรือเครื่องมือที่ใช้ประกอบการฝึกก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน และอย่าลืมเรื่องของอายุสุนัขที่เข้าฝึกควรมีช่วงอายุที่เหมาะสมต่อการฝึก ถ้าสัตว์มีอายุมากหรือน้อยเกินไปก็อาจต้องใช้เวลาหรือบทเรียนที่เหมาะสมต่อช่วงอายุด้วย 

         ที่กล่าวมาจะเป็นเรื่องของการฝึกแก้นิสัยไม่ดีที่ไม่อันตรายนะครับ ในส่วนของรายละเอียดการฝึกต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงนิสัยประจำตัวสุนัข ซึ่งผู้เป็นเจ้าของจะทราบดีที่สุดในรายละเอียดเพราะว่าพวกคุณคือครอบครัวเดียวกันครับ!

                                                           

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ