Lifestyle

49 บทเพลงรำลึกในหลวงร.9

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

49 บทเพลงพระราชนิพนธ์ จะอยู่ในความทรงจำตราบนิรันดร์

          เดือนตุลาคมเป็นเดือนแห่งความสูญเสียที่ชาวไทยมิอาจลืมเลือน และในโอกาสครบ 2 ปีวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 13 ตุลาคมนี้ คณะมนุษยศาสสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ร่วมมือกับ มูลนิธิคีตรัตน์ เกส ปีเตอร์ ราเดอ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย และเหล่าพันธมิตร จัดงานแสดงดนตรีถวายความรำลึก “49 อิน เมมโมรี่ ในความทรงจำนิรันดร์” เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและสืบสานเรื่องราวพระเกียรติคุณ โดยเฉพาะด้านดนตรีให้เป็นที่ประจักษ์และจดจำต่อชนรุ่นหลังสืบไป โดยตั้งโต๊ะแถลงข่าวบอกกล่าวรายละเอียด ที่ชั้น 5 ฮีลิกซ์ การ์เด้น ศูนย์การค้าดิ เอ็มควอเทียร์ เมื่อบ่ายวันก่อน 

49 บทเพลงรำลึกในหลวงร.9

เกส ปีเตอร์ ราเดอ-รศ.ดร.กิติมา อินทรัมพรรย์

          รศ.ดร.กิติมา อินทรัมพรรย์ คณบดีคณะมนุษยศาสสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระเกียรติคุณทางดนตรี และพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวเกษตรศาสตร์ โดยพระราชทานเพลงประจำมหาวิทยาลัย “เกษตรศาสตร์” และเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อทรงปลูกต้นนนทรีซึ่งเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหลังจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีร่วมกับวง อ.ส.วันศุกร์ ในงาน “นนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด” อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีจนถึงปี พ.ศ.2515 รวม 9 ครั้ง 

49 บทเพลงรำลึกในหลวงร.9

วง KU Wind ของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          “ในงานแสดงดนตรีถวายความรำลึก “49 อิน เมมโมรี่ ในความทรงจำนิรันดร์” วง KU Wind ของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรตินิยมจากการแข่งขัน เวิลด์ มิวสิก คอนเทสต์ เมื่อปี 2556 และปี 2560 ได้รับเกียรติให้ร่วมแสดงดนตรีบทเพลงพระราชนิพนธ์ ร่วมกับวง ดัตช์ สวิง คอลเลจ แบนด์ จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคม บริเวณควอเทียร์ พาร์ค ชั้นเอ็ม ศูนย์การค้าดิ เอ็มควอเทียร์ นอกจากนี้คณะมนุษยศาสตร์ยังได้จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ทางดนตรีแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” เพื่อเผยแพร่พระปรีชาสามารถทางดนตรีของในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกทั้งยังตั้งใจให้ศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านดนตรีแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป” แม่งานเผย

49 บทเพลงรำลึกในหลวงร.9

รศ.ดร.ภาธร ศรีกรานนท์

          ขณะที่ รศ.ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ รักษาการประธานมูลนิธิคีตรัตน์ และเป็นผู้ถวายงานดนตรีแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กว่า 30 ปี ในฐานะนักดนตรีวง อ.ส.วันศุกร์ เล่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดดนตรีแจ๊ส โดยเฉพาะดนตรีนิวออลีนส์แจ๊สที่มีต้นกำเนิดจากสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อครั้งที่ยังประทับที่สวิตเซอร์แลนด์ มีนักดนตรีจากอเมริกาเข้ามาเล่นกันเยอะมาก ดนตรีที่ทรงฟังจึงเป็นดนตรีนิวออลีนส์ที่บรรเลงในยุโรป และทำให้นิวออลีนส์แพร่หลายในยุโรปอย่างมาก ซึ่งวงดัตช์ สวิง คอลเลจ แบนด์ ก็เป็นวงดนตรีแจ๊สที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีอายุยาวนานกว่า 70 ปี และเป็นอีกวงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงรู้จักและเคยฟัง จึงตั้งใจที่จะนำมาเล่นถวายเฉพาะพระพักตร์ แต่ก็ไม่ทันกาล จึงได้นำมาเล่นในโอกาสครบ 2 ปีของการสวรรคตนี้แทน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ