Lifestyle

ลุยเทือกเขาบูโดตามหาครอบครัว "นกชนหิน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เฝ้าคอยลุ้นการโฉบบินครั้งแรกของสมาชิกใหม่

          ทุกรอบปีในช่วงนี้ ต้องลากขาหอบหิ้วสังขารเข้าป่าปีนเทือกเขาบูโด ไปกับเจ้าหน้าที่โครงการศึกษานิเวศวิทยาของ นกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กันอีกครั้ง แม้สภาพร่างกายจะไม่เอื้ออำนวย ซึ่งความจริงก็เหมือนกับที่ผ่านๆ มา คือไม่เอื้ออำนวยเช่นเดิม ประกอบวัยที่ร่วงโรยลงไปตามวงจรชีวิตและความไม่พร้อมในหลายๆ ด้าน ทำให้ผู้คนรอบข้างที่รู้จักมักคุ้นคอยปรามว่าพอแล้ว ให้รู้จักเจียมเนื้อเจียมตัวเสียบ้างเดี๋ยวเป็นลงอะไรไปกลางป่ากลางดง คนเขาจะสมน้ำหน้าเอา แต่ในเมื่อจิตใจเดินทางไปจดจ่ออยู่ที่ปากโพรงนกเงือกก่อนแล้ว ถึงอย่างไรก็ต้องถ่อไปให้ถึง แม้จะสะบักสะบอมเหงื่อชุ่มโทรมกายแถมรอบนี้ยังได้ของแถมถูกตะคริวกินขาทั้งสองข้าง ต้องประคับประคองตัวเองเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้ร่วมทางมากจนเกินไป โชคดียังสามารถกลับออกมาได้พร้อมลมหายใจอีกครั้งหนึ่ง

ลุยเทือกเขาบูโดตามหาครอบครัว "นกชนหิน"

ลุยเทือกเขาบูโดตามหาครอบครัว "นกชนหิน"

         “เทือกเขาบูโด” ในอดีตนอกจากจะเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนแล้ว ยังเป็นแหล่งสัมปทานป่าไม้ทำสำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ครอบคลุมทั้งสามจังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ปัจจุบันยังคงเหลือร่องร่อยจากการตัดไม้ให้เห็น ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่นี่ ผู้ช่วยนักวิจัยนกเงือกคนหนึ่งซึ่งมีพื้นเพอยู่ที่นี่ เล่าให้ฟังว่า ครั้งนั้นรถบรรทุกไม้ขนาดใหญ่หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “รถจอหนัง” สามารถบรรทุกต้นตะเคียนได้เพียงท่อนเดียวเท่านั้นลงจากเขา ลองคิดดูว่าซุงต้นนั้นจะมีขนาดใหญ่แค่ไหน นี่คือความอุดมสมบูรณ์ของป่า จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายที่มีนกเงือกอาศัยอยู่ถึง 6 ชนิด จากที่ค้นพบในผืนป่าชายแดนภาคใต้จำนวน 10 ชนิด

ลุยเทือกเขาบูโดตามหาครอบครัว "นกชนหิน"

         สมัยนั้นการตัดไม้ได้ทำควบคู่ไปกับการล่าสัตว์ป่า ซึ่ง “นกเงือก” ก็หนีไม่พ้นที่ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในผู้ถูกล่าที่สำคัญด้วย เป้าหมายในการเดินทางปีนี้ คือเฝ้าสังเกตการณ์ชีวิตของ นกชนหิน (Helmeted Hornbill) ครอบครัวหนึ่งบนเทือกเขาบูโด ฝั่ง อ.รามัน จ.ยะลา ซึ่งขณะนี้แม่นกและลูกนกยังคงอยู่ในโพรงต้นไม้กลางป่าใหญ่ เหลือเพียงพ่อนกที่ต้องทำงานอย่างหนักคอยบินหาอาหารมาป้อนอยู่เพียงตัวเดียว เป็นเวลาเกือบ 5 เดือนแล้ว เนื่องจากปีนี้ “นกชนหิน” คู่ดังกล่าวเข้าโพรงเพื่อวางไข่ออกลูกช้ากว่าปกติ พวกเราตั้งความหวังกันไว้ว่าถ้าหากโชคดีคงได้บันทึกภาพนกชนหินแม่ลูกคู่นี้เจาะปากโพรงออกมาสู่โลกภายนอก นั่นคือเป้าหมายสูงสุดของการเดินทาง ซึ่งโอกาสเช่นนี้มีแค่ปีละครั้งเท่านั้น

ลุยเทือกเขาบูโดตามหาครอบครัว "นกชนหิน"

         นอกจากความพยายามดั้นด้นขึ้นไปหา ดวงก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จ แต่ใช่ว่าดวงจะเข้าข้างเราเสมอไป เพราะตลอดระยะเวลา 3 วันที่เฝ้าคอยลุ้นการโฉบบินครั้งแรกของสมาชิกใหม่ในครั้งนี้ไม่เป็นผลดังที่หวังไว้ ซ้ำตัวพ่อนกก็บินมาให้เห็นเพียงครั้งเดียวในเวลาเช้ามืดของวันสุดท้ายที่เฝ้ารอ เพราะเสบียงที่พกพากันขึ้นไปมีจำกัด แถมไม่ยอมป้อนอาหารที่คาบมา อาจเป็นเพราะด้วยสัญชาตญาณของนกชนหิน เป็นนกที่มีความระแวงภัยสูงมาก ต่างจากนกเงือกบางชนิด เช่น นกเงือกหัวแรด เป็นต้น พวกเราเดินทางกลับลงมาจากเขาครั้งนี้แทบจะมามือสิบนิ้ว โชคดีนิดหน่อยได้กดชัตเตอร์บ้าง ขณะที่พ่อนกบินมาเกาะที่ปากโพรงประมาณ 5-7 วินาที แม้จะไม่ได้ภาพอย่างที่หวัง แต่ก็รู้สึกสบายอย่างหนึ่งใจ เมื่อเห็นพวกมันยังอยู่กันทั้งครอบครัว ไม่มีตัวใดตัวหนึ่งถูกตัดตอนจากนักล่า และคาดว่าอีกไม่ช้านกเงือกเผ่าพันธุ์ดึกดำบรรพ์ชนิดนี้จะได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่ลูกกลางป่าใหญ่แห่งเห่งเทือกเขาบูโด

ลุยเทือกเขาบูโดตามหาครอบครัว "นกชนหิน"

          จากการเฝ้าติดตามบันทึกข้อมูลของเจ้าหน้าที่และผู้ช่วยนักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก พบว่าในปี 2561 มีนกเงือกที่อาศัยอยู่บนเทือกเขาบูโดเข้าโพรงจำนวน 40 โพรง จาก 200 โพรงเท่าที่ค้นพบและลูกนกได้เจาะปากโพรงออกมาเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงประมาณ 5 โพรงที่ยังไม่ออกมา ซึ่งนกชนหินก็เป็นหนึ่งในนั้น ปัจจุบันนกชนหินถูกจัดให้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เนื่องจากมีเป็นนกเงือกที่มีโหนกแข็งเพียงชนิดเดียว จึงกลายเป็นที่ต้องการของตลาดมืดที่จะนำหัวของนกชนหินไปทำเป็นเครื่องประดับราคาแพง ตลอดจนถึงเครื่องรางของขลังตามความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่ง แม้กระแสการอนุรักษ์จะสร้างความตื่นตัวให้ผู้คนในวงกว้างกระจายออกไปถึงนานาชาติ แต่การล่าตัดหัวนกชนหิน ก็ยังคงเป็นข่าวให้สะเทือนใจกันทุกปีด้วยเช่นกัน

ภาพ / เรื่อง จรูญ ทองนวล

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ