Lifestyle

ฟอร์ด เรนเจอร์ แรพเตอร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฟอร์ด เรนเจอร์ แรพเตอร์ : คอลัมน์... ยานยนต์

 

          ฟอร์ด สร้างความฮือฮาในตลาดยานยนต์ เมื่อประกาศเปิดตัว “เรนเจอร์ แรพเตอร์” รถปิกอัพค่าตัว 1.699 ล้านบาท แน่นอนหลายคนก็คงรู้ว่ามันต้องมีอะไรที่ต่างไปจากปิกอัพทั่วไป แต่ราคาที่กระโดดขึ้นไประดับนั้น อะไรคือความแตกต่าง และคุ้มค่ากับการซื้อหรือไม่

          ผมว่าเรื่องแบบนี้ส่วนหนึ่งมันอยู่ที่ใจครับ เพราะผมถือว่าแรพเตอร์เป็นรถทางเลือก ไม่ใช่รถในตลาดหลักอย่างเช่นแรพเตอร์ ดังนั้นหากมีความพึงพอใจก็ซื้อไปจึงไม่แปลกที่เห็นหลายคนจับจองไว้ล่วงหน้าก่อนจะเปิดตัวจริง หรือว่าได้ทดลองขับขี่ด้วยซ้ำไป ราคาจึงไม่ใช่ตัวแปรหลัก แต่อย่างน้อยก็มาดูกันครับ ว่ามันทำอะไรได้บ้าง มีอะไรที่น่าสนใจ หรือพิเศษบ้าง

 

ฟอร์ด เรนเจอร์ แรพเตอร์


   
          รูปทรงโดยรวม ดุดัน สวยงาม ความกว้างที่เพิ่มขึ้นจากเรนเจอร์ ช่วยให้ชื่อ “แรพเตอร์” เด่นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อวิ่งร่วมกับรถคันอื่นบนท้องถนน เห็นได้ชัดถึงความใหญ่ของมัน และโดยรวมรูปทรงถือว่าผ่านครับ

          แรพเตอร์ มีขนาดตัวถัง (ยาวxกว้างxสูง) 5,398x2,028x1,873 มม. ความยาวช่วงล้อ 3,220 มม.ควมกว้างช่วงล้อ 1,710 มม. ระยะต่ำสุดจากพื้น 283 มม.
  
          ผมเริ่มต้นกับแรพเตอร์ที่เบาะหลังและมีคำถามเกิดขึ้น เช่น ทำไมไม่มีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง เบาะฝั่งผู้โดยสารทำไมไม่ปรับไฟฟ้าเหมือนเบาะผู้ขับ ซึ่งรถที่เป็นพรีเมียม น่าจะต้องมีอะไรที่ทำให้ผู้บริโภคเห็นความแตกต่างด้วยตา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในตลาดบ้านเรา

 

ฟอร์ด เรนเจอร์ แรพเตอร์


  
          แต่จริงๆ แล้วการหมุนเวียนของอากาศในห้องโดยสารก็ไม่ได้เลวร้าย นั่งด้านหลังก็เย็นสบายได้ และเมื่อนั่งไปสักพักก็รู้ว่ามีสิ่งที่ชดเชยได้ ก็คือ ความนุ่มนวล นั่งสบายกว่ารถปิกอัพทั่วไป ซึ่งถนนสายรังสิต องครักษ์ บ่อยมากที่จะเจอถนนที่ไม่เรียบ มีคอสะพาน แต่การดูดซับแรงสั่นสะเทือนทำได้ดี รวมถึงอาคารเด้ง อย่างเช่นช่วงคอสะพานมีน้อย ขณะที่การเก็บเสียงก็ทำได้ดี ช่วงล่างของฟ็อกซ์ เรซซิ่ง เริ่มทำงานให้เห็น  

          ซึ่งระบบกันสะเทือนหน้าของแรพเตอร์เป็นแบบอิสระปีกนกอะลูมิเนียม 2 ชั้น ช็อกแอบซอร์เบอร์ ฟ็อกซ์ เรซซิ่ง ช็อก แบบมีระบบบายพาสภายใน พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังคอยล์โอเวอร์ช็อก พร้อมช็อกแอบซอร์เบอร์ ฟ็อกซ์ เรซซิ่ง ช็อกแบบมีซับแท็งก์ และระบบบายพาสภายในพร้อมด้วยวัตต์ลิงค์เบรกหน้าและหลังเป็นดิสก์เบรกขนาดใหญ่พร้อมครีบระบายความร้อน พวงมาลัย เพาเวอร์ไฟฟ้า 

 

ฟอร์ด เรนเจอร์ แรพเตอร์


          ส่วนออปชั่นต่างๆ ที่ให้มา เช่น ไฟหน้า เอชไอดี โปรเจกเตอร์ เปิด-ปิด อัตโนมัติ ที่ปัดน้ำฝนอัตโนมัติ ไฟตัดหมอกหน้า บันไดข้างอะลูมิเนียมขนาดใหญ่ ดุดัน สปอร์ตบาร์ ราวหลังคา ไฟส่องสว่างกระบะท้าย ฝาท้ายแบบผ่อนแรง
   
          ระบบเทอร์เรน เมเนจเมนต์ ระบบตัดเสียงรบกวนในห้องโดยสาร ระบบช่วยจอด ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ กระจกมองหลังปรับลดแสงอัตโนมัติช่องต่อไฟ 12 โวลต์ และ 230 โวลต์ระบบนำทาง ฟังก์ชันรองรับ แอปเปิ้ล คาร์เพลย์ และแอนดรอยด์ ออโต้ หน้าจอมัลติฟังก์ชัน ระบบเชื่อมต่อบลูทูธระบบสังงานด้วยเสียง ซิงค์ 3
   

 

ฟอร์ด เรนเจอร์ แรพเตอร์

 


          ถุงลม 6 ตำแหน่ง สัญญาณเตือนระยะจอดด้านหน้า สัญญาณเตือนระยะถอยหลัง กล้องมองหลัง ระบบเบรก เอบีเอส และระบบกระจายแรงเบรก หรืออีบีดี ระบบควบคุมสเถียรภาพการทรงตัว (ESP) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี (TCS) ระบบช่วยออกตัวบนเนินชัน ระบบช่วยควบคุมความเร็วเมื่อลงเขา ระบบช่วยทรงตัวเมื่อลากจูง ระบบบป้องกันการพลิกคว่ำ และจุดยึดเบาะนั่งเด็ก
  
          อีกจุดหนึ่งที่น่าพอใจคือความเงียบของห้องโดยสาร รวมถึงยางที่ดอกบั้งขนาดใหญ่ แต่ว่ากลับเงียบอย่างไม่น่าเชื่อเช่นกัน ซึ่งยางที่ใช้เป็นยางออลเทอร์เรนของบีเอฟ กู๊ดริช ขนาด 285/70 R17
  
          ถึงย่านองครักษ์ผมเปลี่ยนมาขับมุ่งหน้าไปขึ้นเขาใหญ่ทางแยกเนินหอมก่อนไปลงอีกทางที่ฝั่งปากช่อง ซึ่งเมื่อได้นั่งประจำที่ผู้ขับ ใช้เวลาไม่นานผมก็ชอบเบาะที่ออกแบบให้แตกต่างจากเรนเจอร์ เป็นเบาะแบบโอบกระชับ ช่วยให้การควบคุมรถทำได้ง่าย ตัวเบาะดูแข็งๆ แต่ดี นั่งไกลๆ ไม่เมื่อย

 

ฟอร์ด เรนเจอร์ แรพเตอร์

 

          ช่วงล่างดีกว่าที่คิด รถนิ่งมาก แม้แอบเติมความเร็วไปที่ระดับ 160 กม./ชม. และเมื่อขึ้นถนนธนรัชต์เขตอุทยานแห่งชาติซึ่งไม่ใช้ความเร็วมาก แต่ความเร็วระดับ 60 กม./ชม. กับถนนที่เต็มไปได้วยโค้งลึกๆ แคบๆ ก็ถือว่าเร็วทีเดียวแหละครับและการทรงตัวของแรพเตอร์ทำได้ดี ปล่อยไหลเข้าโค้งได้ง่ายๆ ขณะที่พวงมาลัยมีความแม่นยำ มีน้ำหนักพอควร ช่วยให้ควบคุมได้ง่ายกว่าพวงมาลัยเบาๆ สบายๆ
   
          อัตราเร่งใช้ได้ เครื่องยนต์เงียบ และการสั่นสะเทือนก็น้อย โดยใช้เครื่องยนต์ดีเซลไบ-เทอร์โบ 2.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 213 แรงม้า ที่ 3,750 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตรที่ 1,750-2,000 รอบ/นาที เกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด มีโหมดสปอร์ตและแพดเดิลชิฟท์แบบแมกนีเซียม ให้เลือกเปลี่ยนเกียร์ด้วยตัวเอง

 

ฟอร์ด เรนเจอร์ แรพเตอร์


   
          ฝั่งปากช่องแถวๆ สนาม 8 สปีด ฟอร์ดไปทำสนามออฟโรดให้ได้ลองระบบหรือว่าโหมดการขับขี่ต่างๆ เช่น บาฮา หญ้า หิน โคลนวิธีเลือกก็ทำได้ง่ายๆ จากปุ่มกดบนบวงมาลัย ส่วนการปรับระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ 4 ล้อแบบเร็ว หรือ 4 ล้อแบบช้า ก็ใช้วิธีหมุนปุ่มควบคุมที่บริเวณคอนโซลเกียร์เท่านั้น ซึ่งที่นี่ได้ทดสอบเรื่องของการปีนเนินชัน การขับเนินสลับให้ล้อสัมผัสพื้นแค่ 2 ล้อ ลอยบนอากาศ 2 ล้อ ดูว่ารถจะฝ่าไปได้หรือไม่ การวิ่งผ่านขอนไม้ดูการดูดซับของช่วงล่าง การลุยน้ำ การขับบนหญ้าที่ลื่นๆ และแน่นอนเนินกระโดดอีก 2 เนิน
  
          ถึงตรงนี้ผมได้คำตอบแล้วว่ามันโดดได้จริง แต่ที่ควรพูดถึงคือตอนลงลงพื้น ซึ่งสปริงและช่วงล่างรองรับได้ดี การกระแทกมีน้อย และการเด้งก็น้อยเช่นกัน

 

ฟอร์ด เรนเจอร์ แรพเตอร์


  
          แรพเตอร์คงไม่ได้หวังให้ใครเอาไปโดดเล่น แต่การสื่อออกมาคงต้องการให้ดูการทำงานของช่วงล่าง กรณีที่มันต้องรับแรงกระแทกอย่างรุนแรงว่าเป็นอย่างไร ซึ่งก็ทำได้ดี รวมถึงการวิ่งผ่านขอนไม้ การออกแบบให้ช่วงล่างรับแรงไป โดยถ้ามองจากภายนอกจะเห็นว่าล้อนั้นขึ้นลงๆ ตามอุปสรรคกีดขวาง แต่ตัวถังจะรักษาแนวขนานกับพื้นโลก นี่เป็นอีกจุดเด่นหนึ่ง

          ไฮไลท์ในวันรุ่งขึ้น เราเดินทางกันต่อผ่านเส้นทางชนบทเล็กๆ ผ่านไร่นา ฟาร์มโคนม เล็กบ้างใหญ่บ้างไปอีกว่า 70 กม. เป้าหมายอยู่ที่ทุ่งกังหันลมห้วยบง ที่มีกังหันมากที่สุดในไทย 150 ตัว
  
          ที่นี่จะได้ลองการขับขี่ โหมด บาฮา ฟอร์ด โดยเลือกใช้เส้นทางจริงที่ชาวบ้านใช้กันผ่านพื้นที่การเกษตรทั้งไร่มันสำปะหลัง ทุ่งข้าวโพด เป็นทางดิน กรวด ลูกรัง เป็นเน้นทางเล็กๆ และมีทั้งหลุม บ่อ ทางแหว่ง ทางยุบ ขึ้นเนิน ลงเนิน ซึ่งการเลือกใช้เส้นทางจริงก็ทำให้ได้อารมณ์กับเส้นทาง ได้ลุ้นได้เสียวสมจริง เพราะหากหลุดจากถนนก็มีหวังลงไปตะกุยหัวมันสำปะหลังหรือสร้างสัญลักษณ์มนุษย์ต่างดาวบนทุ่งข้าวอย่างแน่นอน 
   

 

ฟอร์ด เรนเจอร์ แรพเตอร์


          ฟอร์ดจัดทีมงานนั่งประจำรถด้วยหนึ่งคน แต่ตรงนี้ก็ต้องชมอีกว่าไม่มีหน่อมแน้ม อย่างท่านที่นั่งไปกับผม เป็นเนวิเกเตอร์มืออาชีพสายแรลลี่ พร้อมที่จะบอกให้เติมความเร็วทุกเวลาที่มีโอกาส ไม่มีหรอกที่จะบอกว่าช้าหน่อย เบาหน่อยหากไม่ใช่จุดที่ต้องทำจริงๆ ซึ่งก็จะบอกแค่ว่า “ยกหน่อย” ซึ่งหมายถึงยกเท้าออกจากคันเร่งเท่านั้น
   
          แม้แต่ช่วงที่ทางขรุขระ และต้องวิ่งผ่านรถบรรทุกพืชผลที่จอดกินพื้นที่บนถนน แรพเตอร์ก็พุ่งผ่านมันไปด้วยความเร็ว 120 กม./ชม.
  
          สนุกมากกับการขับขี่เส้นทางนี้ โดยใช้ขับเคลื่อน 4H และโหมดบาฮา ในช่วงทางโค้ง หรือทางแยกต่างๆ แรพเตอร์พุ่งเข้าไปด้วยความเร็ว ใช้ล้อหน้าจิกเข้าไปด้านในโค้ง ท้ายรถกวาดออกด้านนอกโค้งตามแรงเหวี่ยง จนกรวด ดิน ทราย กระจาย และเมื่อตัวรถทำท่าจะตั้งตรงกับเส้นทางใหม่ที่เราจะไป ก็แค่ดึงพวงมาลัยกลับให้ตรง จากนั้นก็กดคันเร่งเพิ่มแรงส่งต่อเนื่องได้ทันที

 

ฟอร์ด เรนเจอร์ แรพเตอร์

 

          มันเป็นรถสแตนดาร์ดที่ทำได้เหมือนกับรถที่ใช้แข่งรายการแรลลี่ ถ่ายทอดอาการรถได้แม่นยำ การแก้ไขและควบคุมได้ง่าย ซึ่งรวมถึงการขับในช่วงเส้นทางตรงๆ หรือเกือบตรงที่ใช้ความเร็วสูงประมาณ 130 กม./ชม. แต่อย่าลืมว่าเป็นทางที่มีทั้งหลุม ร่อง หรือแหว่งๆ ตลอดทาง แต่รถก็ยังคงทรงตัวได้ดี การลงหลุมหรือขึ้นจากหลุมไม่มีการกระเด้ง หรือกระโดดให้รถเสียหลักง่ายๆ อย่างที่บอกวามันพยายามรักษาตัวถังให้ขนานกับผิวโลกมากที่สุด
  
          แต่แน่นอนว่ามันมีการเลื้อยบ้างเล็กน้อยเป็นเรื่องธรรมดา แต่การเลี้ยงพวงมาลัยเพื่อไม่ให้แรพเตอร์พุ่งออกนอกถนน หรือเฉี่ยวรถที่จอดบนถนน ทำได้ง่ายๆ
  
          เสร็จงานแล้ว แรพเตอร์เดินทางกลับกรุงเทพฯ ด้วยสภาพที่จำสีเดิมไม่ได้ ไฟหน้ารถ เปิดก็เหมือนเปิดไฟหรี่ เพราะเต็มไปด้วยโคลนทั้งคัน เป็นการบ่งบอกว่ามันผ่านศึกมาจริง

 

ฟอร์ด เรนเจอร์ แรพเตอร์


  
          ผมยังคงยืนยันว่าแรพเตอร์เป็นปิกอัพทางเลือกที่จะมีเรื่องของจิตใจ ความชอบ เข้ามาเกี่ยวข้องในการซื้อ และเมื่อผ่านการทดสอบต่างๆ มามากมาย ผมก็ได้ข้อสรุปว่าใครที่กำลังซื้อที่เพียงพอและอยากได้ปิกอัพที่มีคุณสมบัติพิเศษก็ซื้อไปเถอะครับ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ