Lifestyle

ขึ้นดอยโล้ชิงช้ากับกลุ่มชาติพันธุ์ที่บ้านแม่สลองใน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่อง-ภาพ : ประเสริฐ เทพศรี

          หลายปีมาแล้วที่อยากจะขึ้นไปดูประเพณีการโล้ชิงช้าของชนเผ่าสักครั้ง และวันนี้มีโอกาสได้มาสัมผัส “ประเพณีโล้ชิงช้า” หรือ “งานเทศกาลปีใหม่โล้ชิงช้าของชาวอาข่า” (อีก้อ) จัดขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระคุณแห่งเทพธิดา “อึ่มซาแยะ” ผู้ประทานความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ให้พืชพันธุ์ธัญญาหาร และเพื่อเป็นการฉลองให้พืชผลที่มีความเจริญงอกงามรอเก็บเกี่ยว รำลึกและให้เกียรติสตรี พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ การเลี้ยงฉลอง การเต้นรำซึ่งแต่ละชุมชนจะไม่ตรงกันเนื่องจากการกำหนดวันจัดพิธีกรรมต้องดูความเหมาะสมของวันที่จะเริ่มทำพิธี แต่จะต้องเป็นวันดีและเข้ากันได้กับผู้นำชุมชนนั้นๆ

ขึ้นดอยโล้ชิงช้ากับกลุ่มชาติพันธุ์ที่บ้านแม่สลองใน

การโล้ชิงช้าแบบคู่

          ประเพณีโล้ชิงช้าหรืออ่าข่าเรียกว่า “แย้ขู่อ่าเผ่ว” มีต้นกำเนิดมาจากดินแดนที่มีชื่อว่า “จาแดลอง” คือพื้นที่ในประเทศจีนในปัจจุบัน มีการกล่าวไว้ว่าดินแดนจาแดลองจะมีการจัดประเพณีโล้ชิงช้าเป็นเวลา 33 วันเมื่อเป็นเช่นนี้คนในดินแดนแห่งนี้ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนรวย จะต้องเตรียมเสบียงอาหารเอาไว้เพื่อใช้ในการฉลองในวันประเพณี

ขึ้นดอยโล้ชิงช้ากับกลุ่มชาติพันธุ์ที่บ้านแม่สลองใน

รวมกลุ่มทุกชาติพันธุ์เต้นรำเปิดงานเทศกาลโล้ชิงช้ากระทุ่งกระบอกไม้ไผ่ บ่อ ฉ่อง ตุ๊ ประจำปี 2561

ขึ้นดอยโล้ชิงช้ากับกลุ่มชาติพันธุ์ที่บ้านแม่สลองใน

ของขายจากชุมชน       

          เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณงานเทศกาลโล้ชิงช้ากระทุ่งกระบอกไม้ไผ่ บ่อ ฉ่อง ตุ๊ ประจำปี 2561 บริเวณลานพระสยามเทวาธิราช บ้านสามแยกอาข่า หมู่ 24 ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นที่จัดงาน ได้เจอกลุ่มชาติพันธุ์แต่งกายด้วยชุดประจำกลุ่มของตัวเองเต็มลานมองแล้วตระการตามาก ชุดสวยงามอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ในงานยังมีการจัดจำหน่ายสินค้าของกลุ่มชาติพันธุ์อีกด้วย

ขึ้นดอยโล้ชิงช้ากับกลุ่มชาติพันธุ์ที่บ้านแม่สลองใน

การเล่นสะบ้า

          ส่วนการโล้ชิงช้าเป็นการละเล่นแบบโบราณของชาวเขาเผ่าอาข่า โดยจะใช้ไม้มงคล 4 ต้นมาผูกเป็นเสาชิงช้า และนำเปลือกไม้มาถักเป็นเชือกสำหรับใช้ยืนหรือนั่งเพื่อโล้ชิงช้า โดยในพิธีโล้ชิงช้าครั้งนี้นอกจากมีพิธีโล้ชิงช้าและชิงช้าหมุน หรือชิงช้าสวรรค์อาข่า ที่ทำขึ้นมาจากไม้ล้วนแล้ว ยังมีการเล่นกระทุ้งกระบอกไม้ไผ่ หรือบ่อฉ่องตุ๊ด้วย

ขึ้นดอยโล้ชิงช้ากับกลุ่มชาติพันธุ์ที่บ้านแม่สลองใน

กลุ่มชาติพันธุ์มาร่วมงานจำนวนมาก

          ชาวอาข่าได้สืบทอดประเพณีนี้มาเป็นเวลา 2,700 กว่าปีแล้ว ประเพณีโล้ชิงช้าจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม และต้นเดือนกันยายน ตรงกับช่วงที่ผลผลิตกำลังงอกงาม ระหว่างนี้ชาวอาข่าจะดายหญ้าในไร่ข้าวเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากดายหญ้าแล้วก็รอสำหรับการเก็บเกี่ยวซึ่งจะตรงกับเดือนของอาข่าคือ “ฉ่อลาบาลา” ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอาข่า ถือเป็นพิธีกรรมมีการส่งเสริมความรู้แล้วยังเกี่ยวพันกับการดำรงชีวิตประจำวันของอ่าข่าอีกด้วย การจัดประเพณีนี้มีทั้งหมดเพียง 4 วัน

ขึ้นดอยโล้ชิงช้ากับกลุ่มชาติพันธุ์ที่บ้านแม่สลองใน

ชนเผ่าไหนให้ดูที่หมวก

          วันที่ 1 “จ่าแบ” ผู้หญิงอาข่าก็จะแต่งตัวด้วยชุดประจำเผ่าเต็มยศแล้วออกไปตัดน้ำที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อจะนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา น้ำที่ตักมาจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์อ่าข่าเรียกว่า “อี๊จุอี๊ซ้อ” การเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วของแต่ละครอบครัว และในวันนี้ก็มีการตำข้าวปุ๊ก “ห่อถ่อง” ข้าวปุ๊ก หรือห่อถ่อง คือข้าวที่ได้จากการตำก่อนที่จะนำข้าวสาร (ข้าวเหนียว) แช่ไว้ประมาณ 1 คืน พอรุ่งเช้าก็นำมานึ่ง หลังจากนึ่งเสร็จ หรือได้ที่แล้วก็จะนำไปโปรยด้วยน้ำอีกรอบหนึ่ง แล้วก็นึ่งต่อระหว่างที่รอข้าวสุก ก็จะตำงาดำผสมเกลือเพื่อไม่ให้ข้าวเหนียวที่ตำติดมือเวลานำมาปั้นข้าวปุ๊กซึ่งต้องใช้ในการทำพิธี

ขึ้นดอยโล้ชิงช้ากับกลุ่มชาติพันธุ์ที่บ้านแม่สลองใน

ชนเผ่าจีน

          วันที่ 2 วันสร้างชิงช้าเป็นวันที่ทุกคนมารวมตัวกันที่บ้านของผู้นำศาสนา เพื่อจะปรึกษาและแบ่งงานในการจะปลูกสร้างชิงช้าของชุมชน หรืออ่าข่า เรียกว่า “หล่าเฉ่อ” ในวันนี้จะไม่มีการทำพิธีใดๆ ทั้งสิ้น แม้กระทั่งสัตว์ก็จะไม่ฆ่า หลังจากที่สร้างชิงช้าของชุมชนเสร็จก็จะมีพิธีเปิดโล้ชิงช้าโดยผู้นำศาสนาจะเป็นผู้เปิดโล้ก่อนจากนั้นทุกคนก็สามารถโล้ได้หลังจากที่สร้างชิงช้าของชุมชนเสร็จแล้ว จึงมาสร้างชิงช้าเล็กที่หน้าบ้านของตนเองอีกเพื่อให้ลูกหลานของตนเล่น ทุกบ้านจะต้องสร้างเพราะถือว่าเป็นพิธี

ขึ้นดอยโล้ชิงช้ากับกลุ่มชาติพันธุ์ที่บ้านแม่สลองใน

การเต้นรำของชาวชนเผ่าในการแสดง

          วันที่ 3 “วันล้อดา อ่าเผ่ว” วันนี้ถือเป็นวันพิธีใหญ่ มีการเลี้ยงฉลองกันทุกครัวเรือนมีการเชิญผู้อาวุโส หรือแขกต่างหมู่บ้านมาร่วมรับประทานอาหารในบ้านของตน ผู้อาวุโสก็จะมีการอวยพรให้เจ้าบ้านประสบแต่ความสำเร็จในวันข้างหน้า

          วันที่ 4 “จ่าส่า” สำหรับในวันนี้จะไม่มีการประกอบพิธีกรรมอะไรทั้งสิ้น นอกจากพากันมาโล้ชิงช้าแต่พอตะวันตกดิน หรือประมาณ 18.00 น. ผู้นำศาสนาก็จะเก็บเชือกชิงช้าโดยการมามัดติดกับเสาชิงช้า ถือว่าบรรยากาศในการโล้ชิงช้าได้จบลงเพียงเท่านี้ และหลังอาหารค่ำก็จะเก็บเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ เข้าไว้ที่เดิม หลังจากที่เก็บเครื่องเซ่นไหว้เหล่านี้แล้วถือว่าเสร็จสิ้นพิธีกรรมประเพณีโล้ชิงช้า

ขึ้นดอยโล้ชิงช้ากับกลุ่มชาติพันธุ์ที่บ้านแม่สลองใน

ชิงช้าสวรรค์ของชนเผ่า

          ประเพณีโล้ชิงช้าถือว่าเป็นการความสำคัญต่อผู้หญิงชาวอาข่ามีการแต่งกายอย่างสวยงามที่เตรียมเอาไว้ตลอดทั้งปีมาสวมใส่เป็นกรณีพิเศษ ในเทศกาลนี้สำหรับหญิงอาข่าจะแต่งกายเพื่อยกระดับชั้นวัยสาวตามขั้นตอน แสดงให้คนในชุมชนได้เห็นพร้อมทั้งขึ้นโล้ชิงช้า

          อยากให้ทุกท่านลองมาสัมผัสประเพณีแบบนี้สักครั้ง...รับรองว่าจะตรึงตาตรึงใจไม่รู้ลืมทีเดียว

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ