Lifestyle

ไขเคล็ดลับ 5 เทคนิค "บริหารสมองดีชีวิตมีสุข"(จบ)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไขเคล็ดลับ 5 เทคนิค "บริหารสมองดีชีวิตมีสุข" ชะลอความเสื่อมของสมองเพื่อชีวิตที่ยืนยาว(จบ) : คอลัมน์...  ดูแลสุขภาพ

 

          สำหรับแนวทางการบริหารและดูแลสมองให้แข็งแรงเพื่อป้องกันโรคความจำเสื่อม ประกอบด้วย 5 ข้อดังนี้

          ข้อที่ 1 การพักผ่อนให้เพียงพอ ในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับนาฬิกาชีวิต ด้วยในแต่ละช่วงเวลาร่างกายมนุษย์จะสร้างฮอร์โมนที่แตกต่างกันออกมาฟื้นฟูสภาพร่างกาย เช่น ไม่ควรเข้านอนหลังเวลา 23.00 น. โดยในวัยผู้ใหญ่ คนทำงาน ควรนอนประมาณ 7–8 ชั่วโมง ผู้สูงอายุเฉลี่ย 6 ชั่วโมง และกลุ่มเด็กที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโตอาจมีระยะเวลานอนมากขึ้น นอกจากนี้ควรงดทำกิจกรรมต่างๆ อย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เช่น ดูโทรทัศน์ หรือออกกำลังกาย เป็นต้น เพื่อป้องกันการตื่นตัวของสมอง ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของการหลับพักผ่อน

ไขเคล็ดลับ 5 เทคนิค "บริหารสมองดีชีวิตมีสุข"(จบ)

 

 

          ข้อที่ 2 การดื่มน้ำในปริมาณที่พอเหมาะกับร่างกายในกลุ่มคนทั่วไป เฉลี่ยประมาณ 2 ลิตรต่อวันเป็นอย่างน้อย เพื่อฟื้นฟูและให้ความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าต่อร่างกายและสมอง

          ข้อที่ 3 การพักสมองจากการทำงานในระหว่างวัน โดยให้ลุกจากโต๊ะทำงานไปยืดเส้นยืดสาย เพราะเป็นการป้องกันไม่ให้สมองมีการทำงานสะสมไปจนถึงจุดสูงสุด จนทำให้เกิดภาวะเครียด หรือเหน็ดเหนื่อยเรื้อรัง ทั้งนี้หากทำได้สมองจะผ่อนคลายทำให้ร่างกายสามารถนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ

          ข้อที่ 4 การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมอง โดยบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ เป็นประจำ

          นพ.สุธี ศิริเวชฏารักษ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด กล่าวเสริมว่า ภาวะออฟฟิศซินโดรม เช่น อาการปวดคอ ปวดบ่า หรือปวดไหล่ เรื้อรังในกลุ่มคนวัยทำงาน หรือความเครียดต่างๆ ที่สะสมไว้ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อต่อสมาธิและการจดจำของสมองผู้ป่วยมักมีอาการสับสน สมาธิไม่ดี ความจำไม่ดี หรือในบางรายอาจมีภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

          ทั้งนี้กลุ่มคนวัยทำงานที่มีอาการของภาวะออฟฟิศซินโดรมดังกล่าว สามารถปรับพฤติกรรมของตัวเองเพื่อรักษาสุขภาพด้วยการปรับอิริยาบถระหว่างทำงานบ่อยๆ รวมถึงใช้เทคนิค

          ข้อที่ 5 เรื่องการออกกำลังกายที่มีประสิทธิภาพและมีประโยชน์ทั้งในด้านกายภาพและสมอง เช่น การวิ่ง การเต้นแอโรบิก การปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโออื่นๆ ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่เน้นการกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต ระบบเผาผลาญ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อหัวใจให้แข็งแรง โดยควรออกกำลังอย่างต่อเนื่องประมาณครั้งละ 20-30 นาที ในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุควรกำหนดการออกกำลังกายให้พอเหมาะ คือเมื่อถึงจุดเหนื่อยแล้วควรหยุดพัก หากร่างกายสามารถปรับตัวได้แล้วจึงค่อยๆ ปรับเวลาการออกกำลังกายให้เพิ่มขึ้นในครั้งถัดไป

          นอกจากนี้ยังพบว่าการเข้าสังคมเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยบริหารสมองให้แข็งแรง โดยใช้ทักษะการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เพื่อกระตุ้นให้สมองทำงานอยู่ตลอดเวลาด้วยการตอบสนองทางอารมณ์

          “ความสามารถในการตอบสนองทางอารมณ์ ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า ‘ความยืดหยุ่นของสมอง’ (neuroplasticity) ซึ่งความยืดหยุ่นของสมองนี้จะค่อยๆ ลดลงเมื่อเรามีอายุมากขึ้น ทำให้มีผลต่อความคิดและความจำ ดังนั้นการดูแลรักษาสมองแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้สมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อมเมื่อสูงวัยได้” นพ.สุธี กล่าวทิ้งท้าย
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
และศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ