Lifestyle

ท่องดินแดนจูราสสิคพาร์คเมืองอุทัยฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชมธรรมชาติสวยๆ ที่ "หุบป่าตาด" ดินแดนจูราสสิคพาร์คเมืองอุทัยฯ

          ใครจะนึกว่าในประเทศไทยจะมีดินแดนดึกดำบรรพ์ แบบในหนังฟอร์มยักษ์ “จูราสสิคพาร์ค” ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯ ออกเดินทางจากตัว จ.อุทัยธานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 333 (อุทัยธานี-หนองฉาง) และเข้าทางหลวงหมายเลข 3438 (หนองฉาง-ลานสัก) ไปอีกประมาณ 90 กิโลเมตร ก็จะถึงจุดหมายที่ “หุบป่าตาด” ต.ทุ่งนางาม อ.ลานสัก ซึ่งอยู่ในความดูแลของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ที่นี่ได้ถูกประกาศจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ เนื่องจากมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่แปลกตาด้วยพันธุ์ไม้หายากมากมายหลายชนิด เช่น ต้นกระพง ยมหิน ยมป่า ต้นไทร และต้นปอหูช้างที่ขึ้นอยู่บนก้อนหิน ไม่ยอมงอกบนดิน ด้วยระบบนิเวศของบริเวณนี้ที่ถือว่ายังคงความสมบูรณ์อยู่มาก จึงเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น เลียงผา ไก่ฟ้า ลิง และนกหลากสายพันธุ์เลยทีเดียว

ท่องดินแดนจูราสสิคพาร์คเมืองอุทัยฯ

บันไดทางเดินที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้

          หุบป่าตาดมีลักษณะเป็นโถงถ้ำขนาดใหญ่ที่ภายในคือผืนป่าที่เต็มไปด้วยต้นตาดและพืชพันธุ์โบราณแปลกตา ซึ่งต้นตาดนั้นจัดเป็นไม้ดึกดำบรรพ์ตระกูลเดียวกับปาล์ม เมื่อมาถึงปากทางขึ้นไปยังหุบป่าตาด จะมีบริการมัคคุเทศก์น้อยนำทางที่คอยเล่าเรื่องราวของป่าดึกดำบรรพ์แห่งนี้ ซึ่งค่าบริการก็แล้วแต่นักท่องเที่ยวจะให้ ก็ดีนะที่มีน้องๆ มาช่วยเราได้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของสถานที่และพันธุ์พืชต่างๆ ได้เข้าใจมากขึ้น ระยะทางการเดินชมธรรมชาติประมาณ 700 เมตร ใช้เวลาเดินชมก็ราว 30 นาที เจ้าหน้าที่แจ้งรายละเอียดความเป็นมาของถ้ำให้เราพอได้ทราบรายละเอียดเบื้องต้นถึงเวลาต้องเดินแล้ว มัคคุเทศก์น้อยเดินนำทางบอกเล่าเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ข้างทางมาเรื่อยๆ ตามทางเดินมีต้นตาดขึ้นปกคลุมหนาแน่นในวงล้อมของผาหินที่มีหินงอก หินย้อย รูปร่างแปลกตา โดยเริ่มจากเดินผ่านไปยังบันไดทางเดินที่ได้จัดทำไว้มาถึงโถงถ้ำที่มืดสนิท ซึ่งทางเข้าออกทางเดียว ต้องลอดอุโมงค์ถ้ำเข้าไป 

ท่องดินแดนจูราสสิคพาร์คเมืองอุทัยฯ

โถงถ้ำที่มืดสนิท

ท่องดินแดนจูราสสิคพาร์คเมืองอุทัยฯ

ความสวยงามภายในโถงถ้ำ

          มัคคุเทศก์น้อยเปิดไฟฉายบางคนก็ใช้ไฟฉายจากมือถือส่องนำทางเดินฝ่าความมืดเข้าไป ภายในถ้ำ มัคคุเทศก์น้อย ฉายไฟให้นักท่องเที่ยวได้ดูหินย้อยตามผนังถ้ำที่มีค้างคาว เดินลอดอุโมงค์ถ้ำหินแสงสว่างอีกฟากหนึ่งของถ้ำทำให้ความรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในยุคไดโนเสาร์เลยทีเดียว เบื้องหน้ามองเห็นเป็นเขาหินปูนกับป่าดงดิบขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยต้นตาดมากมาย (ต้นตาดคือต้นไม้โบราณเป็นพันธุ์เดียวกับปาล์ม) และแปลกตาไปด้วยพันธุ์ไม้ต่างๆ เดินเข้ามาเกือบสุดเส้นทางจะพบกับถ้ำอีก 1 ถ้ำ แบบเปิดโล่งพอเห็นแสง มีหินงอกหินย้อย และหินปูน ซึ่งมีลวดลายหินที่งดงาม หากมาเที่ยวในช่วงกลางวันจะมีแสงอาทิตย์สาดส่องลงมากลางหุบที่ล้อมรอบด้วยภูเขาหินปูนสูงชันจากถ้ำก็มาถึงทางเดินเล็กๆ ซึ่งเต็มไปด้วยป่าตาดเช่นกัน เมื่อมาถึงตรงจุดนี้ลักษณะทางเดิน จะเป็นการเดินกลับไปยังเส้นทางเดิม ระหว่างทางก็จะได้เห็นต้นไม้แปลกหลายชนิด 

ท่องดินแดนจูราสสิคพาร์คเมืองอุทัยฯ

กิ้งกือมังกรสีชมพู

          ถ้าใครเดินทางมาเที่ยวในช่วงฤดูฝนตั้งแต่ประมาณเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน ท่านจะได้พบกับเจ้ากิ้งกือมังกรสีชมพู มีลักษณะโดดเด่นของมันมีลวดลายและปุ่มหนามคล้ายมังกร พบได้ในป่าที่มีความชุ่มชื้นสูงและอุดมสมบูรณ์ เมื่อโตเต็มที่จะมีลำตัวยาวประมาณ 7 เซนติเมตร ถือว่า เป็นสัตว์ที่หาดูได้อยากมาก ท่านจะพบเห็นแห่งเดียวในโลกที่หุบป่าตาดแห่ง แต่ต้องคอยสังเกตให้ดีนะเพราะตัวเล็กมาก น้องมัคคุเทศก์น้อยๆ ของเรายังเล่าอีกว่า ลูกตาดที่เราเห็นเป็นทะลายใหญ่สีดำบนยอดต้นนั้น เนื้อในมีลักษณะคล้ายลูกชิดสามารถนำไปต้มกินได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมกันเนื่องจากมีเนื้อค่อนข้างน้อยนั่นเอง ยังแถมท้ายแนะนำสมุนไพรให้เราอีกอย่าง "อันนี้ต้นกระทืบค่ะพี่” เราไม่เคยได้ยินเลยนะว่ามีต้นกระทืบด้วยหรือ เขาเอาไปใช้ดองเหล้าค่ะหรือส่วนใหญ่เขาเรียกม้ากระทืบโรงค่ะ” แหมน้องเล่นเสียลูกทัวร์ตามไม่ทันเลย

ท่องดินแดนจูราสสิคพาร์คเมืองอุทัยฯ

หินช้างร้อยเชือก

ท่องดินแดนจูราสสิคพาร์คเมืองอุทัยฯ

จุดชมวิวที่เห็นภาพอันน่ามหัศจรรย์ของป่าตาด

          ท่านที่สนใจจะมาเที่ยวชมและมาอุดหนุนน้องๆ มัคคุเทศก์น้อย เชิญดูรายละเอียดเพิ่มเติมตามนี้ครับ หุบป่าตาดเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 08.30-16.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการมาเที่ยวคือช่วง 11.00-13.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่แสงส่องลงมาทำให้เห็นประกายของหินแวววับในโพรงถ้ำสวยงามมาก และยาลืมนำไฟฉายกับยากันยุงมาด้วยนะครับ สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน โทร.0-5698-9128

+++++++++++

ภาพ-เรื่อง :ประเสริฐ เทพศรี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ