Lifestyle

"ฟาร์มทะเลตัวอย่าง" ตามพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มูลนิธิปิดทองหลังพระ พาสื่อมวลชนสัญจรไปศึกษาดูงาน "โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9" จ.เพชรบุรี

"ฟาร์มทะเลตัวอย่าง" ตามพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

      สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพประมง สืบเนื่องจากปัญหาสัตว์ทะเลธรรมชาติในน่านน้ำไทยลดน้อยลงมาก รวมทั้งพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิง และปัจจัยอื่นๆ ที่ใช้ในการออกเรือจับสัตว์น้ำธรรมชาติในทะเลที่ห่างไกล ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น จนกระทั่งสัตว์น้ำที่จับได้ขายแล้วไม่คุ้มทุน

"ฟาร์มทะเลตัวอย่าง" ตามพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทอดพระเนตรโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561

"ฟาร์มทะเลตัวอย่าง" ตามพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

ฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ

       เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 จึงมีรับสั่งกับ สหัส บุญญาวิวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักพระราชวัง และ จรัลธาดา กรรณสูต ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น ว่าในอนาคตผลผลิตสัตว์น้ำทะเลต่างๆ จากฟาร์มทะเลเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสานที่ถูกสุขภาวะอนามัยแวดล้อมจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญ ทดแทนการออกเรือไปจับสัตว์น้ำในทะเลที่ห่างไกล พร้อมทั้งพระราชทานพระราชดำริให้ทำฟาร์มทะเลตัวอย่างในพื้นที่ดินนาเกลือริมทะเล 

      เพื่อเป็นการเผยแพร่ความสำเร็จของโครงการดังกล่าว ซึ่งได้มีการต่อยอดสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงได้พาสื่อมวลชนสัญจรไปศึกษาดูงาน “ชุมชนเข้มแข็ง สืบสานแนวพระราชดำริ” ที่ “โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9” ต.บางแก้ว อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

"ฟาร์มทะเลตัวอย่าง" ตามพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

ประพัฒน์ กอสวัสดิ์พัฒน์ พาชมฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่น

        ประพัฒน์ กอสวัสดิ์พัฒน์ นักวิชาการประมงชำนาญการ ผู้จัดการฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ เล่าว่า ที่นี่เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2552 และเริ่มเดินเครื่องทำงานในปี 2554 ผ่านมา 7 ปีแล้ว ที่นี่นับเป็นฟาร์มทะเลแบบผสมผสานบนแผ่นดินชายฝั่งแห่งแรกที่จำลองนิเวศวิทยาทางทะเลครบวงจรทุกช่วงความเค็ม ยกขึ้นไปไว้ในฟาร์มบนแผ่นดินชายฝั่งระบบปิด-รีไซเคิล ที่น้ำไหลขึ้นลงบำบัดตัวเอง สอดคล้องทั้งวงจรน้ำทะเลและวงจรอาหารธรรมชาติต่อเนื่อง มีการวางระบบการหมุนเวียนของน้ำระหว่างน้ำจืดกับน้ำทะเลให้สมดุลและเหมาะสมกับการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำทะเลแต่ละช่วงชีวิต สามารถเลี้ยงสัตว์สองน้ำ เช่น กุ้งก้ามกราม ปลานวลจันทร์ทะเล ปลากะพงขาว และปลาน้ำเค็ม เช่น ปลากุดสลาด ปลากะรัง ปลาหมอทะเล เป็นต้น รวมถึงการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น

      การที่ในฟาร์มมีระบบท่อน้ำเชื่อมโยงถึงกันทุกฟาร์มย่อย ของเสียจากทุกฟาร์มย่อยจะถูกนำมาใช้เป็นอาหารของไรน้ำเค็ม (อาร์ทีเมีย) ที่ดำรงชีวิตโดยการกรองกินอินทรีย์สารทุกชนิด และตัวไรน้ำเค็มเองสามารถนำมาใช้เป็นอาหารของสัตวน้ำวัยอ่อนในฟาร์มด้วย น้ำที่เค็มจัดจากการเลี้ยงไรน้ำเค็มจะส่งต่อไปยังแปลงสาธิตการทำนาเกลือ ซึ่งได้พัฒนาต่อยอดไปสูการทำน้ำทะเลธรรมชาติแบบผง เป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตเกลือให้มีราคาสูงขึ้น และกระบวนการสุดท้ายของการทำนาเกลือจะได้ปุ๋ยสำหรับนำไปเพาะปลูกต้นไม้ ถือเป็นฟาร์มซีโร่เวสต์ ที่ไม่มีการปล่อยน้ำเสียจากฟาร์มสู่สิ่งแวดล้อม

      นอกจากนี้ในทะเลยังมีแปลงสาธิตการเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแพเชือก ซึ่งเป็นรูปแบบการเลี้ยงใหม่ที่ลดปัญหาการตายของหอยแมลงภู่จากการหักล้มของหลักไม้ในฤดูมรสุม และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมบริเวณแปลงเลี้ยง ทั้งยังมีประโยชน์เป็นเสมือนปะการังลอยน้ำสำหรับเป็นที่อาศัยหลบซ่อนของปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กจนถึงวัยเจริญพันธุ์ สร้างความอุดมสมบูรณ์แก่ท้องทะเล

"ฟาร์มทะเลตัวอย่าง" ตามพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

สาหร่ายพวงองุ่น

       โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างตามพระราชดำริแห่งนี้ ถือเป็นแหล่งศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการประมงแก่เกษตรกรทั้งในและต่างพื้นที่ ได้นำไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพประมงทางเลือกโดยไม่ต้องออกเรือไปจับสัตวน้ำในทะเลที่ห่างไกลเหมือนในอดีต ชุมชนชาวประมงผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และผู้ที่สนใจทั่วไปสามารถนำความรู้จากการดูงาน ศึกษาเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำฟาร์มทะเลแบบผสมผสาน ไปเป็นตัวอย่างปรับให้เหมาะสมกับสภาพพื้นถิ่นของตัวเอง

       “ขณะนี้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นไฮไลท์ของฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ คือสาหร่ายพวงองุ่น ซึ่งกำลังได้รับความนิยมด้วยคุณประโยชน์ที่มากมาย สามารถกินสดและนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด ที่นี่เป็นศูนย์การจัดฝึกอบรมทั่วประเทศ ซึ่งมีทั้งการทำแบบชาวบ้านที่จะเพาะเลี้ยงในนาเกลือ และการทำแบบเต็มรูปแบบโดยใช้ระบบจากที่นี่ไปเป็นต้นแบบ ในส่วนของ จ.เพชรบุรี เองเริ่มส่งเสริม ค้นคว้า และทดลองปลูกที่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2555-2556 จนได้รูปแบบที่เหมาะสมเมื่อราวปี 2557 จึงส่งต่อมาที่ฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ รับช่วงมาขยายผลในเชิงพาณิชย์และส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกต่อ ซึ่งตอนนี้มีเกษตรกรเปิดเป็นฟาร์มแล้วทั้งหมด 14 ฟาร์ม ในจำนวนนี้มีถึง 3 ฟาร์มที่ได้มาตรฐานจีเอพีจากกรมประมง (การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี : Good Aquaculture Practice)” ผู้จัดการฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ เผยข้อมูล

"ฟาร์มทะเลตัวอย่าง" ตามพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

นงนภัส อภิกรรัตน์

      หนึ่งในเจ้าของฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่นที่ได้มาตรฐานจีเอพี “กิ” นงนภัส อภิกรรัตน์ ข้าราชการวัย 39 ปี หนึ่งในสี่หุ้นส่วนเจ้าของฟาร์ม “เบ็ญจมาศ กรีนคาร์เวีย” ซึ่งหันมาเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นเป็นอาชีพเสริม เล่าว่า สาหร่ายพวงองุ่นเป็นสิ่งแปลกใหม่ในท้องตลาดที่น่าจะได้รับการตอบรับดี ทั้งยังศึกษาแล้วพบว่ามีประโยชน์มากมาย จึงเริ่มเข้าไปอบรมที่ฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ เมื่อราว 2 ปีก่อน ได้ไอเดียดีๆ กลับมาเยอะ จึงนำความรู้ที่ได้มาทดลองเพาะพันธุ์ในพื้นที่เล็กๆ ก่อนแล้วค่อยๆ ขยายขึ้นเป็นฟาร์มบนเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ 

"ฟาร์มทะเลตัวอย่าง" ตามพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

เมี่ยงคำสาหร่ายพวงองุ่น

       “ฟาร์มของเรามีสาหร่ายที่สามารถเก็บขายได้ 4 บ่อและกำลังเพาะพันธุ์เพิ่มอีก 2 บ่อ สามารถเก็บผลผลิตได้วันละ 50-100 กิโลกรัม แบ่งเป็นเกรดช่อขายราคากิโลกรัมละ 200 บาท และเกรดพรีเมียมราคากิโลกรัมละ 350 บาท ส่งขายทั่วประเทศและเปิดขายหน้าฟาร์มสร้างรายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่นลูกค้าจะเยอะมาก” นงนภัส กล่าว

"ฟาร์มทะเลตัวอย่าง" ตามพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

สโรชา กิ่งสอาด-สยาม พลายแก้ว

     ไม่ต่างจาก สโรชา กิ่งสอาด เกษตรกรวัย 28 ปี เล่าว่า เข้าไปทำงานที่ฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ นานกว่า 3 ปี จึงนำความรู้และประสบการณ์ต่างๆ กลับมาทำเองในบ่อขนาดประมาณ 2 ไร่ เริ่มเพาะเลี้ยงเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยใช้ต้นพันธุ์ 50 กิโลกรัม ผ่านไปประมาณเดือนเศษๆ สาหร่ายก็เริ่มออกผลให้เก็บเกี่ยวได้ ทุกวันนี้จะได้ประมาณ 1,000 กิโลกรัมต่อเดือน กำไรอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นบาท นับว่าเป็นรายได้เสริมที่ดีมาก

      "ความรู้ที่ได้จากโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ สามารถนำมาต่อยอดในการประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้จริง เห็นได้ชัดว่าตลอด 7 เดือนที่ผ่านมารายได้ของครอบครัวเพิ่มขึ้นมาก ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งเรายังสามารถนำความรู้นี้ไปแบ่งปันผู้อื่นต่อไปได้ด้วย" เกษตรกรสาว เล่าระหว่างพาชมบ่อปลูกสาหร่ายพวงองุ่น

"ฟาร์มทะเลตัวอย่าง" ตามพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเกลือ

       นอกจากอาชีพปลูกสาหร่ายพวงองุ่นที่ทางฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ ส่งเสริมให้ชาวบ้านแล้ว ด้วยความที่ อ.บ้านแหลม เป็นแหล่งผลิตเกลือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีพื้นที่ถึง 32,000 ไร่ แต่ราคาเกลือตกต่ำมากเหลือเพียงเกวียนละ 600 บาท ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันนำเกลือมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างกลุ่มอาชีพเกลือทะเลกังหันทอง สมพงษ์ หนูศาสตร์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านร่องใหญ่ และประธานกลุ่มอาชีพเกลือทะเลกังหันทอง เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2546 ราคาเกลือตกมากจึงได้รวบรวมสมาชิกจัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพเกลือทะเลกังหันทองขึ้น และคิดหาทางเพิ่มมูลค่าเกลือ จนปัจจุบันทางกลุ่มมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเกลือแล้วกว่า 10 ชนิด อาทิ สบู่ เกลือขัดผิว สบู่เหลว โลชั่นทาตัว ฯลฯ และยังเปิดบริการสปา ทั้งนวดหน้านวดตัวด้วยผลิตภัณฑ์ของทางกลุ่มฯ มีชาวบ้านในพื้นที่ที่ว่างเว้นจากช่วงทำนาเกลือมาทำอาชีพเสริมกันหลายคน เป็นการกระจายรายได้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

"ฟาร์มทะเลตัวอย่าง" ตามพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

ทำนาเกลือที่ อ.บ้านแหลม

       "เป็นผลพลอยได้จากที่ฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ ตั้งอยู่ที่นี่ ชาวบ้านในพื้นที่จึงได้เรียนรู้วิธีการนำน้ำทะเลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น การนำเกลือมาทำเกลือสปาก็ล้วนเป็นการต่อยอดความรู้ที่ได้จากฟาร์มทะเลตัวอย่างฯ ทั้งสิ้น" ผู้ใหญ่บ้านบ้านร่องใหญ่กล่าว

"ฟาร์มทะเลตัวอย่าง" ตามพระราชดำริสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

สครับผิวด้วยผลิตภัณฑ์จากกลุ่มเกลือทะเลกังหันทอง

      ด้วยน้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงช่วยพลิกฟื้นให้เกษตรกรในแถบชายฝั่งทะเลมีอาชีพที่ยั่งยืน ทั้งยังส่งผลถึงคุณภาพชีวิตที่พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้...

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ