Lifestyle

4 เหตุผลดีๆ กับการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เพียงแค่พริบตาเดียว วันเวลาในปี พ.ศ. 2561 ก็ล่วงมาจนถึงวันที่ 204 ของปีนี้แล้ว เวลาและวารีไม่เคยรอใครอย่างที่สุภาษิตไทยสอนเรากันไว้จริงๆ

 

          และผมเชื่อว่าหลายคนซึ่งรวมทั้งตัวผู้เขียนเองด้วย เริ่มรู้สึกว่าเพียงแค่ไม่กี่พริบตา เราก็เดินทางมามากกว่าครึ่งทางของชีวิต

          ล่าสุด สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เปิดเผยว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 16.8 ของประชากรทั้งประเทศ และยังพบอีกว่า ร้อยละ 35.8 ของผู้สูงอายุทั้งหมดยังคงต้องทำงานต่อไป และแนวโน้มที่ผู้สูงอายุยังต้องทำงานนับวันก็จะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ 
 

          อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุที่ยังสามารถทำงานต่อได้เป็นผู้สูงอายุที่ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้างถึงร้อยละ 61.6 ในขณะที่เป็นลูกจ้างเอกชนและลูกจ้างรัฐบาลเพียงร้อยละ 12.2 และ 2.2 ตามลำดับ
    
          หลายคนมักคิดว่าการวางแผนเกษียณเป็นเรื่องของคนแก่ ไว้ใกล้ๆ เกษียณแล้วค่อยคิดกันอีกทีก็ได้ อีกตั้งนาน แต่จริงๆ แล้วมีอยู่ 4 เหตุผลว่าทำไมทุกคนควรจะต้องเริ่มวางแผนเกษียณกันตั้งแต่วันนี้

 

4 เหตุผลดีๆ กับการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูง

 

          1. เราอาจไม่สามารถดูแลตัวเองได้ดี หรือไม่ได้เลยเมื่อเกษียณ
          สุขภาพกายของมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สามารถใช้แรงกายทำงานได้จนหมดลมหายใจ แต่ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวันก็ยังคงมีอยู่ต่อไปไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าเครื่องนุ่งห่ม ค่าดูแลรักษาบ้าน และค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่
    
          การสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2557 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าในระหว่าง 7 วันก่อนวันสัมภาษณ์ ผู้สูงอายุประเมินว่าร่างกายโดยรวมมีภาวะสุขภาพดีมากและดีรวมกันไม่ถึงร้อยละ 50 

 

4 เหตุผลดีๆ กับการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูง

 

          2. เราอาจไม่มีลูกหลานดูแล หรือลูกหลานอาจไม่สามารถดูแลเรา
          ข้อมูลสถิติจากธนาคารโลกพบว่า ในปี พ.ศ. 2503 อัตราการเจริญพันธุ์หรือจำนวนเฉลี่ยของการผู้หญิง 1 คนจะมีการคลอดบุตร 6.15 คน แต่ในปี พ.ศ. 2557 อัตราการเจริญพันธุ์ลดลงเหลือเพียง 1.51 คนเท่านั้น

          3. เราอาจไม่มีคนอื่นมาดูแล
          องค์กรภาครัฐหรือองค์กรสาธารณกุศลคงไม่สามารถดูแลเราทุกคนได้อย่างที่แต่ละคนต้องการอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่อายุ 60-69 ปี ก็จะได้รับเพียงแค่ 600 บาท เมื่ออายุ 70-79 ปี จะได้รับเพิ่มขึ้นเป็น 700 บาท เมื่ออายุ 80-89 ปี จะได้รับเพิ่มขึ้นอีกเป็น 800 บาท ในขณะที่ผู้สูงอายุ 90 ปีขึ้นไป ก็จะได้รับเพียงแค่ 1,000 บาท ซึ่งอาจไม่เพียงพอสำหรับมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ต้องการสำหรับหลายๆ คน

 

4 เหตุผลดีๆ กับการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูง

 

          4. เราอาจมีเวลาที่ต้องดูแลตัวเองหลังเกษียณยาวนานขึ้น
          หลายคนที่กล่าวสาธุทุกครั้งเมื่อได้รับพรจากพระ 4 ประการว่า ‘อายุ วรรณะ สุขะ พละ’ ก็อาจเปลี่ยนใจไม่อยากรับพร เมื่อรู้ว่าอายุขัยหลังเกษียณอาจยืนยาวมากขึ้นจนน่าตกใจ
    
          ข้อมูลจากศูนย์ศตวรรษิกชนซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผู้สูงอายุและศตวรรษิกชนหรือประชากรที่มีอายุร้อยปีขึ้นไปในประเทศไทย พบว่าในการประชุมอายุยืนยาวระหว่างประเทศที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส (Anti- Aging World Conference) ในปี ค.ศ.2005 ได้รายงานทางวิชาการว่า...
    
          มนุษย์น่าจะมีอายุยืนยาวเป็นปกติถึง 200 ปี! ผมคิดว่าเอาเพียงแค่ครึ่งหนึ่ง หรือ 100 ปี เราก็คงต้องมาเอาเท้าก่ายหน้าผากกันแล้วว่าจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ ถ้าไม่วางแผนเพื่อวัยเกษียณกันตั้งแต่วันนี้

............................................
4 เหตุผลดีๆ กับการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ : By ดร.ธนาวัฒน์ สิริวัฒน์ธนกุล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรรมการสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ผู้เขียนหนังสือ รวยเงินรวยสุข บันไดเลื่อนสู่ความร่ำรวย และอยากรวยต้องรู้ธรรม สามารถติดตามอ่านเรื่องการวางแผนและลงทุนทางการเงินเป็นประจำได้ที่นี่ 
ที่มา : Rabbit Today

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ