Lifestyle

หนาวนี้ขึ้นดอยไปเด็ดยอดชา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน หลายดอยเขียวขจีไปด้วยไร่ชา ปลูกเป็นแถวเป็นแนวสวยงามดึงดูดให้คอชารวมถึงนักท่องเที่ยวธรรมชาติเดินทางไปเยือนได้ตลอดทั้งปี

หนาวนี้ขึ้นดอยไปเด็ดยอดชา

      มีอยู่ช่วงหนึ่งที่คนไทยเห่อดื่มชาเขียวกันทั่วบ้านทั่วเมือง จะด้วยเห็นประโยชน์หรือจากการอัดโปรโมชั่นชิงรางวัลใหญ่ก็ตาม เครื่องดื่มชาเลยฮิตติดลมบนแม้บางช่วงความนิยมจะขึ้นๆ ลงๆ แต่ภาพรวมถือว่ายังไปได้สวยโดยเฉพาะกลุ่มคนอายุน้อยๆ ที่ยังคงติดใจในรสชาติ เช่นเดียวกับไร่ชาที่ขยายพื้นที่ปลูกเรื่อยๆ เพื่อรองรับความต้องการ ยิ่งภาคเหนือที่เป็นฮับของชาอยู่แล้วเร่งเพิ่มแปลงปลูกกันโครมคราม พื้นที่หลักๆ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน หลายดอยเขียวขจีไปด้วยไร่ชา ปลูกเป็นแถวเป็นแนวสวยงามดึงดูดให้คอชารวมถึงนักท่องเที่ยวธรรมชาติเดินทางไปเยือนได้ตลอดทั้งปี

หนาวนี้ขึ้นดอยไปเด็ดยอดชา

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม พูดคุยกับเกษตรกรผู้ปลูกชาบ้านแม่หม้อ

      หนาวนี้ก่อนแพ็กกระเป๋าออกเดินทางไปสัมผัสรสชาอุ่นๆ กรุ่นกลิ่นหอมละมุน อยากให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ชาไทย” เพื่อการท่องเที่ยวได้อย่างมีอรรถรส โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรงพาณิชย์ นำโดยท่านอธิบดีคนขยัน อรมน ทรัพย์ทวีธรรม เป็นหัวหน้าคณะพาตะลุยไร่ชาและโรงงานในพื้นที่ตำบลแม่สลองนอก, แม่สลองใน และ ต.เทอดไทย จ.เชียงราย พร้อมเปิดวงสัมมนาติดตามความพร้อมแสวงหาประโยชน์และรับมือการค้าเสรีให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมชาตลอดห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ปลูกชา โรงงานชา ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก คุยกันยาวๆ ให้สมกับที่ไทยเป็นเจ้าแห่งการส่งออกชาอันดับ 4 ของโลก เป็นรองก็เพียงแคนาดา สหรัฐอเมริกา และจีน มูลค่าเมื่อปี 2560 เหนาะๆ ราว 1,000 ล้านบาทเท่านั้นเอง 

หนาวนี้ขึ้นดอยไปเด็ดยอดชา

ไร่ชาบนดอยแม่สลอง

      ว้าว...พืชใบเขียวเล็กๆ มีมูลค่ามหาศาลเพียงนี้เชียวหรือ? ว่าแล้วคณะทัวร์ไร่ชา 10 กว่าชีวิตเปลี่ยนพาหนะจากเครื่องบินที่ร่อนลงที่สนามบินนานาชาติแม่ฟ้าหลวง เชียงราย เป็นรถตู้มุ่งหน้าสู่ดอยแม่สลอง ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง ไม่ได้ไปชมซากุระบนดอยเพราะช่วงนี้ยังไม่ผลิดอก แต่จุดหมายคือ “ไร่ชา จตุพลชาไทย” ไร่ชาเอกชนที่จะทำให้นักดื่มชาได้รู้สายพานการผลิตชา ตั้งแต่เด็ดยอดจากต้นลำเลียงสู่โรงงาน ผ่านกระบวนการผลิตจนถึงบรรจุหีบห่อสวยงามพร้อมส่งออก 

หนาวนี้ขึ้นดอยไปเด็ดยอดชา

แดเนียล ลี ชงชาให้ผู้มาเยือนได้ชิม

      ที่นี่เราได้พบกับทายาทรุ่นที่ 3 ของไร่วัย 27 ปี ศุภกิตติ์ ชีวินเฉลิมโชติ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “แดเนียล ลี” หนุ่มไฟแรงหัวคิดทันสมัยช่วยครอบครัวบริหารไร่และโรงงานชามาได้ระยะหนึ่งแล้ว เจ้าตัวเล่าว่า ดอยแม่สลองปลูกชามาตั้งแต่ปี 2518 เริ่มจาก “พันธุ์ชาป่า” เมื่อผลผลิตดีมีคุณภาพจึงได้รับการส่งเสริมให้ปลูกมากขึ้น และเริ่มพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ต่อมาปี 2530 ผู้เชี่ยวชาญด้านชาจากไต้หวันได้เข้ามาถ่ายทอดเทคนิคการปลูกชาขั้นสูง รวมถึงนำชาพันธุ์ “อู่หลง” มาทดลองปลูก พร้อมสอนการแปรรูปให้ด้วย

หนาวนี้ขึ้นดอยไปเด็ดยอดชา

เช้าๆ ออกไปเด็ดยอดชา

หนาวนี้ขึ้นดอยไปเด็ดยอดชา

โรงงานชาโชคจำเริญ ของไร่จตุพล

     ทุกวันนี้ทั้งดอยมีการปลูกชารวม 1,200 ไร่ ในส่วนของไร่จตุพลมี 300 ไร่ ปลูกชาไต้หวัน 5 สายพันธุ์ เช่น อู่หลงก้านอ่อน สายพันธุ์ชาอู่หลง หมายเลข 17 ปลูกบนพื้นที่บนภูเขาสูงกว่าระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,350 เมตรขึ้นไป ยอดใบชาเป็นทรงเรียวเล็ก น้ำสีเหลืองทอง  รสชาตินุ่มลึกหอมเข้ม ช่วงราคาดีๆ กิโลกรัมละ 5 หมื่นทีเดียว, อู่หลงจิงเซียน สายพันธุ์ชาอู่หลง หมายเลข 12 ปลูกบนพื้นที่บนภูเขาสูงกว่าระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป ยอดใบชาเป็นทรงเรียวใหญ่ น้ำสีเหลืองอ่อน รสชาตินุ่ม เบาบาง หอมกลิ่นดอกชาจากธรรมชาติ, ชาอู่หลงสี่ฤดู สายพันธุ์ชาอู่หลง หมายเลข 21 ปลูกบนพื้นที่บนภูเขาสูงกว่าระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,500 เมตรขึ้นไป ผลิใบเฉพาะฤดูหนาว เด็ดช่วงเช้า ยอดใบชาเป็นทรงเรียวเล็กแหลม น้ำสีทอง รสชาติหอมใบชาสด ติดลิ้นชุ่มคอนาน เป็นต้น ที่ว่ามาถือเป็นพันธุ์ขายดีและได้รับความนิยมจากนักดื่มสูงสุด เน้นส่งออกไปจีน ไต้หวัน รัสเซีย อเมริกา และเยอรมนี

หนาวนี้ขึ้นดอยไปเด็ดยอดชา

ความแตกต่างของน้ำชาพันธุ์ต่างๆ 

       แดเนียล บอกว่าที่ชาไทยได้รับความนิยมอย่างมากจากคอชาต่างประเทศ อาจเพราะรสชาติดี มีความคงที่ กลิ่นหอมธรรมชาติ ยิ่งตอนนี้ส่งเสริมการปลูกแบบออแกนิกด้วยยิ่งได้รับความสนใจ ที่สำคัญทำให้ขายได้ราคาดีเท่าตัว ช่วงหน้าหนาวราวตุลาคมถึงพฤศจิกายนราคาจะดีสุด เทคนิคการเก็บชาให้ได้คุณภาพต้องเก็บตอนเช้า แต่ถ้าวันไหนฝนตกจะงดเด็ดยอดชาเพราะชาจะอมน้ำทำให้รสจืด เก็บมาตากแดด 3-5 ชม. แล้วใส่ตะแกรงเขย่าช่วยให้กลิ่นหอมออกมา ทิ้งไว้ในกระด้งอีก 8 ชม.แล้วนำมาคั่ว พักไว้ให้ชาสลด นำไปนวดก่อนจะบีบอัดเป็นรูปดอกบัวซึ่งขั้นตอนนี้ถือว่ายากสุด 

หนาวนี้ขึ้นดอยไปเด็ดยอดชา

การคัดแยกคุณภาพชา

       สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจเรื่องชา ตอนนี้สามารถแวะเช็กอินกับไร่ชากว้างสุดลูกหูลูกตาเท่านั้น ยังไม่สามารถลองเด็ดได้เพราะการผลิตชาแบบออแกนิกจะเข้มงวดมาก และในอนาคต แดเนียล แย้มว่าจะมีกิจกรรมเสริมอีกมากมายเกี่ยวกับชาให้ได้สนุก ไม่ว่าจะเป็นการเด็ดยอดชา, ผสมชา, ปรุงชา, จิบชา ไปจนถึงที่พักแบบโฮมสเตย์บ้านดิน เพราะดอยแม่สลองเป็นดอยท่องเที่ยวอยู่แล้วแต่ที่พักที่อิงแอบใกล้ชิดธรรมชาติยังไม่ค่อยเห็น ขณะนี้รอปรับพื้นที่ในการสร้างบ้านดินคาดว่าอีกไม่เกิน 2 ปีเปิดให้บริการได้แน่นอน 

หนาวนี้ขึ้นดอยไปเด็ดยอดชา

แทรกตัวในไร่ชาแล้วแชะ

       ไม่ไกลจากกันที่ “บ้านแม่หม้อ” มองออกไปแทบทุกหัวดอยละลานตาไปด้วยต้นชาพันธุ์ต่างๆ  แน่นอนว่ามีชาป่าหรือ “ชาอัสสัม” ต้นกำหนดมาจากอินเดีย ลักษณะเด่นคืออายุยืนเป็นร้อยปี ไม่ต้องดูแลเยอะ นอกจากจะเป็นพืชเศรษฐกิจแล้วยังช่วยรักษาป่า ลดการพังทลายหน้าดิน ซึ่งตลาดหลักคือเครื่องดื่มชายี่ห้อดังหลายยี่ห้อรับซื้อไปแปรรูป นอกจากนี้ยังมีการปลูก “ชาน้ำมัน” ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขา เช่น อาข่า, ม้ง, ลีซอ, เย้า เป็นต้น ปลูกตั้งแต่ปี 2549 บนเนื้อที่ราว 2,000 ไร่ ให้ชาวบ้านดูแลเป็นป่าชุมชน แก้ปัญหาไฟป่า จากนั้นมูลนิธิชัยพัฒนารับไปแปรรูปติดแบรนด์ “ภัทรพัฒน์”ตอบสนองคอชา

หนาวนี้ขึ้นดอยไปเด็ดยอดชา

แวะชิมขาหมูยูนนาน และซื้อของที่ระลึกที่ร้านดอยหมอกดอกไม้ ดอยแม่สลอง

หนาวนี้ขึ้นดอยไปเด็ดยอดชา

      นับว่าชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าได้ตั้งแต่ระดับเกษตรกรรายย่อยไปจนถึงผู้ผลิตรายใหญ่เพื่อการส่งออก ที่แน่ๆ ทำให้นักท่องเที่ยวธรรมชาติอย่างเราๆ ได้สัมผัสรสและกลิ่นชาอย่างเข้าถึง...@

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ