Lifestyle

ไตรมงคลสักการะ ณ พระอารามหลวง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระอารามหลวงคู่บ้านคู่เมือง

         เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ไตรมงคลสักการะ เดอะวิสดอมกสิกรไทย จัดเอ็กซ์คลูซีฟทริป “เดอะซิมโบล ออฟ ยัง เจอร์นีย์" เชิญลูกค้าเดอะวิสดอมร่วมทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ณ พระอารามหลวงสำคัญที่ล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่ตั้งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง มีสถาปัตยกรรมที่งดงาม และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว, วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร และ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร โดยได้รับเกียรติร่วมเดินทางและบรรยายประวัติความเป็นมาของแต่ละสถานที่สำคัญจาก ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทย

ไตรมงคลสักการะ ณ พระอารามหลวง

ไตรมงคลสักการะ ณ พระอารามหลวง

ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

         เริ่มต้นกิจกรรมไตรมงคลสักการะครั้งนี้ ด้วยมงคลแห่งพระพุทธ ศ.พิเศษ ธงทอง นำคณะผู้บริหารและลูกค้าเดอะวิสดอมสักการะ “พระแก้วมรกต” หรือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์คู่กรุงรัตนโกสินทร์ มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน พบครั้งแรกที่จังหวัดเชียงรายและเคยถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่เวียงจันทน์กว่า 200 ปี พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักขึ้นจากหยก ด้วยความพิเศษที่มีเนื้อหินเป็นสีเขียวเข้มคล้ายสีของมรกต และในสมัยก่อนหินมีค่าที่ออกสีเขียวทั้งปวงก็จะนิยมเรียกว่า หินมรกต โดยเมื่อปี พ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้อัญเชิญจากประเทศลาวมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถของพระอารามใหม่ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างพระบรมมหาราชวัง แล้วพระราชทานนามพระอารามว่า “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” เป็นพระอารามหลวงชั้นพิเศษ ตั้งอยู่บริเวณเขตพระราชฐานชั้นนอก ซึ่งวัดที่สร้างในเขตพระราชฐานจะมีความแตกต่างจากวัดทั่วไป คือ มีเฉพาะเขตพุทธาวาสเท่านั้นไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ดังนั้น วัดพระแก้วจึงเป็นวัดสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ตามโบราณราชพิธี

ไตรมงคลสักการะ ณ พระอารามหลวง

         จากนั้นเดินทางต่อเพื่อสักการะมงคลแห่งพระธรรม ที่ "วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร" ด้วยการรับฟังพระธรรมเทศนา “มงคลในการใช้ชีวิต” โดย พระเทพกิตติเวที เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร เป็นพระธรรม คำสอนและข้อคิดให้ผู้ที่นำไปปฏิบัติเกิดสติและตั้งตนอยู่บนความไม่ประมาท สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เดิมชื่อ วัดแหลม หรือวัดไทรทอง ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าพนมวัน กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเจ้าจอมมารดาศิลา ตั้งกองกำลังปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ที่วัดแหลม หลังจากสำเร็จได้มีพระประสงค์ที่จะร่วมปฏิสังขรณ์วัดแหลมพร้อมกับพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันอีก 4 พระองค์ จึงได้สร้างเจดีย์เรียงรายไว้หน้าวัด 5 องค์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดเบญจมบพิตร” หมายความว่า วัดของเจ้านาย 5 พระองค์ ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์ให้สร้างอุทยานสวนดุสิตขึ้นซึ่งอยู่ติดกับวัดเบญจมบพิตรซึ่งในเวลานั้นชำรุดทรุดโทรมแล้ว จึงมีพระราชดำริที่จะทรงทำผาติกรรม สถาปนาวัดขึ้นใหม่ และพระราชทานนามใหม่ให้ว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

ไตรมงคลสักการะ ณ พระอารามหลวง

ไตรมงคลสักการะ ณ พระอารามหลวง

         ปิดท้ายกิจกรรมในครั้งนี้ด้วยมงคลแห่งพระสงฆ์ ที่ “วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร” โดยคณะสงฆ์รามัญร่วมกันประกอบพิธีทำน้ำพระพุทธมนต์พระปริตรรามัญ ด้วยพิธีการสวดแบบรามัญ ถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่ทำในวังหลวงสืบทอดมาตั้งแต่ราชสำนักอยุธยาจนถึงปัจจุบัน วัดชนะสงคราม จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นโท เดิมชื่อ “วัดกลางนา” ในสมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ทรงรวบรวมชายชาวมอญจากพื้นที่ต่างๆ เข้ามาเป็นกองกำลังทหารในการสู้รบกับพม่า รวมถึงได้ก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดกลางนาให้พระสงฆ์มอญได้จำพรรษา หลังจากเสร็จศึกสงครามแล้วทรงได้บูรณะวัดและน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวงแด่รัชกาลที่ 1 ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดชนะสงคราม” เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาททรงมีชัยชนะต่อพม่า

ไตรมงคลสักการะ ณ พระอารามหลวง

         สำหรับ "พิธีทำน้ำพระพุทธมนต์พระปริตรรามัญ" ถือเป็นโบราณประเพณีเก่าแก่ที่มีความสำคัญในวังหลวงที่ใช้เป็นส่วนผสมสำหรับน้ำสรงพระพักตร์ของพระมหากษัตริย์ และน้ำโสรจสรง อีกส่วนหนึ่งเพื่อประพรมพระที่นั่งสำคัญในเขตพระราชฐานชั้นใน เนื่องจากมีความเชื่อว่าพระสงฆ์มอญมีความเก่งกาจในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของวิทยาคมและน้ำพระพุทธมนต์พระปริตรนี้สามารถช่วยป้องกันอันตรายต่างๆ ได้ โดยทุกวันจะต้องมีพระสงฆ์มอญเข้าไปประกอบพิธีทำน้ำพระพุทธมนต์พระปริตรรามัญในวังหลวง สืบมาจนถึงในรัชกาลที่ 9 พระสงฆ์มอญเหลือจำนวนน้อยลงจึงโปรดให้เข้าไปประกอบพิธีเฉพาะวันพระเท่านั้น และในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษที่ทางวัดชนะสงคราม ซึ่งเป็นวัดเดียวในปัจจุบันที่พระสงฆ์ได้เข้าไปประกอบพิธีทำน้ำพระพุทธมนต์พระปริตรรามัญในวังหลวง ได้ทำพิธีการสวดแบบรามัญเพื่อทำน้ำพระพุทธมนต์สำหรับใช้ในการประพรมและให้ลูกค้าเดอะวิสดอม และได้นำกลับไปบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ