Lifestyle

"ก้าวล้ำนวัตกรรมยา" ด้วยพระบารมีเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การผลิตและพัฒนายาชีววัตถุชิ้นแรกของไทย เพื่อการรักษามะเร็งเต้านม

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเป็น “พระธรรมราชา” ผู้ทรงนำพาประเทศชาติให้ร่มเย็นด้วยหลักพระพุทธศาสนา ทรงตั้งมั่นบำเพ็ญทศพิธราชธรรมในการปกครองแผ่นดิน โดยทรงถือประโยชน์ส่วนรวมของชาติสำคัญกว่าประโยชน์ส่วนตน พระราชกรณียกิจนานัปการจึงล้วนเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรอย่างแท้จริง ดังจะเห็นจากพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่เสด็จพระราชดำเนินไปยังถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศเพื่อช่วยเหลือประชาชนคนไทยที่ทุกข์ยากแร้นแค้น ซึ่งพระราชโอรสและพระราชธิดาโดยเสด็จเกือบทุกครั้งหากมีโอกาส ด้วยเหตุนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จึงมีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการทำประโยชน์เพื่อสังคม และบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์เฉกเช่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

"ก้าวล้ำนวัตกรรมยา" ด้วยพระบารมีเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ไทย

         จากการที่ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้โดยเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาคของประเทศตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทำให้เข้าพระทัยปัญหาสุขอนามัยและความเป็นอยู่ของราษฎรอย่างลึกซึ้ง จึงทรงทุ่มเทช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยเฉพาะที่เกิดจากการขาดแคลนแพทย์และยารักษาโรค ผ่านหน่วยงานและโครงการในพระดำริต่างๆ ที่ทรงก่อตั้งขึ้น อาทิ “กองทุนจุฬาภรณ์” เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุข รวมถึงสนับสนุนการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง, “มูลนิธิจุฬาภรณ์” มีภารกิจมุ่งดูแลและช่วยเหลือราษฎรผู้เจ็บป่วยผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนส่งเสริมการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์และสาธารณสุข อันเป็นประโยชน์โดยรวมของประเทศ และ “สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์” เพื่อเป็นศูนย์รวมแห่งความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์ในการดำเนินงานวิจัยพื้นฐานและประยุกต์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

"ก้าวล้ำนวัตกรรมยา" ด้วยพระบารมีเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ไทย

         ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ต่อปัญหาสุขอนามัยของประชาชน ทรงเล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนายาเพื่อทำให้ประเทศสามารถพึ่งพาตัวเองด้านยาชีววัตถุ อันเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงทางยาและลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่ง จึงทรงวางพระนโยบายและริเริ่มโครงการ “ศูนย์วิจัยและพัฒนายาชีววัตถุ” ขึ้นเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมโดยการพัฒนานักวิจัยให้มีความรู้ ประสบการณ์ที่จำเป็นในด้านการวิจัย พัฒนา และผลิตยาชีววัตถุให้ได้มาตรฐาน สามารถนำไปใช้ในผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนวัตกรรมที่สร้างขึ้นเองนี้ จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนายา เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมในองค์กร ทำให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ดีกว่าการซื้อเทคโนโลยีมาจากต่างประเทศ ซึ่งมีตั้งแต่การสร้างเซลล์ต้นแบบไปจนถึงการพัฒนากระบวนการผลิต

"ก้าวล้ำนวัตกรรมยา" ด้วยพระบารมีเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ไทย

         ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงลงพระนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการทรงนำนักวิจัยไทยประสบความสำเร็จ ในการผลิตและพัฒนายาชีววัตถุชิ้นแรกของประเทศไทย เพื่อการรักษามะเร็งเต้านม โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หลักสี่ กรุงเทพฯ

         ในพิธีลงพระนามความร่วมมือดังกล่าว ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี มีพระดำรัสถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนายาชีววัตถุเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ความตอนหนึ่งว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยยังไม่มีความมั่นคงทางยาอย่างแท้จริง โดยเฉพาะยาชีววัตถุ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ เช่น โรคมะเร็งและโรคติดเชื้อ ยาประเภทนี้มีราคาสูงมาก จนทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงยาได้ ​การวิจัยและพัฒนายาชีววัตถุเป็นโครงการที่ข้าพเจ้าคิดและริเริ่มดำเนินการเป็นเวลากว่าทศวรรษแล้ว เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีโอกาสได้รับยาที่มีคุณภาพและสามารถรักษาโรคได้ผลดีกว่าเดิมหรือหายขาดในราคาที่จัดหาได้"

"ก้าวล้ำนวัตกรรมยา" ด้วยพระบารมีเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ไทย

         สำหรับโครงการดังกล่าว ก่อกำเนิดมาจากเมื่อปี 2547 ได้เกิดการระบาดของไข้หวัดนก ขณะนั้นประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตตัวยาออกฤทธิ์สำคัญได้เอง ยังต้องพึ่งพิงการนำเข้ายา หรือเพียงแค่นำเข้าสารออกฤทธิ์สำคัญมาบรรจุ ส่งผลให้ประเทศไทยขาดความมั่นคงทางยา ดังนั้น ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงปรึกษากับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ อินสติวท์ ออฟ เทคโนโลยี (เอ็มไอที) และทรงก่อตั้งหน่วยวิจัยเพื่อการประยุกต์ใช้และศูนย์วิจัยและพัฒนายาชีววัตถุ ในปี 2552 โดยมีวัตถุประสงค์ วิจัยและพัฒนากระบวนการผลิต ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตยาชีววัตถุ ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ในราคาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ และยิ่งไปกว่านั้น ทรงเห็นถึงความขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถด้านการวิจัย พัฒนา และผลิตยาชีววัตถุ จึงทรงวางพระนโยบายให้หน่วยงานดังกล่าวมุ่งเน้นที่การพัฒนาบุคลากรในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกให้มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน ในการผลิต “ยาชีววัตถุ” เพื่อตอบสนองต่อความต้องการบุคลากรผู้เชี่ยวชาญของประเทศต่อไป 

"ก้าวล้ำนวัตกรรมยา" ด้วยพระบารมีเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ไทย

          องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงเลือก “ยาชีววัตถุคล้ายคลึง” Trastuzumab สำหรับการรักษามะเร็งเต้านม เป็นยาชนิดแรกของโครงการดังกล่าว เนื่องจากมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่มีอัตราการเกิดและเสียชีวิตสูงที่สุดในผู้หญิงไทย ประโยชน์ของยา Trastuzumab เมื่อใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด จะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตโดยรวมสูงถึงร้อยละ 37 และลดอัตราการกลับมาเป็นซ้ำในระยะเวลา 10 ปีถึงร้อยละ 73.7 อย่างไรก็ตาม ยาชีววัตถุโดยทั่วไปต้องใช้เงิน ในการรักษาไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทต่อปี สำหรับโรงพยาบาลรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ทรงตระหนักถึงโอกาสการเข้าถึงของประชาชน จึงทรงริเริ่มโครงการเพื่อการผลิตยาดังกล่าวขึ้นภายใน ประเทศเพื่อเพิ่มการเข้าถึงของยาชนิดนี้

"ก้าวล้ำนวัตกรรมยา" ด้วยพระบารมีเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ไทย

         คณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้เริ่มต้นกระบวนการพัฒนายาดังกล่าว ตั้งแต่การตัดต่อดีเอ็นเอ เพื่อนำส่งเข้าสู่เซลล์เจ้าบ้านที่จะทำหน้าที่ผลิตโปรตีนต่อไป จากนั้นจึงทรงทำการคัดเลือกเซลล์ที่ผลิตยาให้ได้เพียงเซลล์เดียว เพื่อให้มั่นใจว่ายาที่จะผลิตต่อไป มีความเป็นเอกภาพมีคุณสมบัติเดียว แล้วจัดเก็บในธนาคารเซลล์ เพื่อให้ยาที่ผลิตทุกรุ่นมีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมากที่สุด บัดนี้ คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้ดำเนินการพัฒนากระบวนการผลิตมาถึงระดับที่พร้อมสำหรับการขยายขนาดต่อไปสู่การผลิต เพื่อการนำไปใช้แล้ว จึงมีการทำข้อตกลงความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
         ขณะที่ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จะรับผิดชอบในส่วนงานวิจัยที่ได้ทำไปแล้ว เช่น การพัฒนาเซลล์ที่ใช้ในการผลิตยาตั้งแต่การตัดต่อดีเอ็นเอ จัดทำการศึกษาคุณสมบัติและธนาคาคเซลล์ รวมถึงการพัฒนากระบวนการผลิตที่ระดับห้องปฏิบัติการ (1-10 ลิตร) ในเวลาเดียวกัน ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีจะรับผิดชอบการขยายขนาดการผลิตไปสู่ระดับโรงงานต้นแบบ(50 ลิตร) และระดับการผลิต (มากกว่า 200 ลิตร) จากนั้น สถาบันจุฬาภรณ์ จะดำเนินการศึกษาที่ไม่ได้ทำในมนุษย์และการศึกษาทางคลิกนิกต่อไป 
         โครงการดังกล่าวภายใต้พระดำริของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะนำมาซึ่งประโยชน์แก่ประชาชนชาวไทย ทั้งในแง่การเข้าถึงยา ในแง่ของความมั่นคงทางยา สุขอนามัยของประชาชน การพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของประเทศ เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มโอกาสการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศสอดรับเป็นอย่างดีกับนโยบายในประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลปัจจุบันในการพัฒนาประเทศด้วยศักยภาพการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นส่วนเพิ่มมูลค่าของสินค้า ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพการแพทย์และการสาธารณสุข จัดเป็นสองส่วนหลักที่ทางรัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดการพัฒนาต่อยอดธุรกิจด้านดังกล่าวขึ้นภายในอนาคต และในท้ายที่สุด โครงการสร้างพื้นฐานของการผลิตยาชีววัตถุสามารถรับสถานการณ์ฉุกเฉินจากการเกิดโรคระบาดได้ดีขึ้น รวมถึงองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยดังกล่าว จะเป็นรากฐานสำคัญพร้อมสำหรับการต่อยอดงานวิจัยของทางสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ให้สามารถผลิตยาชีววัตถุชนิดใหม่ เพื่อเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป
         เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี  พระชนมายุ 61 พรรษา ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ