Lifestyle

ไขคำตอบ? คลื่นมือถือ-Wi-Fi ป่วน! 'รถไฟฟ้า BTS'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไขคำตอบ? คลื่นมือถือ-Wi-Fi ป่วน! 'รถไฟฟ้า BTS'  : คอลัมน์.... คมคิดเทคโน   โดย...  อนุสรณ์  ฉิมบ้านไร่ 

 

          ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมารถไฟฟ้า BTS มีปัญหาหลายวันหลายช่วงเวลาเกิดแทบทั้งสัปดาห์ ประชาชนหลายคนที่ใช้บริการ BTS สงสัยว่าทำไมถึงเกิดเหตุขัดข้องบ่อยนัก คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเสียงบ่นกลางกรุงเรื่อง BTS ดังไปทั่วเมือง จนหลายคนช่วยกันหาสาเหตุกันต่างๆ นานา ว่า เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนี้? ซึ่งมีอยู่สาเหตุหนึ่งน่าสนใจอย่างมากเพราะมีการคาดว่าเป็นเพราะ “DTAC” ปล่อย “dtac turbo” บนคลื่น 2300 และอีกสาเหตุหนึ่งมาจากการรบกวนจากคลื่น Wi-Fi บนย่านความถี่ 2.4G 

          ก่อนที่เราจะไปหาคำตอบคงต้องทำความเข้าใจกับคลื่นความถี่ 2.4G และ 5G ก่อนว่า คลื่นดังกล่าวถือเป็นย่านความถี่เสรีสากล ซึ่งใครก็สามารถใช้งานได้ ทุกประเทศยึดหลักการเดียวกัน ทำให้ถูกใช้งานได้ทั่วไปทั้งตามบ้านและหน่วยงานบนอุปกรณ์หลายชนิด เช่น Wi-Fi เตาไมโครเวฟ เมาส์ คีย์บอร์ด จอยเกมแบบไร้สาย โทรศัพท์บ้านและอินเทอร์เน็ตไร้สาย โดรน ฯลฯ จะเห็นได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เลย เพราะคลื่น 2.4G นั้นถูกใช้มานานแล้ว และคลื่น 2.4G ถูกใช้งานเป็นจำนวนมาก อุปกรณ์ไอทีและอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ในปัจจุบันจึงขยับไปใช้คลื่นเสรีอีกคลื่นที่ปัจจุบันคนยังใช้งานน้อย นั่นก็คือคลื่น 5G

   
          และ DTAC เกี่ยวข้องอะไรด้วยเกี่ยวกับการขัดข้องของการเดินรถไฟฟ้า BTS? เราคงต้องย้อนกลับไปดูว่า หลังจากที่ DTAC ได้เปิดตัวการร่วมมือใช้คลื่น 2300 จาก TOT ดันตกเป็นจำเลยว่าเป็นสาเหตุทำให้ BTS ขัดข้อง เพราะว่ามีส่วนทำให้เกิดปัญหารถไฟฟ้า BTS ไม่สามารถทำงานได้ แต่ท้ายที่สุดหลายคนที่โทษ DTAC ก็หน้าแตกไปตามๆ กัน เพราะทาง DTAC ได้ทดสอบปิดการปล่อยสัญญาณบนคลื่น “dtac turbo” และทดลองปิดการใช้คลื่นดังกล่าวบนย่าน 2300 กว่า 20 สถานีฐานตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า BTS ตั้งแต่ช่วงเวลา 06.00 น. ผลปรากฏว่าคลื่น 2300 MHz ไม่ได้ส่งคลื่นก่อกวนใดๆ ออกมาแต่อย่างใด และคลื่นที่ dtac และ TOT ใช้นั้นห่างจากคลื่นที่ BTS ใช้ 30 MHz ทำให้ไม่มีโอกาสตีกันอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นรถไฟฟ้า BTS ขัดข้องไม่เกี่ยวกับ DTAC แต่เป็นเพราะ BTS ใช้คลื่นเสรี 2.4G?

          หลังจากที่ DTAC ปิดสัญญาณแล้วเรื่องยังไม่จบ...เพราะ BTS ยังเกิดเหตุขัดข้องอีก เพราะระบบอาณัติสัญญาณในสายสีลมขัดข้องอีกครั้ง และต่อมานายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. ก็ออกมาบอกว่า พบคลื่นรบกวนนั่นแล้ว นั่นก็คือสัญญาณ Wi-Fi บนย่าน 2.4G หรือ 2400 MHz เพราะเป็นคลื่นที่อนุญาตและจัดสรรไว้สำหรับให้ใช้แบบสาธารณะ อาจเป็นไปได้ที่จะรบกวนกันเพราะ BTS ก็ใช้คลื่นนี้ (ไปกันใหญ่แล้ว) สุดท้ายการแก้ปัญหาดังกล่าวคือขอเปลี่ยนย่านความถี่ไปใช้ย่านอื่นที่ไม่ใช่ 2400 MHz ปัจจุบัน กสทช. กันคลื่นย่าน 800–900 MHz ไว้ให้ใช้สำหรับการควบคุมรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่กำลังจะก่อสร้างอยู่แล้ว BTS สามารถประสานมาขอใช้คลื่นนี่ได้ หรืออาจจะไปใช้เครือข่าย GSM-R ซึ่งนิยมควบคุมระบบรถไฟความเร็วสูงในหลายประเทศ

   
          หลายคนคงสงสัยว่า ระบบคลื่นอาณัติสัญญาณของ BTS คืออะไร? คงต้องขออธิบายสั้นๆ ว่า BTS ใช้ระบบอาณัติสัญญาณของบริษัท Bombardier ซึ่งเป็นระบบอาณัติสัญญาณแบบ Communication Based Train Control หรือ CBTC โดยใช้สัญญาณ 2.4 GHz สำหรับสื่อสารกันระหว่างขบวนและระบบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการให้บริการ แบนด์ของคลื่นความถี่คืออะไร? แบนด์คือช่วงของช่องความถี่สัญญาณ อย่างเช่นที่ DTAC และ TOT ใช้อยู่บนคลื่น 2300 MHz นั้นจะอยู่ในช่วงแบนด์ 2310-2370 MHz* ไม่มีการส่งสัญญาณเกินในช่วงนี้ ส่วนรถไฟฟ้า BTS จะอยู่ในแบนด์คลื่น 2400 (ในช่วง 2400.1 GHz)


          สรุปได้ว่าประเทศไทยไม่เคยสงวนความถี่ไว้สำหรับการสื่อสารของรถไฟฟ้ามาก่อน พอดี กสทช.ก็มีแค่กำหนดร่างไว้ซึ่งเอาไว้ใช้กับรถไฟฟ้าความเร็วสูง ไทย-จีนและในยุโรป มีการสงวนช่องสัญญาณความถี่ไว้เพื่อการขนส่งทางราง Uplink: 876–880 MHz Downlink: 921–925 MHz และในจีน ก็มีการสงวนช่องสัญญาณความถี่ไว้เพื่อการขนส่งทางราง Uplink: 885–889 MHz Downlink: 930–934 MHz ส่วนบ้านเรานั้น กสทช. ได้อนุมัติให้ใช้งานคลื่นความถี่ 800/900 MHz และ 400 MHz สำหรับระบบคมนาคมขนส่งทางราง โดยมีเงื่อนไขจะต้องมีการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าวภายในไม่เกินปี พ.ศ. 2563 และตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2561 dtac ร่วมมือกับ TOT ได้เปิดให้บริการบนคลื่น 2300 ซึ่งเมื่อดูแบนด์แล้วอาจมีความใกล้เคียงกับ 2400 ที่ BTS ใช้ ส่วน Wi-Fi มีการใช้บน 2400 (2.4) หลายย่านแบนด์ ตามที่เปิดให้ใช้อย่างเสรี ซึ่งทุกวันนี้มีการใช้งานมากขึ้น


          ถึงแม้การทดลองจะปรากฏผลออกมาแล้ว แต่มีหลายคนสงสัยว่าก่อนหน้านี้ไม่เห็นขัดข้องถี่ๆ ขนาดนี้ หรือเป็นทั้งวัน ทำไมถึงมีปัญหาทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ Wi-Fi 2.4 ก็มีการใช้งานมานานอาจเป็นเพราะพอ dtac เปิดคลื่น 2300 ทำให้เกิดการรบกวนจากทั้ง 2 ย่าน แต่ว่าทาง dtac ได้ทดสอบปิดสัญญาณคลื่นดังกล่าวตามแนวรถไฟฟ้าก็ยังเกิดปัญหา เพราะฉะนั้นการแก้เบื้องต้นของ BTS ก็คือทาง BTS จะจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันการรบกวนโดยคาดว่าจะดำเนินการติดตั้งเสร็จได้ในเดือนตุลาคมนี้ และมีแผนจะย้ายไปใช้ช่องสัญญาณปลายๆ ของคลื่น 2400 MHz ที่ยังถือว่ามีคนใช้น้อย


          ประสบการณ์การกวนกันของคลื่น 2.4 GHz ที่ผู้เขียนเจอการใช้คลื่น 2.4 GHz (2400 MHz) ปัจจุบันในประเทศไทยก่อนที่ dtac และ TOT จะมาปล่อยสัญญาณบนคลื่น 2300 ด้วย มีการใช้งานที่มีจำนวนมากขึ้นและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเมาส์ไร้สายเพราะหลายรุ่นใช้คลื่น 2.4 GHz เมื่อนำไปใช้ในบางอาคารสำนักงานหรือห้างสรรพสินค้าพบว่า ทำให้มีปัญหาในการใช้งาน และอีกกรณีในบางพื้นที่ใช้งานได้ปกติ แต่หากปล่อย Hotspot จากมือถือ จะทำให้เกิดการหลุดจากการเชื่อมต่อบ่อยๆ ของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับ Hotspot ที่ปล่อย แต่เมื่อปีก่อนๆ สถานที่เหล่านี้กลับไม่เกิดปัญหาหรือเกิดไม่บ่อยเท่าทุกวันนี้ แต่เมื่อนำเมาส์ดังกล่าวมาใช้ที่บ้าน ซึ่งมีเมาส์ไร้สาย 2.4 ตัวอื่นอีก 2 ตัวใช้งานพร้อมกัน มีโทรศัพท์บ้านไร้สาย 2.4 วางอยู่ข้าง Router ด้วย แต่ที่ Router ปล่อย Wi-Fi 2.4 ที่ Channel 11 กลับพบว่าทั้งตัวเมาส์และอุปกรณ์อื่นๆ กลับใช้งานได้ปกติ

          จากเหตุการณ์นี้ก็จะแสดงให้เห็นได้ว่าในที่สาธารณะหรืออาคารต่างๆ หลายๆ ที่มีการใช้คลื่น 2.4 กันเยอะขึ้นทำให้มีการทับช่วงแบนด์สัญญาณ (Channel) เพราะฉะนั้น กสทช. ไม่ควรมองข้ามต้องวางแผนติดหาวิธีการต่างๆ เพื่อรับมือในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้ มิเช่นนั้นปัญหาใหญ่ด้านโครงข่ายอาจจะเกิดขึ้นได้ในไม่ช้า
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ