Lifestyle

การแต่งกายไม่ใช่คำตอบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มายาคติที่มักกล่าวโทษสาเหตุของการถูกคุกคามทางเพศว่าเกิดจากการแต่งกาย

         จากความไม่เห็นด้วยที่เจ้าหน้าที่รัฐออกมารณรงค์ให้ผู้หญิงแต่งตัวมิดชิดในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันไม่ให้โดนลวนลาม ซึ่งนักแสดงคุณแม่ลูกสองอย่าง “ซินดี้” สิรินยา บิชอพ แสดงความคิดไม่เห็นด้วยโดยการออกมาพูดในโลกโซเชียล เพราะผู้หญิงควรมีสิทธิ์แต่งกายแบบใดก็ได้ที่ไม่อนาจาร ไม่ผิดกฎหมาย แต่ผู้ชายไม่มีสิทธิ์มาแตะต้องเนื้อตัวของพวกเธอ จนในที่สุดได้กลายเป็นกระแสและได้รับการสนับสนุนจากผู้คนเป็นจำนวนมาก ภายใต้แคมเปญ #DontTellMeHowToDress กระทั่งได้ต่อยอดเป็นการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรม "นิทรรศการพลังสังคม หยุดคุกคามทางเพศ" ซึ่งถือเป็นการท้าทายต่อมายาคติที่มักกล่าวโทษสาเหตุของการถูกคุกคามทางเพศว่าเกิดจากการแต่งกายและภาพลักษณ์ภายนอกของผู้หญิงเป็นหลักและเป็นการตั้งคำถามจากผู้คนต่อการยอมรับพฤติกรรมความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก ปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานกล่าวเปิดงานที่แฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันก่อน

การแต่งกายไม่ใช่คำตอบ

ปรเมธี วิมลศิริ

การแต่งกายไม่ใช่คำตอบ

ส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่นำเสื้อผ้าจริงของผู้ถูกคุกคามทางเพศมาจัดแสดง

การแต่งกายไม่ใช่คำตอบ

สิรินยา บิชอพ-แอนนา คาริน-รศ.อภิญญา เวชยชัย- ณัฐ ประกอบสันติสุข

         ภายในงานหลังจาก โดนิกา พอตตี เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย กล่าวชื่นชมและให้กำลังใจต่อการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ก็เป็นช่วงเสวนาในหัวข้อ “พลังสังคม หยุดคุกคามทางเพศ” นำโดย สิรินยา บิชอพ, แอนนา คาริน จัตฟอร์ส รองผู้อำนวยการยูเอ็นวีเมน ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รศ.อภิญญา เวชยชัย ประธานมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และ ณัฐ ประกอบสันติสุข ช่างภาพชื่อดังของเมืองไทย ปิดท้ายด้วยการเสวนา “ถอดประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศ” โดย ธารารัตน ปัญญา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การแต่งกายไม่ใช่คำตอบ

โดนิกา พอตตี

         ขณะที่ รศ.อภิญญา เวชยชัย กล่าวว่า สถานการณ์การคุกคามทางเพศที่มูลนิธิรวบรวมจากสื่อหน้าหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ปี 2558 พบว่า การข่มขืนคุกคามทางเพศมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และปัจจุบันสถิติผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงจะอายุน้อยลง ผู้กระทำมักเป็นบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิด สาเหตุปัจจัยนำจากข่าวเป็นกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด แต่จากการทำงานพบว่าปัจจัยรากฐานเกิดจาก ทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ที่มองผู้หญิงแบบอคติ เชื่อว่าผู้ชายมีอำนาจมากกว่าและสามารถทำอะไรกับหญิงก็ได้ มาตรการแก้ไขปัญหาปัจจุบันต้องเริ่มจากตระหนักถึงสิทธิ์ของตัวผู้หญิง การทำความเข้าใจกับคุณค่าที่อยู่ภายในตัวตนผู้หญิงเอง ไม่จำนนต่อค่านิยมและความเชื่อผิดๆ ที่ผู้ชายและสังคมโยนใส่

         ด้าน แอนนา คาริน จัตฟอร์ส กล่าวว่า เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ แคมเปญ #DontTellMeHowToDress มีจุดมุ่งหมายเพื่อลบล้างมายาคติที่ว่าผู้หญิงควรหลีกเลี่ยงการแต่งกายล่อแหลมหรือการนำตัวเองไปตกอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง เพราะนั่นเป็นเหตุให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศและการคุกคามทางเพศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงการที่ผู้กระทำผิดไม่ได้รับโทษอย่างเหมาะสมต่อการกระทำของตนเอง และเพื่อให้สังคมหันกลับมาตั้งคำถามต่อผู้กระทำผิดมากกว่าพฤติกรรมของผู้เสียหายเพียงฝ่ายเดียว
        สุดท้าย “ซินดี้” สิรินยา เสริมว่า การแสดงนิทรรศการครั้งนี้เป็นการนำเสื้อผ้าของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเพื่อสร้างการรับรู้ใหม่ว่าการแต่งกายล่อแหลมไม่ได้เป็นเหตุให้ถูกคุกคามทางเพศ โดยเสื้อผ้าเหล่านี้ได้รับการรวบรวมจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลซึ่งทำงานเพื่อลดปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงมาโดยตลอด รวมถึงมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายที่สื่อประเด็นการถูกล่วงละเมิดและถูกคุกคามทางเพศโดย ณัฐ ประกอบสันติสุข ช่างภาพแฟชั่นผู้มีฝีมือเป็นอันดับต้นๆ ของไทย ร่วมกับดารานักแสดงแถวหน้าและผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง เพื่อเชิญชวนให้ผู้เข้าชมนิทรรศการตระหนักถึงความคิดที่ว่าความรุนแรงทางเพศเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เป็นสิ่งที่น่าอับอายที่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบ และเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดถึง โดยนิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม ที่แฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 สยามพารากอน และวันที่ 4-15 กรกฎาคม ที่ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ