Lifestyle

"วรรณกรรม" ย้อนกาลเก่าเล่ารัตนโกสินทร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ผ่าน พงศาวดาร จดหมายเหตุ วรรณกรรม บทประพันธ์ และบทละคร

"วรรณกรรม" ย้อนกาลเก่าเล่ารัตนโกสินทร์

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราวศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต สังคม ตลอดจนจารีตประเพณีต่างๆ ในวันก่อนเก่า เราเรียนรู้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พงศาวดาร จดหมายเหตุ วรรณกรรม บทประพันธ์ หรือแม้แต่ในบทละคร ด้วยเหตุนี้ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี จึงจัดกิจกรรม “ย้อนกาลเก่า เล่ารัตนโกสินทร์ ยินผ่านวรรณกรรม” โดยเชิญ อ.จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นวิทยากร ไล่เรียงตั้งแต่ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร, พิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดล และ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

"วรรณกรรม" ย้อนกาลเก่าเล่ารัตนโกสินทร์

พระพุทธชินราช จำลองแบบจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก

"วรรณกรรม" ย้อนกาลเก่าเล่ารัตนโกสินทร์

พระพุทธรูปภายในวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

 

          ก่อนจะเข้าชมความงดงามของ “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร” อ.จุลภัสสร เล่าว่า เดิมเป็นวัดโบราณมีชื่อว่า “วัดแหลม” หรือ “วัดไทรทอง” ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด จนถึงปี พ.ศ. 2369 เมื่อเจ้าอนุวงศ์ผู้ครองนครเวียงจันทน์ ก่อการกบฏยกทัพมาตีไทย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ เป็นผู้บัญชาการกองทัพในส่วนการรักษาพระนคร โดยทรงตั้งกองบัญชาการอยู่ในบริเวณแห่งนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการปราบกบฏแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ พร้อมด้วยพระเชษฐภคินี พระขนิษฐภคินี และพระกนิษฐภาดา ร่วมเจ้าจอมมารดาอีก 4 พระองค์ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้น แล้วทรงสร้างพระเจดีย์ 5 องค์ เป็นอนุสรณ์ ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดเบญจบพิตร” หมายถึง วัดที่เจ้านาย 5 พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้น ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงสร้างพระราชวังดุสิตขึ้น และโปรดเกล้าฯ ทำผาติกรรมสถาปนาวัดขึ้นใหม่ ได้พระราชทานชื่อวัดใหม่ว่า “วัดเบญจมบพิตร” แปลว่า ลำดับรัชกาลที่ 5 ในมหาจักรีบรมราชวงศ์

"วรรณกรรม" ย้อนกาลเก่าเล่ารัตนโกสินทร์

กระจกสีเหนือกรอบหน้าต่างภายในพระอุโบสถ

          ...นอกเหนือจากความงดงามในเชิงช่างแขนงต่างๆ “วัดเบญจมบพิตร” ยังมีแง่มุมที่จะสะท้อนถึงวิถีชีวิตอันงดงามของผู้คนในยุคสมัยนั้น ให้เราได้ศึกษาผ่านทางพระนิพนธ์เรื่อง “ความสนุกในวัดเบญจมบพิตร” จากหนังสือ “เบญจมบพิตรสัมพันธ์ พ.ศ.2494” ของ ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล โดยทรงเล่าถึงความสนุกสนานในงานออกร้านงานฤดูหนาว....“ใครที่เข้ามาในวัดเบญจมบพิตรแห่งนี้ก็ไม่ต้องกลัวเรื่องถ่มขาก เสียงอึกทึกต่างๆ เพราะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น โดยเฉพาะไม่มีขโมย ผู้คนจะแต่งตัวสวยสดงดงาม ใส่เพชรนิลจินดากันแพรวพราย งานวัดเบญจมาบพิตรฯ นับเป็นโอกาสที่ดีเพราะราษฎรได้เฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างไม่ถือพระองค์ ในลักษณะ “ไพรเวท” หนุ่มสาวได้พบปะไม่ต้องไปแอบลักขโมยรักกัน เด็กๆ ก็สนุกสนาน”

"วรรณกรรม" ย้อนกาลเก่าเล่ารัตนโกสินทร์

ภายในพิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดล

"วรรณกรรม" ย้อนกาลเก่าเล่ารัตนโกสินทร์

พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

          จาก “วัดเบญจมบพิตร” เรามุ่งหน้าสู่ “พิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดล” ณ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ก่อนเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ เราแวะสักการะพระราชานุสาวรีย์ “สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี” ผู้เป็นที่รักยิ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มาของการตั้งชื่อ “สวนสุนันทา” โดยมีพระราชดำริให้สร้างเป็นสวนป่า จึงโปรดเกล้าฯ ให้หาพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลที่ดีและหาได้ยากนานาชนิดมาปลูกไว้ในสวนแห่งนี้ด้วย แต่ทว่าพระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน จึงมาเริ่มการก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยมีพระราชดำริให้เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักและตึกในบริเวณสวนสุนันทาขึ้นอีกหลายหลัง แล้วโปรดให้เป็นที่ประทับของพระมเหสี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอมและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 32 ตำหนัก ซึ่งมีพระตำหนักองค์สำคัญ 4 หลัง หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “พระตำหนักสายสุทธานภดล” หรือ พระตำหนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระอัครชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระหว่างที่ยังทรงพระชนม์อยู่นั้น บรรดาขุนนาง ข้าราชการ ผู้มีบรรดาศักดิ์นิยมนำบุตรี และหลานของตนมาถวายตัวต่อพระวิมาดาเธอ เป็นจำนวนมาก พระองค์จึงทรงให้สร้าง “โรงเรียนนิภาคาร” ขึ้นสอนตามหลักสูตรการศึกษาในสมัยนั้น รวมทั้งอบรมจริยา มารยาท การฝีมือ ให้เป็นกุลสตรี หนึ่งในนั้นคือ ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ อดีตข้าหลวงประจำห้องเครื่องในพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ  เจ้าของผลงานคอลัมน์และหนังสือชุด “ชีวิตในวัง” และ “ชีวิตนอกวัง” สะท้อนให้เห็นเรื่องราวชีวิตในรั้วในวังของเจ้านายฝ่ายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

"วรรณกรรม" ย้อนกาลเก่าเล่ารัตนโกสินทร์

การจัดแสดงสำรับคาวหวานของเจ้านายฝ่ายใน

"วรรณกรรม" ย้อนกาลเก่าเล่ารัตนโกสินทร์

พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

          อีกหนึ่งหมุดหมายของวันนี้คือ “พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” อาคารได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส-สวิส ในรูปแบบสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก เดิมเป็นที่ตั้งของห้างยอนแซมสันแอนด์ซัน หรือ “ห้างยอนแซมสัน” ภายแบ่งออกเป็น 3 ชั้น โดยชั้นที่ 1 เป็นห้องนิทรรศการสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 จัดแสดงเรื่องราว พระราชประวัติ พระราชจริยวัตร และพระราชกรณียกิจ นำเสนอเนื้อหาตั้งแต่เสด็จพระราชสมภพ อภิเษกสมรส เสด็จประพาสทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ ห้องจัดแสดงชั้น 2 เป็นพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เสด็จพระราชสมภพจนถึงเสด็จขึ้นครองราชย์ รวมทั้งพระราชประวัติหลังทรงสละราชสมบัติ กระทั่งเสด็จสวรรคต ณ ประเทศอังกฤษ และห้องจัดแสดงชั้น 3 จัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฉลองพระองค์ พระมาลาและฉลองพระบาท ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชกรณียกิจสำคัญในด้านต่างๆ...และถ้าจะอ้างอิงถึงวรรณกรรมที่สะท้อนภาพเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นได้ชัดเจนที่สุด ต้องยกให้นิยายเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ผลงานของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

++++++++

เรื่อง...กอบแก้ว แผนสท้าน

ภาพ...เคทีซี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ