Lifestyle

ดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เพิ่มโอกาสในการขายสินค้าที่ระลึกตอบโจทย์นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่

ดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว

          การท่องเชิงวิถีชุมชนเป็นอีกหนึ่งเทรนด์การท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกและกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนจนนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของการท่องเที่ยวไทย  กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงจัดงาน “เสน่ห์เที่ยว เสน่ห์ไทย” ขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประธานในพิธีเปิดงานเมื่อวันก่อน ซึ่งในงานยังนำสินค้าที่ระลึกกว่า 240 รายการ จาก 24 ชุมชน ใน 8 จังหวัดทางภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา ตาก พิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาสินค้าต้นแบบของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยวมาจัดแสดงและจำหน่าย โดยสินค้าแต่ละชิ้นได้ผ่านการออกแบบและพัฒนาจากมุมมองของคนรุ่นใหม่แต่ก็ยังไม่ทิ้งอัตลักษณ์ของชุมชนผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนในชุมชน 

ดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

    วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กล่าวว่า การจำหน่ายสินค้าที่ระลึกเป็นการสร้างรายได้หลักให้การท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน เพราะนอกจากความทรงจำและความประทับใจของแหล่งท่องเที่ยวแล้ว สิ่งที่นักท่องเที่ยวสามารถนำกลับไปเล่าต่อได้คือสินค้าที่ระลึกที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้จึงเป็นการนำเสนอสินค้าที่ระลึกจากชุมชนพร้อมได้รับฟังความต้องการของนักท่องเที่ยวว่าอยากให้ชุมชนนำเสนอสินค้ารูปแบบใดให้ตอบโจทย์ต่อนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวทั้งในชุมชนและในประเทศ

ดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว

 สยุมพู นกหงษ์

           สยุมพู นกหงษ์ ผู้ดูแลการท่องเที่ยววิถีชุมชนบ้านทุ่งหลวง ต.ทุ่งหลวง จ.สุโขทัย เล่าว่า ในชุมชนมีเอกลักษณ์คือเครื่องปั้นดินเผาที่สืบต่อกันมากว่า 100 ปี ส่วนใหญ่เป็นเครื่องปั้นดินเผาสำหรับใช้ในครัวเรือน เมื่อก่อนมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มาเที่ยวแหล่งเรียนรู้ชุมชนของเราและต้องการซื้อของที่ระลึกกลับไป แต่ด้วยน้ำหนักและขนาดที่ใหญ่ของเครื่องปั้นดินเผา รวมถึงวิธีการดูแลรักษาที่ยากและเสี่ยงต่อการแตกหัก ทำให้ชุมชนขาดโอกาสในการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกเหล่านั้น เมื่อมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาให้การสนับสนุนทำให้ชุมชนรู้ถึงความต้องการของนักท่องเที่ยวมากขึ้น และปรับรูปแบบการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าโดยการย่อขนาดให้เล็กลง เช่น หม้อกรันพระร่วง พวงกุญแจ แก้ว และดอกกุหลาบ จากเดิมที่เคยขายชิ้นละ 5-10 บาท แต่ปัจจุบันขายได้ชิ้นละ 99–1,000 บาท ทำให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวภายในชุมชนดีขึ้น

ดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว

ณิชชา ยอดเมือง

          ด้าน ณิชชา ยอดเมือง  เลขาธิการกลุ่มการท่องเที่ยววัดติโลกอาราม ต.เวียง อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา บอกเล่าถึงแหล่งที่มาของ “น้ำพริกปลาส้ม” ของฝากขึ้นชื่อว่า จ.พะเยา มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือ วัดติโลกอาราม ซึ่งอยู่กลางกว๊านพะเยา ซึ่งมีเสน่ห์และเอกลักษณ์ที่สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือน คือ การเวียนเทียนทางเรือ โดยจัดขึ้นในวันพระใหญ่ปีละ 3 ครั้ง และมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจำนวนมากจึงเป็นโจทย์ที่ทำให้ชุมชนเกิดการต่อยอดจากอาชีพการทำประมงพื้นบ้านด้วยการนำปลาส้มที่ทำกินในครัวเรือนอยู่แล้วมาเป็นสินค้าของฝากและแปรรูปเป็นน้ำพริกปลาส้มที่ผ่านกระบวนการปรุงสุกและสะอาด จากเมื่อก่อนยังไม่มีแพ็กเกจจิ้งทันสมัย แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยการนำอัตลักษณ์ของพื้นที่อย่างมาเป็นตราสินค้าที่บ่งบอกถึงที่มา สร้างยอดขายและเพิ่มรายได้ให้ชุมชนมากยิ่งขึ้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ