Lifestyle

ย้อนรอยแทรค วินเตอร์เทสต์ “อนุบาล” หัดแบน กับบีเอ็มดับเบิลยู

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนรอยแทรค วินเตอร์เทสต์ “อนุบาล” หัดแบน กับบีเอ็มดับเบิลยู

 ตลาดรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่หรือซูเปอร์ไบค์เติบโตต่อเนื่องหลายปี และมีแนวโน้มว่าจะโตขึ้นอีก จากกิจกรรมการแข่งขัน “พีทีที โมโต จีพี” เดือนตุลาคมนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีโมเมนตัมต่อไปอีก 2 ปีข้างหน้า

ซูเปอร์ไบค์ เป็นที่นิยมมากมายเพราะขี่สนุก ท้าทาย ในขณะที่ประเทศไทย บางท่านไม่เคยขี่ไม่รู้จักเข้าไม่ถึงมองว่าอันตราย แต่สำหรับคนที่ “ขี่ได้ ขี่เป็น” ไม่ค่อยห่วงเรื่องนี้

แต่การจะขี่ได้ขี่เป็นต้องเรียน เพราะต่อให้คุณเป็นมือเก๋า ขี่มายาวนานแต่ “อาจไม่รู้หรือทำผิดวิธี” มาโดยตลอดและเป็นที่มาของอุบัติเหตุร้ายแรง เนื่องจากรถใหญ่เกือบ 200 แรงม้าเหล่านี้ แรงเกินกว่าจะขับขี่ไร้เทคนิคในการควบคุม

บีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด ธุรกิจรถจักรยานยนต์ของบีเอ็มดับเบิลยูที่ตลาดเติบโตเช่นกันจัดกิจกรรมอบรมเทคนิคขับขี่ทางเรียบโดยทีมงาน แคลิฟอร์เนีย ซูเปอร์ไบค์ สคูล (California Superbike School) บินตรงจากอเมริกามาสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต บุรีรัมย์ เพื่ออบรมให้แก่ลูกค้าและสื่อมวลชน

การอบรมใช้รถสปอร์ต รุ่นS1000RR และS1000R เสียเป็นส่วนใหญ่ มีบางส่วนเป็นรุ่น GS มีผู้เรียนกว่า 50 คน และมีผู้สื่อข่าวแทรกกลุ่มลูกค้ากลุ่มละ 2-3 ท่าน

บีเอ็มดับเบิลยู S 1000 RR เป็นจักรยานยนต์ระดับซูเปอร์ไบค์ มาพร้อมระบบ ABS Pro และเทคโนโลยีอื่นๆ เช่นระบบควบคุมการเกาะถนนแบบไดนามิก ระบบช่วยเปลี่ยนเกียร์โดยไม่ต้องบีบคลัตช์โหมดการขับขี่แบบโปร และระบบควบคุมช่วงล่างแบบไดนามิก

เครื่องยนต์ 4 สูบเรียงและระบบระบายความร้อนด้วยน้ำและของเหลว ขนาดเครื่องยนต์ความจุ 999 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 199 แรงม้า ที่ 13,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 113 นิวตันเมตร ที่ 10,500 รอบ/นาที อัตราส่วนกำลังอัด 13.0:1 จ่ายเชื้อเพลิงด้วยระบบหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมระบบคลัทช์เปียกซ้อนกันหลายแผ่นที่มาพร้อมกับระบบลดแรงกระชากระบบเกียร์ 6 สปีด และระบบขับเคลื่อนด้วยโซ่

บีเอ็มดับเบิลยู S 1000 R มาพร้อมเครื่องยนต์ 4 สูบ 4 จังหวะ ขนาด 999 ซีซี ระบายความร้อนด้วยน้ำและน้ำมัน อัตราส่วนกำลังอัด 12.0:1 และระบบหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงแบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้กำลังสูงสุด 160 แรงม้า ที่ 11,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 112 นิวตัน-เมตร ที่ 9,250 รอบ/นาทีสำหรับรุ่นมาตรฐานในไทย มาพร้อมระบบควบคุมการเกาะถนนแบบไดนามิกระบบไดนามิค แทรคชัน คอนโทรล ระบบ Riding Modes Pro ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติระบบช่วยเปลี่ยนเกียร์ขึ้นโดยไม่ต้องบีบคลัตช์ ระบบทำความร้อนที่แฮนด์และอื่นๆ อีกมากมาย

สำหรับ California Superbike School มีหลักสูตรที่แบ่งเป็น 4 ระดับ โดย 3 ระดับแรกประกอบด้วยการฝึกฝนทักษะและเทคนิคในการขับขี่ 5 ทักษะในแต่ละระดับ และในระดับที่ 4 ครูฝึกสอนจะออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้ขับขี่แต่ละคน เพื่อมุ่งเน้นที่การปรับปรุงและพัฒนาจุดอ่อนของผู้ขับขี่ โดยใช้เวลา 1 วันสำหรับการฝึกในแต่ละระดับ

ปัจจุบันมีโรงเรียนฝึกทักษะการขับขี่มอเตอร์ไซค์ขั้นสูงอยู่ใน 33 ประเทศ มีผู้เข้าร่วมหลักสูตรแล้วกว่า 150,000 คน และมีนักแข่งรถมอเตอร์ไซค์มืออาชีพที่ผ่านการฝึกจาก California Superbike School ได้รางวัลจากการแข่งขันในระดับประเทศและระดับโลกรวมถึง 65 รายการ

ทีมงานสอนมืออาชีพจากทีมงานของ “คีธ โค้ด” นักแข่งชาวอเมริกันซึ่งผันตัวมาเป็นนักเขียนและครูฝึกผู้มีชื่อเสียงในระดับโลก จากการเป็นผู้บุกเบิกหลักสูตรการฝึกทักษะขับขี่มอเตอร์ไซค์ขั้นสูง โดยใช้วิธีการพัฒนาและต่อยอดแต่ละทักษะทีละขั้นตอน ทุกวันนี้ลูกชายของเขาเป็นครูฝึกหลักและร่วมสอนในครั้งนี้ด้วย

ทีมสอนแบ่งนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่มโดยให้เรียนสลับกัน 5 รอบวนไป ได้แก่ 1.steering drills หรือการฝึกซ้อมบังคับรถเบื้องต้น 2.ภาคทฤษฎี เป็นการฝึกระดับที่ 1 มีหัวข้อการฝึกอยู่ 5 หัวข้อด้วยกัน 3.ลงสนามฝึกรอบละ 20 นาที โดยเอาทฤษฎีมาปฏิบัติ

การนำรถส่วนตัวไปลงเรียนถือเป็นเรื่องปกติของเหล่าไบเกอร์ที่ต้องการใช้รถตัวเองเพื่อความคุ้นเคย นอกจากนี้ยังอยากให้รถของตัวเองได้ออกกำลังบ้าง เพราะรถระดับ 199 แรงม้า คงหาถนนวิ่งเต็มกำลังได้ยาก

จักรยานยนต์มีความเร็ว ดังนั้นต้องพร้อม ในช่วงเช้ากิจกรรมสำคัญคือ “ตรวจสภาพ” และปรับรถให้เหมาะกับการใช้ฝึก นั่นคือ ปิดโคมไฟหน้า ไฟท้ายด้วยสติกเกอร์ สีทึบ ปิดกระจกมองข้างซ้าย ขวา เราเริ่มลงเรียนกันตั้งแต่ 06.30 น.เช้าสุดๆ

ลานกว้างหลังแกรนด์สแตนด์ คือสถานที่ใช้เรียน “Steering drills” หรือการฝึกซ้อมบังคับรถเบื้องต้น เป็นสิ่งที่ใครๆ บังคับแฮนด์มอเตอร์ไซค์ได้ง่าย ครูฝึกสั่งให้การขับขี่ง่ายๆ สลาลอมอิสระซ้ายทีขวาที แต่ก็ยากสำหรับนักเรียนจะทำได้ จากนั้นครูก็จะมาปรับปรุงท่าทางกับคุมแฮนด์ให้ ตามหลักสูตรที่เขาสอนประเด็นสำคัญคือ สถานีแรกผมรู้ถึงจุดอ่อนของตัวเองทันที ในขณะที่หลักสูตรนี้ไม่ว่าใครจะเก่งมาจากไหน ต้องผ่านจุดนี้ให้ได้ทุกคน

หมดส่วน Steering drills วนไปเรียน ทฤษฎี 5 หัวข้อ คือ 1.การควบคุมคันเร่ง 2.จุดเลี้ยว 3.ความรวดเร็วในการควบคุมทิศทางรถ 4.การควบคุมโดยตัวผู้ขี่เอง 5.การเลี้ยว 2 จังหวะ เป็นการเรียนที่ลงลึกไปถึงเรื่องของเทคนิคต่างๆ ซึ่งส่วนนี้ได้ประโยชน์มาก ทำให้เราเห็นแนวคิดใหม่ๆ และเมื่อจบทฤษฎีต้องลงไปฝึกตามที่เรียนมา

ในสนามรอบแรก คือการวอร์มอัพ นักเรียนขี่ตามรถยนต์ที่ใช้นำ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนรู้จักโค้ง สนามและกติกา ความปลอดภัยของสนาม สำหรับผมดีหน่อย สนามช้างฯ นั้นคุ้นเคยเพราะมีโอกาสขับรถยนต์ และมอเตอร์ไซค์มาก่อน ไลน์การวิ่งในสนามจึงอยู่ในหัวบ้าง แต่สำหรับคนที่ไม่เคยต้องใช้เวลา นักเรียนยังได้ปรับตัวเข้าหารถและปรับชุดเซฟตี้อีกด้วย สำหรับผมใช้ชุดเรซซิ่ง สูท จาก Candy Stripe Moto ซึ่งกว่าจะหาเจอต้องวิ่งไปถึงตลาดไทย Candy Stripe Moto เป็นขั้นกว่าของเรซซิ่งสูทที่หาได้ในเมืองไทย (ยกเว้นชุดเพื่อการแข่งโดยเฉพาะ) จากแนวคิดคือ “สั่งตัด” ทำให้กำหนดสเปก ความปลอดภัยได้ ผมใส่แล้วโอเคมาก ใส่ทั้งวันเช้าจรดเย็นเลยทีเดียว

หมดวอร์มอัพ แล็บ ก็เป็นเรื่องของการทำตามทฤษฎี โดยครูฝึกขี่นำ จากนั้นก็มีครูฝึกอีกชุดหนึ่งที่เรียกว่า โค้ช ทำหน้าที่ขี่ประกบ สอนแบบตัวต่อตัว เมื่อจบเซ็กชั่น 20 นาที เข้าพิท มาบรีฟว่าเราสามารถทำตามแบบฝึกหัดได้หรือไม่และมีอะไรที่ต้องปรับปรุง การเรียนจริงจังมาก ช่วงเซ็กชั่นแรก ความเร็วรถไม่สูงแต่ก็ยากเช่น ใช้เกียร์ 4 ห้ามเบรก หรือไม่ก็ใช้ได้ 3-4 เกียร์ มีเบรกเล็กน้อย จนกระทั้งเซ็กชั่นท้ายๆ ให้ใช้ทุกเทคนิค เพื่อขับขี่ให้เร็วขึ้น

ผมได้โค้ช Aaron Rogers ครูฝึกของ California Superbike School สาขาออสเตรเลีย ซึ่งแกพูดภาษาไทยคล่องแคล่วเพราะมีภรรยาเป็นคนไทย

การเรียนการสอน เพื่ออธิบายจุดอ่อนจุดแข็งของนักเรียน ใช้ครูฝึกจำนวนมาก เพราะสัดส่วนครูฝึกต่อนักเรียน 4 ต่อ 1 คน

การอบรมครั้งนี้ ถือว่า เป็นอีกหนึ่งของการเพิ่มทักษะ เพื่อทำให้ขี่รถได้สนุกและหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เพราะจักรยานยนต์ทางตรงใครๆ ก็ขี่ได้ แต่สิ่งที่ยากคือทางโค้ง และการเรียนล่าสุดคือ การค้นหาศิลปะใหม่แห่งการเข้าโค้ง ให้แก่ตัวเอง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ