Lifestyle

สตรีไทยยุค 4.0 จากชนบท สู่การขับเคลื่อนสังคมไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ในภูมิภาคต่างๆ ยังมีกลุ่มสตรีที่เข้าไม่ถึงความเท่าเทียมและความเสมอภาคอยู่มาก

สตรีไทยยุค 4.0 จากชนบท สู่การขับเคลื่อนสังคมไทย

          องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันสตรีสากล” เพื่อให้ประชาชนในแต่ละประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของสตรี ให้เกียรติ และเคารพในสิทธิอันชอบธรรมในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี เสมอภาค ยุติธรรม และมีคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน  สำหรับประเทศไทยมีประชากรสตรีเกินครึ่งของทั้งหมด หรือราว 33.5 ล้านคน จำนวนนี้อยู่ในชนบทถึง 16.9 ล้านคน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เล็งเห็นถึงความสำคัญของพลังสตรีจึงได้จัดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด “พลังสตรีชนบท พลังขับเคลื่อนสังคมไทย” โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สตรี บุคคล และหน่วยงานองค์กรดีเด่น และปาฐกถาพิเศษ อีกทั้งรับมอบข้อเสนอเชิงนโยบายจากการประชุมสมัชชาสตรีแห่งชาติ ประจำปี 2561 จากคณะผู้แทนสมัชชาสตรีแห่งชาติ โดยมี พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์  เจ้ากระทรวงการพัฒนาสังคมฯ, เลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ให้การต้อนรับ ที่ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

สตรีไทยยุค 4.0 จากชนบท สู่การขับเคลื่อนสังคมไทย

          โอกาสนี้  พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ได้แสดงปาฐกถาพิเศษ "พลังสตรีชนบท พลังขับเคลื่อนสังคมไทย” ว่า ปีนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของสตรีในชนบท โดยทราบดีว่าในภูมิภาคต่างๆ นั้นยังมีกลุ่มสตรีที่เข้าไม่ถึงความเท่าเทียม และความเสมอภาคอยู่มาก แม้ว่าเรื่องนี้จะถูกนำไปพูดในระดับเวทีโลกอยู่เรื่อยๆ ก็ตาม แต่ก็ยังต้องเน้นและดำเนินการผลักดันอย่างจริงจัง โดยมีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตสตรีชนบท ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ หรือกระทรวงเกษตรฯ ผ่านกองทุนต่างๆ เพื่อให้สตรีชนบทได้รับโอกาสและความเท่าเทียม

          “เราได้จัดสรรงบในการพัฒนาความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย รวมถึงการหยุดความรุนแรงในสตรี สำคัญว่าจากนี้ไปจะทำอย่างไรให้แผนงานนี้สะท้อนไปถึงเป้าหมายและเกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เราอยากเห็นการยุติความรุนแรงในสตรี อยากเห็นหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทำงานร่วมกัน อีกทั้งสตรีในภูมิภาคได้เข้ามามีส่วนร่วม ทุกวันนี้สตรีเองต้องหมั่นพัฒนาตัวเอง หมั่นศึกษาหาความรู้ ก้าวทันเทคโนโลยี และคิดอย่างเป็นระบบ อย่ารอภาครัฐยื่นมือเข้าไปช่วยเท่านั้น เชื่อว่าถ้ามีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดก็จะสามารถทำได้ เราจะเดินหน้าไปด้วยกัน ตามที่ท่านยกฯ พูดเสมอว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ....เรื่องเหล่านี้ต้องมีความก้าวหน้า” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

          สำหรับบรรยากาศการการจัดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2561 เป็นไปอย่างคึกคัก มีการจัดนิทรรศการเชิงวิชาการเกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของสตรี รวมถึงการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการพัฒนาสถานภาพสตรีในหัวข้อต่างๆ ได้แก่ การบริหารและขับเคลื่อนกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ,สตรีกับสังคมผู้สูงอายุ, สตรีกับการพัฒนาเศรษฐกิจรากฐาน และสตรี พลังสังคม โดยมีผู้ร่วมงาน ประกอบด้วย ผู้เข้ารับรางวัลเชิดชูเกียรติ คณะกรรมการดำเนินงานวันสตรีสากล ผู้บริหารกระทรวง พม. ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และเครือข่ายสื่อมวลชน ส่วนไฮไลท์อยู่ที่พิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สตรี บุคคล และหน่วยงานองค์กรดีเด่น จำนวน 19 สาขา 47 รางวัล เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติสตรี บุคคล หน่วยงาน องค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ที่ทุ่มเททำงาน เพื่อความก้าวหน้าของสตรีและความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย รวมทั้งการรับมอบข้อเสนอเชิงนโยบายจากการประชุมสมัชชาสตรีแห่งชาติ ประจำปี 2561 จากคณะผู้แทนสมัชชาสตรีแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของสตรีไทยก้าวเดินต่อไปอย่างมีศักดิ์ศรีสู่สากล

สตรีไทยยุค 4.0 จากชนบท สู่การขับเคลื่อนสังคมไทย

ณิชกานต์ แจ่มใส 

       ส่วนหนึ่งของผู้ได้รับรางวัลปีนี้ “เบียร์” ณิชกานต์ แจ่มใส วัน 22 ปี นักศึกษาปี 4 คณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฏนครราชสีมา ยุวสตรีดีเด่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความสามารถเป็นล่ามภาษามือและจัดกิจกรรมให้กับเด็กและเยาวชนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เป็นอนุกรรมการองค์กรการบริหารนักศึกษาและคณะทำงานชมรมน้ำใจเพื่อผู้ป่วยโรคเอดส์ รวมทั้งเป็นอาสายุวกาชาดจังหวัด เจ้าตัวเผยว่าตื่นเต้นและดีใจมากเพราะเป็นรางวัลแรกในชีวิต เรียนสาขาการศึกษาพิเศษ มีโอกาสเป็นอาสาสมัครล่ามภาษามือให้ผู้พิการทางการได้ยินเวลาที่มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมเพื่อสังคม อยากให้ผู้พิการเหล่านี้ช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถอยู่ร่วมกับสังคมอย่างมีความสุข ขณะเดียวกันก็อยากให้สังคมยอมรับกลุ่มเด็กพิเศษ ไม่อยากให้มีเป็นภาระ ส่วนกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีจริงๆ พวกเขาน่าเห็นใจ เราใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ การทำงานตรงนี้ด้วยความเป็นผู้หญิงจะได้เปรียบในเรื่องความอ่อนโยน ความละเอียดรอบคอบ เพราะเป็นงานที่ละเอียดอ่อน อยากให้ผู้หญิงทุกคนเห็นคุณค่าในตัวเองก่อนแล้วจะเห็นคุณค่าในผู้อื่น

สตรีไทยยุค 4.0 จากชนบท สู่การขับเคลื่อนสังคมไทย

   เมธาวี สุวรรณวงศ์

        ด้าน เมธาวี สุวรรณวงศ์ วัย 62 ปี ที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมเขตประเวศ กรุงเทพฯ บุคลคลดีเด่นด้านการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ สตรีผู้นำในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสตรีในบทบาทอาสาสมัครส่งเสริมสิทธิ (อสส.) ในท้องถิ่น การต่อต้านยาเสพติด การรณรงค์ลดความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพามต่างๆ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับรางวัลนี้ ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นในการทำงาน มีคนมองเห็น รอบตัวเรายังมีปัญหาที่รอวันแก้อีกเยอะ ในเขตประเวศมีประชากรที่เป็นมุสลิมอยู่เกินครึ่ง บางครั้งเยาวชนในชุมชนอาจประพฤติตัวไม่เหมาะสม ข้องแวะกับอบายมุขหรือสิ่งเสพติด หรือเกิดความรุนแรงในบ้าน ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อ เราต้องรู้จักหาวิธีแก้ ในฐานะสตรีในความอ่อนโยนก็แฝงไว้ด้วยความเข้มแข็ง เน้นใช้วิธีพูดคุย เกลี้ยกล่อม ซึ่งก็ได้ผลน่าพอใจ

          “ปัญหาที่ความไม่เท่าเทียมที่มีโอกาสยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือก็อย่างครอบครัวแตกแยก แล้วสามีไปมีภรรยาใหม่ ทิ้งภาระไว้ให้ภรรยาเลี้ยงลูกตามลำพัง หรือบางกรณีถึงขั้นเอาลูกที่เกิดกับภรรยาใหม่มาให้เลี้ยง แบบนี้ไม่ยุติธรรม ไม่ว่าเจอปัญหาใดก็แล้วแต่ อยากผู้หญิงกล้าออกมา กล้ารณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้คนยอมรับในศักยภาพ ไม่ใช่มองเราเป็นเพียงแม่บ้าน จริงๆ ไม่อยากฝากถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมือง แต่อยากให้คนในชุมชนช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุดก่อน ถ้าเราเข้มแข็งใครหรืออะไรก็ทำร้ายเราไม่ได้” ที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมเขตประเวศ กล่าวทิ้งท้าย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ