Lifestyle

เชียงของ...ต้องไป

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่ "เชียงของ" มี "บ้านแฟน" มี "วัดแฟน"

เชียงของ...ต้องไป

จุดชมวิวแม่น้่ำโขงที่พระธาตุแม่ย่าม่อน

        หนึ่งในเมืองเล็กๆ สงบ อากาศสดชื่น ผู้คนอัธยาศัยดี มีชื่อ “เชียงของ” อำเภอตะเข็บชายแดนไทย ในจังหวัดเชียงราย ได้รับการบึนทึกชื่อไว้ในสมุดคู่มือของนักเดินทางท่องเที่ยวเรียบร้อยแล้ว...ถ้าถามว่าไป “เชียงของ” ต้องไปเที่ยวชมอะไรที่ไหน ตอบได้เลย "เชียงของ" ถึงจะมีพื้นที่เล็กๆ เพียง 836.9 ตร.กม. ท่ามกลางสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบสลับเทือกเขา แต่กลับอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมมากมาย อีกทั้งความสวยงามของธรรมชาติ ยังไม่นับรวมวิถีชีวิตอันแสนสงบ ซึ่งกลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไหลบ่าเข้าสู่เมืองเชียงของมากขึ้นในช่วงระยะเวลาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เชียงของ...ต้องไป

พระรับบาตรที่ถนนเลียบแม่น้ำโขงข้างๆ โรงแรมฟอร์จูนฯ

         การเดินทางสู่เมืองเชียงของ ครั้งนี้เป็นทริปซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง โรงแรมฟอร์จูน สายการบินแอร์เอเชีย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดย อ.คฑา ชินบัญชร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัฒนธรรมและศาสนา จัดโครงการ “เที่ยวข้ามภาค เชิงธรรมชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม” โดยชาวคณะเข้าพักที่ “โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิว เชียงของ” ท่ามกลางบรรยากาศและกลิ่นอายผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมล้านนาและรูปแบบการดีไซน์โรงแรมแบบโคโลเนียลสไตล์ มีห้องพักจำนวนมากกว่า 170 ห้อง แบ่งเป็นวิวชมเมืองและวิวชมแม่น้ำโขง ขณะที่ในส่วนของบริการนอกจากตามมาตรฐานโรงแรมทั่วไปแล้ว ที่นี่มีจักรยานให้ลูกค้ายืมปั่นชมวิถีชีวิตชาวถิ่นอีกด้วย เอาที่ใกล้ๆ ที่พักก็ปั่นเลาะไปบนถนนเลียบแม่น้ำโขง ในวันที่เดินทางไปถึงเป็นช่วงที่อุณหภูมิกดต่ำลงเหลือเพียงสิบต้นๆ สำหรับคนพื้นที่น่าจะเป็นบรรยากาศสบายๆ แต่สำหรับชาวพื้นราบอย่างเราถือว่าหนาวเอาการ แต่ถึงกระนั้นเราก็เลือกที่จะยอมสลัดผ้าห่มอันแสนอุ่นลุกขึ้นมาร่วมทำกิจกรรมทำบุญใส่บาตร ที่บริเวณถนนเลียบแม่น้ำตั้งแต่เช้าตรู่ ทำให้มีความสดชื่นเป็นพิเศษ

เชียงของ...ต้องไป

ปลาบึกเจ็ดสีมณีเจ็ดแสง...ในช่วงกลางวันก็จะเงียบเหงาหน่อยๆ

         หลังจัดการมื้อเช้า พวกเราไม่พลาดกิจกรรมปั่นสองล้อชมเมือง ซึ่งมีให้เลือก 2 เส้นทาง คือปั่นเข้ากลางเมืองชมวิถีตลาด (เส้นทางนี้กระซิบว่าผู้ปั่นน่าจะต้องมีทักษะการใช้จักรยานและประสบการณ์บนท้องถนนพอควร) กับอีกเส้นทางคือปั่นเลาะริมโขงชมอาคารบ้านเรือนซึ่งส่วนใหญ่จะปรับตัวเป็นที่พักค้างแรมให้บริการแก่นักท่องเที่ยว รวมวิถีชุมชนริมน้ำ ที่เห็นได้ชัดๆ ก็มีเรือหางยาวจอดเทียบท่ารอให้บริการนักท่องเที่ยวเลาะริมโขง บางช่วงบางตอนก็จะเห็นชาวบ้านเอาเรือออกไปหาปลา ขณะที่บางแห่งเราจะมีโอกาสได้เห็นชาวบ้านลงไปเก็บ “สาหร่าย” หรือ “ไก” ในแม่น้ำโขงขึ้นมาตากแดดแปรรูปเป็นสินค้าของฝาก เพราะอากาศเย็นและแดดยังไม่ร้อนจัดเท่าใดนัก เราได้รับคำแนะนำจากเจ้าถิ่นว่าหากไม่รีบไม่เร่งสามารถปั่นเพลินๆ ไปจนถึงสวนสาธารณะ “ปลาบึกเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง” (ซึ่งผู้ใหญ่ในท้องถิ่นพยายามจะผลักดันให้เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คในเชียงของ) ได้อย่างสบาย....แต่ปลาบึกนี้จะปล่อยแสงให้ดูมีชีวิตชีวาได้ก็ต้องรอช่วงค่ำๆ โน่นล่ะ หากไปตอนกลางวันจะได้เห็นเพียงประติมากรรมปลาบึกบนลานโล่งๆ เงียบๆ เหงาๆ เท่านั้น 

เชียงของ...ต้องไป

ชาวไทลื้อที่ชุมชนวัดท่าข้ามศรีดอนชัย

         อย่างที่เล่าไว้แต่แรกว่า เชียงของอุดมไปด้วยศิลปวัฒนธรรม ดังนั้นเพื่อเป็นสิริมงคลแก่การเดินทางท่องเที่ยว ขอเลี้ยวเข้าวัดก่อนเป็นอันดับแรก เริ่มจากที่ชุมชน “วัดท่าข้ามศรีดอนชัย” ซึ่งมีพระครูสุจิณวรคุณ เป็นเจ้าอาวาส จากการพูดคุยกับท่านทำให้ได้ทราบว่าที่ชุมชนแห่งนี้มีชาวไทลื้ออาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ด้วยความตั้งใจของท่านเจ้าอาวาสอยากให้มีการดำรงพิธีจุลกฐินซึ่งเป็นประเพณีของชาวพุทธ และเพื่อให้สอดคล้องกับชุมชนผู้มีความชำนาญด้านการทอผ้าไทลื้อและเพื่อสืบสานตำนานการทอผ้าให้คงอยู่ไว้ตราบนานเท่านนาน จึงนำมาผนวกกันให้เกิดเป็นอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น เป็นที่มาของพิธี “มหาบุญจุลกฐินถิ่นไทลื้อ” โดยพิธีดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ “พิธีปลูกฝ้ายจัยยะมงคล” (ประมาณ 10-11 พ.ค.ของทุกปี) รอจนฝ้ายโตเราจึงจัดงาน “กล่อมฝ้ายจัยยะมงคล” (10-11 สิงหาคม) ในพิธีนี้เราจะเลือกนางฝ้ายคำ ทำหน้าที่แห่ฝ้ายในช่วงท้ายพิธี จากนั้นจึงมาถึงช่วง 10-11 พฤศจิกายน คือ “วันเก็บฝ้าย” ซึ่งในช่วงเวลานี้จะมีขั้นตอนการตีฝ้าย ปั่นฝ้าย ทอฝ้าย ย้อมผ้าฝ้าย และเย็บผ้า ภายในหนึ่งราตรี พอรุ่งเช้าชาวบ้านจึงจะแห่ผ้าไปถวายวัด โดยพิธีนี้จัดมาต่อเนื่อง 11 ปีแล้ว  นอกจากนี้ที่ชุมชนวัดศรีดอนชัย กำลังจะเปิด “ศูนย์วัฒนธรรมไทยลื้อ” ขึ้นในเดือนเมษายนของปีนี้ โดยข้างในประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์ภาพเก่าเล่าเรื่องวิถีชีวิตของชาวเมืองเชียง รวบรวมภาพเก่าของเป็นนิทรรศการผ่านการเชื่อมโยงสมัยโบราณและสมัยปัจจุบันว่ามีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง อีกส่วนหนึ่งเป็นพิพฺิธภัณฑ์ผ้าทอไทลื้อทั้งของไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา จัดแสดงผลัดเปลี่ยนทุก 3 เดือน ส่วนสุดท้ายเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในอุโบสถกลางน้ำเปิดให้ญาติโยมเข้าไปนั่งปฏิบัติธรรม ด้วยการนับลูกปะคำ ทางเหนือเรียกว่า “ตบลูกหมากนับ”

เชียงของ...ต้องไป

วิวหลักล้านที่บ้านแฟน

         อีกแห่งที่อยากเล่าถึงคือใครไปเชียงของ...ต้องไป “บ้านแฟน” ถึงจะไปเดี่ยว ไปเป็นคู่ หรือว่าไปแบบยกก๊วน ก็สามารถชวนกันไปเที่ยวบ้านแฟนได้ทุกคน และไฮไลท์ของบ้านแฟนก็คือ “วนอุทยานห้วยน้ำช้างและอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำช้าง” เพราะมีทิวทัศน์สวยงามเรียกว่าวิวหลักล้านก็ว่าได้ แถมชื่อหมู่บ้านก็เข้าที ทางภาครัฐจึงพยายามขับเคลื่อนให้นี่มีกิจกรรมประจำทุกปีในเดือนแห่งความรักนั่นคือเทศกาล “บอกรัก ฮัก(HUG)กันที่บ้านแฟน” หลังจากพากันไปบอกรักแฮปปี้กันแล้ว ยังไม่จบแค่นั้น ในเมื่อไปจนถึงบ้านแฟนแล้ว จึงอยากจะชวนให้พากันไปทำบุญตักบาตรที่ “วัดแฟน” ซะด้วยเลย ความโดดเด่นของแห่งนี้คือ “บาตรไม้ไผ่ใหญ่ที่สุดในโลก” ด้วยมีความสูง 9 เมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เมตร ดังนั้นเวลาจะใส่บาตรจึงต้องนำปัจจัยใส่ลงในขันแล้วออกแรงหมุนๆ ชักรอกขึ้นไป ไม่แค่ได้บุญเท่านั้นนะยังได้ความบันเทิงเล็กๆ ให้อิ่มเอมใจกลับบ้านด้วย

เชียงของ...ต้องไป

         นอกจากนี้ ที่บ้านปากอิง ในอำเภอเชียงของยังมี “พระธาตุแม่ย่าม่อน” เดิมเป็นวัดร้างและต่อมาชาวบ้านได้ปรับปรุง บูรณะใหม่จนกลายเป็นวัดที่มีคนเคารพ ศรัทธา เนื่องจากตำนานวัดนั้น คนแก่เล่าขานกันว่ามีรูพญานาค (บางคนเล่าว่าเป็นพญาเงือก) ไว้สัญจรไปมาระหว่างโลกใต้น้ำกับโลกมนุษย์ ชาวบ้านมีความศรัทธาอย่างมาก เหนือจากเรื่องความเชื่อความศรัทธาที่พระธาตุแม่ย่าม่อนแห่งนี้ยังถือเป็นจุดชมวิวแม่น้ำโขงที่สวยงามมากแห่งหนึ่งด้วย

เรื่อง...กอบแก้ว แผนสท้าน
ภาพ...ทิพย์สุดา แก้วศรีราวงษ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ