Lifestyle

ปั่นปันสุข ปลุกกระแสเกษตรอินทรีย์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรียนรู้ศาสตร์ชาวบ้านสัมผัสมุมมองใหม่วิถีเกษตรอินทรีย์ดีต่อกายและใจ

 

       จุดหมายปลายทางของการเดินทางท่องเที่ยวใช่เพียงเพื่อตักตวงความสุขสนองนี้ดส่วนตัว หากสาระสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามนั่นคือการแบ่งปันความสุขแก่คนรอบข้างไปพร้อมกัน ถ้ายังไม่มีโอกาสได้ทำอยากให้ลองสัมผัสรสชาติที่ว่า เหมือนอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีโอกาสติดตามคณะทัวร์วิถีเกษตรไปเรียนรู้ศาสตร์ชาวบ้านด้านการเพาะปลูกพืชผักปลอดสารพิษที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากเมืองกรุงอย่าง หมู่บ้านอินทรีย์บ้านยางแดง ต.คู้ยายหมีอ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา สัมผัสมุมมองใหม่วิถีเกษตรอินทรีย์ดีต่อกายและใจ

ปั่นปันสุข ปลุกกระแสเกษตรอินทรีย์

ขบวนปั่นปลุกกระแสเกษตรอินทรีย์

       บ้านยางแดง เป็นหนึ่งในสมาชิกหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ที่มีทั้งหมด 8 แห่งทั่วประเทศที่กระทรวงพาณิชย์วางเป้าให้เป็นจุดเช็กอินใหม่ หวังดึงคนเข้าไปเที่ยว เข้าไปเลือกซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ หลังเข้าไปช่วยพัฒนาจนเกษตรกรมีความเข้มแข็ง สามารถผลิตสินค้าป้อนออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดตอกย้ำความสำเร็จด้วยการจัดกิจกรรม "ไรด์ ทู ซักเซส" (Ride to Success) ปั่นเพื่อเปลี่ยนมุมมองใหม่วิถีเกษตรอินทรีย์ดีต่อกายและใจ จุดประกายให้คนไทยให้ความสำคัญ และหันมาท่องเที่ยวเชิงอินทรีย์กันมากขึ้น 

ปั่นปันสุข ปลุกกระแสเกษตรอินทรีย์ ศิริวรรณ โชติโยธิน เชื้อเชิญ บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน สัมผัสน้ำมันมะรุม

       พอหัวขบวน บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป่านกหวีดให้สัญญาณเท่านั้นล่ะ สองเท้าปั่นสองตาก็สอดส่องไปตามเส้นทางเกษตรอินทรีย์ทันที แต่บอกก่อนว่างานนี้จะปั่นลุยแปลงผักชาวบ้านอย่างเดียวไม่ได้นะจ๊ะ ต้องจอดไว้หรือลงจูงเป็นบางช่วง เพราะจะได้พาตัวเองเข้าไปสัมผัสพืชผักได้อย่างแท้จริง ซึ่งพี่ป้าน้าอาชาวสวนรอต้อนรับและยินดีให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มใจ “พี่ต้อย” พูลเพ็ชร สีเหลืองอ่อน ผู้บุกเบิกแรงบันดาลใจการทำเกษตรอินทรีย์ประจำหมู่บ้าน เล่าว่า เริ่มทำเกษตรอินทรีย์เมื่อปี 2551 เป็นเกษตรแปลงย่อยผสมผสาน มีสมาชิกเครือข่าย 500 คน โดยปลูกพืชที่สอดคล้องกัน ทุกอย่างเน้นส่งเสริมระบบอินทรีย์เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืนและปลอดภัย ซึ่งเป็นเทรนด์อาหารที่ผู้บริโภคกำลังใส่ใจ 

ปั่นปันสุข ปลุกกระแสเกษตรอินทรีย์ พูลเพ็ชร สีเหลืองอ่อน ชวนชมการปลูกผักหวานป่า

       เห็นธรรมดาๆ แบบนี้ไม่ธรรมดานะ เพราะเขาโกอินเตอร์แล้ว อย่างข้าวอินทรีย์ส่วนใหญ่ส่งขายต่างประเทศ ที่เหลือก็แปรรูปเป็นขนมจีน หรือผักต่างๆ ก็ไปนอนสดๆ สวยๆ ที่ร้านเลม่อนฟาร์มให้คออาหารออแกนิกส์ได้เลือกซื้อหาไปปรุงจานอร่อยกันถ้วนทั่ว และเป็นโอกาสดีของพวกเราชาวปั่นเช่นกันที่มื้อนี้จะได้เติมพลังกันด้วยอาหารปลอดสารพิษ สดใหม่ รสชาติหวานธรรมชาติยังไงล่ะจ๊ะ

ปั่นปันสุข ปลุกกระแสเกษตรอินทรีย์ แวะแชะภาพเป็นที่ระลึกกันหน่อย

       พี่ต้อย บอกว่าก่อนหน้านี้ทำเกษตรที่ใช้สารเคมี นานเข้าสุขภาพคนทำก็ย่ำแย่ พอเปลี่ยนมาเป็นปลอดสารเห็นได้ชัดว่าสุขภาพดีขึ้น ผลผลิตก็ดีขึ้น ที่สำคัญไม่ต้องสิ้นเปลืองไปกับการรักษาโรคภัยเพราะสารเคมี นำเงินส่วนนี้มาเป็นทุนรอนทำโน่นนี่นั่นได้อีกเยอะ ตอนนี้จากคนรุ่นเก่าๆ ที่หันมาทำแบบนี้ คนรุ่นใหม่ก็เริ่มสนใจด้วย แต่ก็อยากให้หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนด้านการจัดการกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้ผลิตรายใหม่ๆ จะเป็นโอกาสสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี

ปั่นปันสุข ปลุกกระแสเกษตรอินทรีย์ เยี่ยมชมแปลงเกษตรอินทรีย์ 

       จากแปลงบ้านนี้ไปแปลงบ้านโน้น ได้พบกับ ศิริวรรณ โชติโยธิน เกษตรกรผู้ปลูกพืชและเน้นการแปรรูปแบบอุตสาหกรรมครัวเรือนที่ทำเกษตรอินทรีย์มาร่วม 10 ปี และมีสินค้าเกษตรหลักเป็นตัวทำเงินอย่าง “มะรุม” เล่าให้ฟังว่า ตัวเองเป็นคนกรุงเทพฯ ช่วงวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ทำงานบริษัทแล้วต้องหยุดงานเป็นเดือน จึงติดตามเพื่อนมาพักผ่อนที่บ้านยางแดง แล้วเห็นลู่ทางการทำเกษตรที่น่าสนใจ จึงเริ่มเรียนรู้และซื้อที่ทางเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกแล้วก็มาค้นพบว่ามะรุมเป็นพืชที่น่าสนใจจึงเริ่มศึกษาอย่างจริงจังจนสามารถทำน้ำมันสกัดจากเมล็ดมะรุมส่งขายได้ลิตรละเป็นหมื่นบาท ภายใต้ชื่อ “สวนมะรุม วี ออแกนิกส์ ฟาร์ม”

ปั่นปันสุข ปลุกกระแสเกษตรอินทรีย์

ผักปลอดสารพิษ

       ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งพืชผักอื่นๆ อย่างผักสลัด หอม กระเทียม กล้วยหอม และผักหวานป่า พร้อมกับนำความรู้จากการเรียนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ มาประยุกต์เรื่องค้าขายอย่างไรให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าหลัก นอกจากนี้ ยังปรับพื้นที่หน้าบ้านเป็นจุดพักผ่อนสำหรับนักเดินทาง นำฟางข้าวมาทำเป็นที่นั่ง ปูผ้าขาวม้า กางร่มกันแดด ให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสพืชผักอย่างใกล้ชิดและซื้อหาเป็นของฝากได้ด้วย

       เห็นว่าหมู่บ้านยางแดง ได้เตรียมรับนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มก้อน โดยเริ่มจากกลุ่มสมาชิกที่รับผลผลิตเป็นประจำก่อนยังไม่เปิดรับทั่วไป สมาชิกจะได้รับรู้ว่าของที่กินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันมีที่มาจากไหน ปลอดภัยอย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจ โดยจะรับคณะละ 15-20 คน คิดราคา 200-500 บาทต่อหัว ให้มาย่ำแปลงเกษตรอินทรีย์ที่ทอดตัวเป็นแนวยาวริมคลองยางแดง พร้อมกิจกรรมสนุกๆ อย่างการบีบขนมจีนจากข้าวปลอดสาร ทำขนมข้าวต้มมัดใบกะพ้อ เป็นลักษณะมาเช้าเย็นกลับ เพราะยังไม่มีที่พักแบบโฮมสเตย์ แต่ถ้าจะค้างคืนจริงๆ ก็มีแผนส่งไปพักที่เครือข่ายละแวกใกล้เคียงอย่างที่ จ.สระแก้ว หรือปราจีนบุรี เป็นต้น

ปั่นปันสุข ปลุกกระแสเกษตรอินทรีย์ เติมพลังด้วยอาหารออแกนิกส์ก่อนปั่น

       ถือเป็นการท่องเที่ยวบนความพอเพียงที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยใช้แนวคิดเกษตรปลอดภัยและยั่งยืนดึงดูดให้คนเข้ามา ซึ่งจะส่งผลดีให้เกษตรกร ชาวบ้าน และชุมชน มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้มีหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์เกิดขึ้นมาได้แล้ว 8 แห่ง นอกจากที่บ้านยางแดงนี้แล้ว ก็มี หมู่บ้านริมสีม่วง จ.เพชรบูรณ์, หมู่บ้านหนองสะโน จ.นครพนม, หมู่บ้านทัพไทย จ.สุรินทร์, หมู่บ้านห้วยพลู จ.นครปฐม ฯลฯ 

       ในอนาคตมีการตั้งเป้าเพิ่มหมู่บ้านอินทรีย์อีก 4 แห่งภายในปี 2561 จะทำให้มีหมู่บ้านอินทรีย์ทั้งสิ้น 12 แห่งทั่วประเทศ ถึงวันนั้น...เตรียมฟิตแรงขาทั้งปั่นและเดินท่องแปลงเกษตรกันเสียให้หนำ...

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ