Lifestyle

"โรคระบบทางเดินอาหาร” ปัญหาว้าวุ่นใจ…วัยสูงอายุ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลายคนมักคิดว่าเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว ร่างกายก็จะเสื่อมถอยและโรคต่างๆ ก็จะตามมา แต่ความจริงแล้ว หากดูแลสุขภาพดีๆ ก็สามารถชะลอความเสื่อมของร่างกายได้

      ปัจจุบันประชากรวัยสูงอายุของไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี จนมีการคาดการณ์ว่าในปี 2568 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยจะมีผู้สูงอายุราว 14.4 ล้านคน นั่นหมายความว่าเราจะพบผู้สูงอายุ 1 คน ในประชากรทุกๆ 5 คน

 "โรคระบบทางเดินอาหาร” ปัญหาว้าวุ่นใจ…วัยสูงอายุ

     หลายคนมักคิดว่าเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว ร่างกายก็จะเสื่อมถอยและโรคต่างๆ ก็จะตามมา แต่ความจริงแล้ว หากเราดูแลรักษาสุขภาพเป็นอย่างดี บวกกับวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น เราสามารถชะลอความเสื่อมของร่ายกาย ลดโอกาสการเกิดโรค และใช้ชีวิตในวัยสูงอายุได้อย่างมีความสุข แบบที่หลายคนบอกว่าอายุเป็นเพียงตัวเลข

     เพื่อให้คนไทยเตรียมรับมือกับวัยสูงอายุและใช้ชีวิตในวัยนี้ได้อย่างมีความสุข โรงพยาบาลนครธนจึงร่วมกับชมรมอายุวัฒนา จัดงาน เกษียณวัย อย่างมีความสุข ขึ้น โดยมี นพ.สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลนครธน มาบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ โรคระบบทางเดินอาหาร ปัญหาว้าวุ่นใจ...วัยสูงอายุ

 "โรคระบบทางเดินอาหาร” ปัญหาว้าวุ่นใจ…วัยสูงอายุ

นพ.สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์ 

       นพ.สมบุญ กล่าวว่า โรคระบบทางเดินอาหารเป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร เริ่มตั้งแต่ปากไปจนถึงทวารหนัก ซึ่งทุกวัยสามารถเป็นโรคนี้ได้ แต่เนื่องจากผู้สูงอายุมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากวัยอื่นจึงมีโอกาสเกิดโรคระบบทางเดินทางอาหารได้มากกว่า ลักษณะเฉพาะของผู้สูงอายุที่ต่างจากวัยอื่น เช่น การที่ผู้สูงอายุมีพลังสำรองของร่างกายลดลง โรคบางโรคเป็นปัญหาของผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ในโรคเดียวกันมีรูปแบบและอาการแสดงของโรคแตกต่างจากหนุ่มสาว มีรอยโรคหลายอย่าง มีโรคร่วม โรคประจำตัว และมีการใช้ยาหลายชนิด

     "อาการและโรคระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ กลืนลำบาก ปวดท้อง เลือดออกจากทางเดินอาหาร ท้องผูก โรคตับ นิ่วในถุงน้ำดีและทางเดินน้ำดี แต่โรคที่ต้องจับตามมองเป็นพิเศษ คือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งตามสถิติจะพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 8,700 รายต่อปี และมากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่สำคัญ มากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะตรวจพบโรคในระยะท้าย ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายและอัตราการเสียชีวิตสูง ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงจึงควรหมั่นสังเกตตัวเองและตรวจสุขภาพเป็นประจำ” นพ.สมบุญ กล่าว

 "โรคระบบทางเดินอาหาร” ปัญหาว้าวุ่นใจ…วัยสูงอายุ

      สำหรับคนที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เคยมีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก หรือมะเร็งเต้านมมาก่อน หรือผู้ที่เคยมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ หรือเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคอ้วน สูบบุหรี่ ดื่มสุรา รับประทานทานอาหารมัน เนื้อแดง รมควัน และปิ้งย่าง ซึ่ง นพ.สมบุญ ได้ให้คำแนะนำว่า ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างไม่สามารถเลี่ยงได้ แต่เราสามารถลดโอกาสการเกิดโรคด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หมั่นออกกำลังกาย และดูแลเรื่องอาหาร เช่น ลดการรับประทานอาหารไขมันสูง เนื้อแดง อาหารที่ผ่านการปรุงแต่ง อาหารปิ้งย่าง หันมารับประทานอาหารที่มีกากใยสูง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และควรตรวจคัดกรองในกรณีที่มีความเสี่ยงหรือมีอาการที่สงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

     เพื่อให้ทุกคนห่างไกลจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ นพ.สมบุญ จึงได้ฝากทิ้งท้ายในการบรรยายครั้งนี้ว่า หากใครมีอาการที่ชวนสงสัยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรอง ซึ่งอาการดังกล่าว ได้แก่ มีความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระ เช่น ท้องผูกหรือท้องเสียเป็นประจำ ท้องผูกสลับท้องเสีย อุจจาระมีเลือดปนซึ่งอาจเป็นสีแดงสดหรือสีคล้ำ มีกลิ่นเหม็นผิดปกติ เวลาเบ่งถ่ายอุจจาระมีติ่งเนื้อยื่นออกมาจากทวารหนักและมีเลือดออก มีก้อนในท้อง น้ำหนักลด ซีด อ่อนเพลีย ส่วนผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจทางทวารหนักโดยการส่องกล้องทุกๆ 3-5 ปี

 "โรคระบบทางเดินอาหาร” ปัญหาว้าวุ่นใจ…วัยสูงอายุ

     หากใครมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็ควรได้รับการตรวจด้วยเช่นกัน ซึ่งตามสถิติพบว่า คนที่มีพ่อแม่ พี่น้อง ลูก เป็นโรคนี้ 1 คน จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ถึง 2-3 เท่า คนที่มีพ่อแม่ พี่น้อง ลูก เป็นโรคนี้ 2 คน จะมีความเสี่ยงเพิ่มเป็น 3-4 เท่า เช่นเดียวกับคนที่มีพ่อแม่ พี่น้อง ลูก เป็นโรคนี้ในขณะที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี ก็จะมีความเสี่ยง 3-4 เท่า หรือแม้แต่คนที่มีพ่อแม่ พี่น้อง ลูก มีเนื้องอกติ่งเนื้อ (Polyps) ที่ลำไส้ 1 คน ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็น 2 เท่า คนในครอบครัวแม้จะห่างออกไป เช่น ปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา ถ้ามีใครเป็นก็ไม่ควรวางใจ เพราะทำให้มีความเสี่ยงเช่นกัน แต่ความเสี่ยงจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการที่มีพ่อแม่ พี่น้อง ลูก เป็น

 "โรคระบบทางเดินอาหาร” ปัญหาว้าวุ่นใจ…วัยสูงอายุ

     นอกจากความรู้ในการดูแลตัวเองเรื่องโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว ผู้ร่วมงานยังได้รับความรู้เกี่ยวกับโรคระบบทางเดินอาหารอื่นๆ จากนพ.สมบุญ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอาการกลืนลำบาก ปวดท้องเฉียบพลัน นิ่วในถุงน้ำดีและทางเดินน้ำดี เลือดออกจากทางเดินอาหาร ไขมันสะสมในตับ และในงานยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่จัดมาเอาใจผู้สูงวัยอีกมากมาย อาทิ เวิร์กชอปทำอาหารคลีน การตรวจสุขภาพมวลกระดูก การตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบในร่างกาย และการตรวจธาตุเจ้าเรือน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ