Lifestyle

ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ หนุน‘กบ’ครองโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ หนุน‘กบ’ครองโลก

             การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่ทำให้ไดโนเสาร์หายไปจากโลกนี้ กลายเป็นการเปิดทางให้ “กบ” สัตว์โลกที่มีลักษณะแตกต่างจากยักษ์ใหญ่เหล่านี้อย่างสิ้นเชิง เข้าครอบครองโลกแทน

                  เดวิด แบล็คเบิร์น ภัณฑารักษ์ด้านสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และสัตว์เลื้อยคลาน แห่งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติฟลอริดา ระบุว่า กบท่องเที่ยวอยู่บนโลกนี้มานานกว่า 200 ล้านปีแล้ว แต่ผลการศึกษาล่าสุดนี้แสดงให้เห็นว่า สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดนี้เพิ่งจะมีความหลากหลายของสายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น จนเป็นกบพันธุ์ต่างๆ จำนวนมากอย่างที่มีอยู่ในทุกวันนี้ หลังจากที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว

                 “การค้นพบนี้ ถือเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายอย่างมาก”

                   ไดโนเสาร์ครองโลกเมื่อราว 175 ล้านปี ในช่วงที่รู้จักกันในชื่อของมหายุคมีโซโซอิก ก่อนจะสูญพันธุ์ไปจากโลกเมื่อราว 65 ล้านปีที่แล้วหลังจากที่ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก ในเหตุการณ์ที่ถูกเรียกว่าการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ จนถึงขณะนี้ยังเป็นเรื่องที่คลุมเครืออยู่ว่า กบแบ่งแยกออกเป็นสายพันธุ์ต่างๆ ได้อย่างไร และจริงๆ แล้วเกิดขึ้นในเวลาใดกันแน่ โดยผลการศึกษาบางฉบับบ่งชี้ว่าวงศ์กบหลักๆ มีอยู่ 3 วงศ์ คือ Microhylidae หรืออึ่งอ่าง Natatanura ที่พบในทวีปแอฟริกา และ Hyloidea ที่พบในทวีปอเมริกาใต้ เป็นกบที่สืบสายพันธุ์มาตั้งแต่ในมหายุคมีโซโซอิก และปัจจุบันมีการสืบสายพันธุ์และแตกแขนงทางชีววิทยาไปทั่วโลก

                       ในความพยายามที่จะหาช่วงเวลากำเนิดอันแน่ชัดของกบ แบล็คเบิร์น และทีมงาน ได้วิเคราะห์ยีน 95 ยีน จากกบสายพันธุ์ต่างๆ 156 ชนิด ที่พบในโลกยุคปัจจุบัน จากนั้นนำข้อมูลมารวมเข้ากับข้อมูลที่ได้มาก่อนหน้านี้ จากกบสายพันธุ์อื่นๆ อีก 145 สายพันธุ์ ก่อนจะนำไปสร้างแผนภาพต้นไม้คาดการณ์สายสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของกบทุกวงศ์ จากนั้นทีมงานได้สำรวจซากฟอสซิลของกบเพื่อยึดจุดเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของกบแบบเจาะจงช่วงเวลา

                   ทีมวิจัยค้นพบว่ากบทั้ง 3 วงศ์ แตกสายพันธุ์ออกไปในช่วงเวลาเดียวกัน และมีการกระจายสายพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในช่วงรอยต่อของยุคครีเทเชียส และพาลีโอจีน หลังจากที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปไม่นานนัก แม้การค้นพบดังกล่าวจะขัดแย้งกับงานวิจัยที่ออกมาก่อนหน้านี้ แต่เดวิด เวค นักชีววิทยาวิวัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ชี้ว่า ผลการศึกษาที่ออกมาถือว่าสมเหตุสมผล เพราะในช่วงที่ไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ยังอยู่นั้น ระบบนิเวศวิทยามีหลุมอยู่เป็นจำนวนมาก

                    “เราคิดว่าโลกค่อนข้างย่ำแย่ผลจากเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ และเมิื่อพืชเริ่มฟื้นขึ้นมา พืชชั้นสูงปกคลุมไปทั่ว ก็เป็นช่วงเวลาที่ต้นไม้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายของกบ จนทำให้เกิดการแตกสายพันธุ์ออกไปอย่างหลากหลายโดยเฉพาะในแถบอเมริกาใต้"

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ