Lifestyle

“กิน เที่ยว ช็อป” สไตล์ภูธร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เสริมศักยภาพให้หมู่บ้านสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“กิน เที่ยว ช็อป” สไตล์ภูธร

นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน

          เพราะ "หมู่บ้านโอท็อปเพื่อการท่องเที่ยว” ต้องอาศัยการรวมพลังกันทุกฝ่าย ด้วยเหตุนี้ กรมการพัฒนาชุมชน โดย ณรงค์ บุ่ยศิริรักษ์ รองอธิบดี จึงส่งเสริมให้คนในชุมชนช่วยกันคิดวิเคราะห์ หาความพร้อมของหมู่บ้าน เพื่อเสริมศักยภาพให้หมู่บ้านสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับหมูบ้านโอท็อปเพื่อการท่องเที่ยว มีจำนวนรวม 111 แห่ง จากทั้งหมด 4 ภาค โดยแต่ละพื้นที่จะชูจุดเด่นของแต่ละภาคซึ่งแตกต่างกัน เพื่อสัมผัสแหล่งธรรมชาติที่น่าตื่นตาตื่นใจ รวมทั้งวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมของคนในหมู่บ้าน และผลิตภัณฑ์ประจำหมู่บ้านที่เป็นเอกลักษณ์...ลองมาฟังเสียงคนในพื้นที่กันดูบ้าง

“กิน เที่ยว ช็อป” สไตล์ภูธร

สมัย เสวิศิษฐ์ กับผลผลิตเสาวรสของตัวเอง

          แม้จะไม่ได้กำไรมหาศาลจนถึงขั้นสร้างบ้านใหญ่โต ออกรถหรู แต่รายได้เฉลี่ยปีละ 3-4 แสนบาท ก็พอจะทำให้ครอบครัวชาวสวนทั้ง 4 ชีวิต ของ สมัย เสวิศิษฐ์ เกษตรกรวัย 61 ปี จากหมู่บ้านหนองแม่นา ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ติดขัด นับตั้งแต่เริ่มทำเกษตรผสมผสานตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่ปี 2530 ด้วยมองเห็นคุณค่าของชุมชนบ้านเกิด โดยใช้สิทธิ์ที่ทำกินที่ดินราษฎรอาสาสมัคร (รอส.) เพียง 16 ไร่ เป็นต้นทุนในการดำเนินชีวิต ปลูกทั้งเสาวรส พริก แก้วมังกร เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกถั่ว ปลูกวนกันไปตามฤดูกาล ไม่เน้นกำไรมาก เอาแค่พออยู่ได้

“กิน เที่ยว ช็อป” สไตล์ภูธร

          ปัจจุบันหมู่บ้านกลายเป็นพื้นที่เกษตรที่น่าสนใจมีพืช ผัก ผลไม้หลากหลายชนิด กระทั่งกลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวิถีเกษตร ที่มีบ้านพักและกิจกรรมรองรับนักท่องเที่ยว พร้อมสินค้าที่ระลึกอันเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการรวมตัวของคนในชุมชน และกลายเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย เลือกเป็นหมู่บ้านโอท็อป แห่งการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิดประชารัฐที่เน้น “กิน เที่ยว ช็อป”

“กิน เที่ยว ช็อป” สไตล์ภูธร

    สุรินทร์ สุขมี โชว์ผลผลิตจากในสวน

          สุรินทร์ สุขมี ผู้ใหญ่บ้านหนองแม่นา ระบุว่าที่ดินในชุมชนมีราว 1,000 ไร่ มีประชากรใช้ประโยชน์ประมาณ 460 กว่าคน ส่วนมากเป็นเกษตรกร แต่ต่อมาพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นอาชีพเสริม ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวตลอดปี ยกเว้นช่วงปิดฤดูน้ำหลาก คือ พฤษภาคม-มิถุนายน โดยเน้นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คือไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ แบ่งกลุ่มชาวบ้านให้ทำหลายๆ อย่าง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและอาชีพ ได้แก่ ทำสวนผสมผสาน ผลิตสินค้าท้องถิ่น เช่น ไม้กวาด เสาวรสแปรรูป แยม น้ำผลไม้ มีกลุ่มโฮมสเตย์หรือบ้านพักที่ให้นักท่องเที่ยวมาค้างคืน กลุ่มนำเที่ยวและบริการข้อมูล มีร้านค้าชุมชน และมีกลุ่มพายเรือในลำน้ำเข็ก บ้างมาเที่ยวสวนผลไม้ สวนหม่อน กิจกรรมเหล่านี้ทำให้หมู่บ้านมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนไม่ต่ำกว่าปีละ 1 แสนบาท

“กิน เที่ยว ช็อป” สไตล์ภูธร

          ขณะที่หมู่บ้านแห่งอารยธรรม 3 ชนเผ่า ม้ง เย้า ลีซอ อย่างบ้านเล่าลือ ต.ขาค้อ อ.เขาค้อ ก็จัดอยู่ในหมู่บ้านที่โดดเด่นและมีมรดกด้านวัฒนธรรม ที่กรมการพัฒนาชุมชนยกให้เป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งนอกจากงดงามด้วยความหลากหลายของชาติพันธุ์แล้ว ยังเป็นหมู่บ้านที่มีสินค้าแปรรูป และผลิตภัณฑ์พื้นเมืองมากมายที่เป็นผลงานของชุมชน เช่น ผลิตภัณฑ์จักสานกัญชง ข้าวไร่อินทรีย์ เมล็ดแมคคาเดเมีย ชุดแต่งกายและข้าวของเครื่องใช้เครื่องประดับประจำชนเผ่าต่างๆ ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้คนมาเที่ยว จ.เพชรบูรณ์ ต้องตัดสินใจไปแวะชมและซื้อสินค้า

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ