Lifestyle

เซี่ยงไฮ้...ความศิวิไลซ์ในวิถีมังกร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความยิ่งใหญ่ของ “มังกร” ผงาดที่ “เซี่ยงไฮ้”

       ปี 2010 “เซี่ยงไฮ้” เมืองเอกด้านเศรษฐกิจของจีนถูกจับตามองจากทั่วโลก ด้วยคล้อยหลังเพียง 2 ปีหลังจากกรุงปักกิ่งเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในปี 2008 ก็ประกาศก้องให้โลกรู้ถึงศักยภาพและความยิ่งใหญ่ของ “มังกร” อีกครั้ง กับการจัดมหกรรมเซี่ยงไฮ้ เอ็กซ์โป 2010แต่ละงานประสบความสำเร็จรับทั้งซองและกล่อง และเซี่ยงไฮ้ในวันนี้ก็เป็น “กระเป๋าตังค์ใบใหญ่” ที่กระจายไปสร้างความเจริญตามส่วนต่างๆ นั่นจึงเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ร้านอาหารสัญชาติไทยในเครือเอสแอนด์พีอย่าง “วานิลลา” เห็นศักยภาพขยายสาขาไปปักหลักถึงถิ่น สร้างความต่างทั้งรสชาติและหน้าตาอาหารไทยจนขึ้นไปอยู่ท็อปเท็นของร้านดังที่ต้องแวะชิมให้ได้

เซี่ยงไฮ้...ความศิวิไลซ์ในวิถีมังกร

หาดเจ้าพ่อเซียงไฮ้ มองเห็นฝั่งเมืองใหม่มีหอไข่มุกและเซี่ยงไฮ้ทาวเวอร์นำสายตา

     ก่อนจะลิ้มรส “วานิลลา” สาขาล่าสุด อยากจะพาไปชิมรสชาติความเป็นอยู่ในมหานครที่ได้ชื่อว่าค่าครองชีพแพงที่สุดของจีน ระยะทางราว 50 กม.จากสนามบินนานาชาติผู่ตง เดินทางโดยรสบัสใช้เวลาไม่เกินชั่วโมงครึ่ง พอเข้าสู่ตัวเมืองไกด์นำเที่ยวคนท้องถิ่นที่ส่วนใหญ่รับลูกทัวร์คนไทยจนมีชื่อภาษาไทยว่า “บอล” ก็เริ่มสาธยายเป็นน้ำจิ้มว่า คนจีนมาที่นี่จะรู้สึกว่าตัวเองไม่รวยมากเพราะค่าครองชีพแพงสุดๆ ต้องมีรายได้อย่างน้อย 4,000 หยวน หรือ 2 หมื่นบาทถึงจะพออยู่ได้ เช่นเดียวกับหากไปปักกิ่งจะรู้สึกว่าตัวเล็กลง เพราะเป็นเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยผู้หลักผู้ใหญ่ 

เซี่ยงไฮ้...ความศิวิไลซ์ในวิถีมังกร

อ.เหวียน สอนเขียนอักษรจีนแบบใกล้ชิด

       แลนด์มาร์คที่ผู้มาเยือนถิ่นเจ้าพ่อในตำนานต้องไปสัมผัสให้ได้ แน่นอนว่านอกจาก “หาดเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้” อันเลื่องชื่อที่สองข้างทางเต็มไปด้วยตึกทรงยุโรปในยุคที่ชาวตะวันตกเข้ามาเช่าที่ทำธุรกิจ เห็นจะเป็น “หอไข่มุก” หอสูงเสียดฟ้ารูปทรง 3 ขา ทำหน้าที่หลักคือส่งสัญญาณโทรทัศน์ แต่นักท่องเที่ยวจะคุ้นชินด้านการเป็นจุดชมวิวสองฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียง เปรียบเทียบความเป็นเมืองเก่ากับเมืองใหม่บนความสูง 250 เมตร สมัยก่อนหาดเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ฝั่งตรงข้ามเมืองใหม่ที่ตั้งหอไข่มุกเป็นของหวงห้ามสำหรับคนจีน เพราะฝรั่งที่มาเช่าที่ทำการค้าประกาศห้ามคนจีนและสุนัขเข้าพื้้นที่ พอหมดยุคต่างชาติครองเมือง คนจีนเลยเฮโลกันมาเที่ยวจนเป็นภาพความหนาแน่นอย่างที่เห็น ทั้งๆ ที่ความจริงประชากรท้องถิ่นมีราว 15 ล้านคน พอรวมกับผู้มาเยือนจึงเพิ่มเป็น 25 ล้านคน

เซี่ยงไฮ้...ความศิวิไลซ์ในวิถีมังกร

“ฮก” แปลาว่า “ความสุข” เปรียบเทียบการเขียนต่างยุคสมัย

       ความหลากหลายของผู้คน อีกทั้งความก้าวล้ำของเมืองกลับไม่ทำให้ความเจริญด้านศิลปวัฒนธรรมถูกลดทอนค่าลง ที่เขตบ้านพัก “ยี่ฮาน” หรือถูกเรียกขานว่า “หมู่บ้านเศรษฐี” ออกไปทางชานเมืองเล็กน้อย เป็นจุดนัดพบของคนสนใจกิจกรรม “เขียนพู่กันจีน” รวมถึงวัฒนธรรมชงชาจีน การฝึกสมาธิ “ไกด์บอล” บอกว่า ที่นี่ใช่ว่าใครจะมาเรียนได้ ส่วนใหญ่เป็นเศรษฐินีมีเงินออม 10 ล้านหยวนเป็นอย่างน้อย ใช้เวลาว่างๆ มาสมาคม นั่งตากแอร์เย็นๆ สบายๆ ใส่ชุดจีนเม้าท์มอยและทำกิจกรรมไปด้วย โดยมีผู้คร่ำหวอดเรื่องการเขียนอักษรจีน อ.เหวียน คนดังของเซี่ยงไฮ้และเป็นนักสะสมภาพวาดจีนโบราณด้วยคอยถ่ายทอดวิชาตวัดพู่กันจีนให้ สมัยก่อนใครจะสอบจอหงวนจะต้องดูลายมือด้วย ถ้าลายมือสวยแสดงว่าเรียนเก่ง สมองดี มีสิทธิ์เป็นจอหงวน สำหรับวันนี้คงไม่ถึงขั้นสอบจอหงวน เอาแค่ให้ใกล้เคียงยังลำบาก อ.เหวียน สอนอย่างใกล้ชิดให้ทุกคนได้ลองเขียนภาษาก่อนและหลังยุคจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งเป็นยุคต้นแบบอักษรจีน เขียนเสร็จจะมีตราประทับให้ การันตีว่าเรียนวิชามาจากสำนักนี้  

เซี่ยงไฮ้...ความศิวิไลซ์ในวิถีมังกร

พระหยก ศิลปะแบบพม่า

เซี่ยงไฮ้...ความศิวิไลซ์ในวิถีมังกร

ศรัทธาที่วัดพระหยก

       อีกหนึ่งสถานที่สำหรับชาวพุทธต้องห้ามพลาดกับการสักการะพระหยกโบราณที่ “วัดพระหยก” ทั้งเซี่ยงไฮ้มีวัดเพียง 3 แห่ง วัดพระหยกคือหนึ่งในจำนวนนั้น ประวัติศาสตร์เรื่องการนับถือศาสนาของคนจีนน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่ปี 1966-1976 มีการปิดกั้นการนับถือศาสนาสุดๆ ทุกคนมีสิทธิ์นับถือคอมมิวนิสต์เท่านั้น เกิดปฏิบัติการเผาวัดไล่พระกลับบ้าน ใครขัดขืนฆ่าได้โดยไม่มีความผิดขึ้นศาล สำหรับพระหยก 1.93 เมตร หนักเกือบ 2 ตันที่หลุดรอดมาได้ถึงทุกวันนี้นั้น ตำนานเล่าว่าพระจีนเอาหยกมาจากพม่า 5 ชิ้น แกะสลักเป็นพระพุทธรูป 5 องค์ ตั้งใจจะส่งไปไว้ที่วัดต่างๆ ในประเทศจีนทั้งหมด แต่ด้วยศรัทธาของชาวบ้านที่ขอให้ประดิษฐานไว้วัดนี้ 1 องค์ จึงเป็นความโชคดีไม่ถูกทำลาย ขณะที่ 4 องค์ส่งไปถูกทำลายหมดสิ้น วัดที่เหลือน้อย คนจีนจึงชอบมาเมืองไทย 9-10 ล้านคนต่อปี เพราะประทับใจความเป็นเมืองพุทธและรอยยิ้มของคนไทย

เซี่ยงไฮ้...ความศิวิไลซ์ในวิถีมังกร

ประเวศวุฒิ-ปรมา-เกษสุดา ไรวา-มณีสุดา ศิลาอ่อน-ปราการ ไรวา

       และการที่ “วานิลลา” ร้านอาหารไทยได้มาปักหมุดสาขา 2 ในมหานครเซี่ยงไฮ้ก็เหมือนเป็นการนำรอยยิ้มและวัฒนธรรมการกินอยู่มาฝากชาวมังกร โดย “นาย” เกษสุดา ไรวา บอสใหญ่แบรนด์วานิลลา บอกว่า วานิลลาสาขาร็อกบันด์ (Rockbund) ย่านธุรกิจเก่าแก่ของเซี่ยงไฮ้นี้เกิดขึ้นได้ก็เนื่องจากความนิยมในสาขาแรกย่านสกาย มอลล์ จุดเด่นคือมีทั้งอาหารไทย และตะวันตกสไตล์โฮมคุกกิ้ง บรรยากาศร้านตั้งใจให้ดูทันสมัยแฝงกลิ่นอายเอเชียน เรียกเท่ๆ ว่า “ศิลปะวาบิ-ซาบิ” หรือในแนวคิด “ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบไปเสียหมด” 

เซี่ยงไฮ้...ความศิวิไลซ์ในวิถีมังกร

ซุปทะเลสมุนไพร อันโอชะ

       ส่วนเรื่องอาหารเชื่อขนมกินได้ เพราะได้เชฟดีกรีเชฟมิชลินสตาร์มาออกแบบและรังสรรค์ความอร่อย เมนูซิกเนเจอร์ที่ไม่ควรพลาดก็อย่างเช่น กุ้งโสร่ง, ปลาคอดย่าง และที่ซดคล่องคอแถมได้รับคำชมล้นเหลือคือ ซุปทะเลสมุนไพร คล้ายๆ ต้มยำโป๊ะแตก เป็นสำรับไทยสมัยรัชกาลที่ 2 ที่หายไปแล้วถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ นำมาดัดแปลงนิดหน่อยจนกลมกล่อม แต่ละรายการเรียกความกระชุ่มกระชวยชวนให้คิดถึงบ้านเกิด ไม่เสียงแรงที่“เอ็ม” มณีสุดา ศิลาอ่อน นายหญิงฝ่ายพีอาร์เครือเอสแอนด์พี อุตส่าห์ขนทัพพี่น้องสื่อมวลชนมาชุดใหญ่หวังให้ได้สัมผัสความศิวิไลซ์แดนเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้พร้อมลิ้มรสร้านอาหารไทยขึ้นชื่อในต่างแดน...

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ