Lifestyle

สวรรค์ปากประ วิเศษศิลป์ถิ่นชุ่มน้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รุ่งสางที่ปากประ ดินแดนชุ่มน้ำเขตทะเลน้อย ร้อยเรียงเป็นศิลปะเพื่อชีวิต ทั้งวิถีประมงพื้นบ้านและควายน้ำ เรื่อง / ภาพ : ธีรภาพ โลหิตกุล

           รุ่งสางวันนั้น ก่อนตะวันสาดแสงอรุโณทัย ผมเปิดม่านหลังห้องพัก หรือด้านที่หันเข้าหาทะเลสาบ สิ่งที่ได้สัมผัสด้วยตาคือ ชาวบ้านเริ่มทำมาหากินกันแล้ว นี่ไม่ใช่การแสดงโชว์นักท่องเที่ยว แต่ปฏิเสธไม่ได้ ว่ามีลักษณะอาการดั่ง Performance Art หรือศิลปะที่เกิดขึ้นฉับพลัน หรือจะบอกว่าเป็น “ศิลปะเพื่อชีวิต” (Art for life) สุดคลาสสิกก็ไม่ผิดนัก เพราะเสาแต่ละต้น ยอแต่ละปาก เรือแต่ละลำ  สำรวมกันเป็นงานศิลป์ของผู้มิได้ผ่านการศึกษาศิลปะจากสำนักใดเลย แต่รังสรรค์ศิลปะไร้มายา (Naïve Art) ได้นุ่มตา เนียนใจ 

  สวรรค์ปากประ วิเศษศิลป์ถิ่นชุ่มน้ำ

            ผมใช้เวลาช่วงเช้าหมดไปกับการนั่งชมวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำปากประ เขตทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุงด้วยความรื่นรมย์ งานศิลปะที่มีชีวิตกำลังเคลื่อนไหวอยู่ข้างหน้า Wet Land Camp ที่ผมพักนี่เอง ยอขนาดใหญ่ถูกปล่อยจมลงในน้ำ และถูกยกขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างมิรู้เหน็ดเหนื่อย ขณะที่ฉากหลังคือพื้นน้ำและท้องฟ้าเปลี่ยนสีไปตามจังหวะของแสง นึกแล้วอดขำไม่ได้ เย็นวานนี้เมื่อผมถึงที่พักแล้วเปิดประตูไปทักทายปากประเป็นครั้งแรกในชีวิต มีควายฝูงหนึ่งว่ายน้ำแบบ “แถวตอนเรียงหนึ่ง” ผ่านหน้าผมไป ราวกับการแสดงหน้าม่านต้อนรับผู้มาเยือน แต่แท้จริงแล้วเป็นวิถีปกติของที่นี่

            อย่างนี้นี่เอง ที่ทำให้นักท่องเที่ยวคนเมืองโจษขานว่านี่คือ "ควายน้ำ” ฟังแล้วคิดว่าเป็นกระบือพันธุ์พิเศษอีกสายพันธุ์หนึ่ง ทั้งๆ ที่ก็คือควายที่ใช้ไถนาแบบที่ไอ้ขวัญมันขี่หลังแล้วเป่าขลุ่ยจีบอีเรียมนั่นเอง เพียงแต่ปากประจัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) ดังนั้น หากมิใช่ฤดูทำนา วันๆ ควายที่นี่ก็สำราญบานใจกับการแช่อยู่ในน้ำ ตามประสาสัตว์ใหญ่เช่นเดียวกับช้าง พอตกเย็นก็เรียงแถวกันว่ายน้ำตามหัวหน้าฝูงกลับเข้าคอกไป

          มิน่าล่ะ หนุ่ม - ศุภเศรษฐ์ โอภิธากรณ์ เจ้าของ Wetland Camp หรือบ้านชายเล ถึงบอกว่าเขาหลงรักบ้านของเขาเอง ชุมชนชุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ที่ซึ่งชาวบ้านกับนกและสัตว์ป่าอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข เป็นเสน่ห์ชวนหลงใหล อาชีพจับปลาลูกเบร่ (ปลาตัวเล็กๆ ที่ได้จากการยกยอ) สร้างรายได้ให้ชาวบ้านไม่น้อยเลย อย่างต่ำวันละ 500  บาท สูงสุดถึงวันละ10,000 บาท ส่วนอาชีพรับจ้างขับเรือก็ทำรายได้ดีไม่แพ้กัน หนุ่มชี้ให้ดูเรือลำหนึ่งที่เด็กชายกำลังพานักท่องเที่ยวแล่นไปชม “พรุหญ้าราโพ” บ้านของนกน้ำและสัตว์ป่านานาชนิดที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ตรงรอยต่อพัทลุง-สงขลา-นครศรีธรรมราช

สวรรค์ปากประ วิเศษศิลป์ถิ่นชุ่มน้ำ

           แล้วใครจะนึกว่าเจ้าไข่นุ้ย ที่กำลังขับเรือลำนั้นจะมีเงินเก็บในธนาคารเป็นตัวเลข 6 หลัก จากการจับปลา และรับจ้างขับเรือ ว่ากันว่าถ้าขยันแล้วอยู่ที่นี่ไม่มีอด แถมมีโอกาสรวย เพราะปากประคือส่วนหนึ่งของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย กินพื้นที่ 3,085 ไร่ จัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอันดับ 1 ของไทย ที่องค์กรภาคีพื้นที่ชุ่มน้ำโลกให้การยกย่อง

          ถามว่า พื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ “แรมซาร์ไซต์” (Ramsar Site) คืออะไร คำตอบคือพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง หรือพื้นที่พรุ ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเล มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเพราะเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ ป้องกันน้ำเค็มมิให้รุกเข้ามาในแผ่นดิน และเป็นแหล่งเพาะพันธ์ปลา เป็นโรงเรียนอนุบาลชั้นเยี่ยมของสัตว์น้ำนานาชนิด เป็นแหล่งปลูกข้าวได้ปีละหลายครั้ง

           ผมเคยคุยกับชาวปากประที่มีโอกาสได้ร่ำเรียนสูงแล้วไปทำงาน ไปมีครอบครัวอยู่ภูเก็ต เล่าให้ผมฟังว่า ได้กลับบ้านเกิดคราใดคือวันเวลาแห่งความสุข เพราะตั้งแต่เด็กแล้ว ที่สำรับกับข้าวของที่บ้าน จะมีกับข้าวอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะแกงปลา จะไม่ตักวางไว้แบ่งกันกินในสำรับ เพราะมีมากจนตักใส่ถ้วยแยกให้กินกันคนละตัวเลยทีเดียว ตราบจนวันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น เพราะปากประยังบริบูรณ์ กระทั่งกล่าวได้ว่ามีความมั่งคั่งทางทรัพยากรอาหารสูงมาก

สวรรค์ปากประ วิเศษศิลป์ถิ่นชุ่มน้ำ

            พื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ “แรมซาร์ไซต์” ในภูมิภาคอุษาคเนย์ – อาเซียนที่โลกรู้จักกันมานาน ก็คือพื้นที่ชุ่มน้ำรอบ “ตนเลสาบ” หรือ ทะเลสาบเขมร ซึ่งใหญ่กว่าทะเลสาบสงขลาถึงสามเท่า (ปากประ ทะเลน้อยเป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบสงขลา) พลานุภาพอันยิ่งใหญ่ของพื้นที่ชุ่มน้ำในเขมรนั้น ถึงกับทำให้มีคำกล่าวว่า “ไม่มีตนเลสาบ ก็ไม่มีอังกอร์วัด” หมายความว่าทะเลสาบเขมรคือผู้สร้างปราสาทนครวัดตัวจริง เพราะถึงแม้จะมีกษัตริย์ผู้ปรีชาชาญเพียงใด มีศรัทธาต่อเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์แค่ไหน มีสถาปนิกและวิศวกรฉลาดล้ำ มีแรงงานคนและช้างใช้ขนหินมหึมามหาศาลเพียงไหน หากไม่มีข้าว ไม่มีปลา เพียงพอให้ทุกคนอิ่มท้องและมีแรงไปทำงานได้...ก็ไร้ค่า ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า “ตนเลสาบ” ให้ทั้งข้าว ให้ทั้งปลา ให้ทั้งน้ำ

            แต่ถึงแม้ปากประจะไม่มีปราสาทหินใหญ่โตมโหระทึก ทว่าความสมบูรณ์ของธรรมชาติป่าพรุในพื้นที่ชุ่มน้ำ ก็เป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาสัมผัส เช่นเดียวกับผมที่ตั้งใจไว้ว่าจะต้องไปปากประให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต แต่เมื่อได้ไปสัมผัสแล้วก็คิดว่าต้องมีครั้งที่สองที่สามตามมาแน่นอน เหตุผลหนึ่งคือติดใจขนมจีนน้ำยาและไข่ปลาทอด อาหารเช้าอันโอชะที่ Wet Land Camp  คิดถึง “ปลาลูกเบร่ทอดขมิ้น” เมนูเด็ดที่ร้านบางชาม และทัศนียภาพตระการตาที่รีสอร์ทศรีปากประ ที่สำคัญคือผมอยากทำความรู้จักพื้นที่ชุ่มน้ำอันน่ามหัศจรรย์ให้มากกว่านี้

สวรรค์ปากประ วิเศษศิลป์ถิ่นชุ่มน้ำ            

             อย่างไรก็ตาม สรรพสิ่งล้วนมีสองด้าน ปากประใช่จะมีแต่ด้านที่งดงามและอุดมสมบูรณ์ หากยังมีด้านที่เลวร้าย จากการที่มีนายทุนอ้างเอกสารสิทธิ์ นส.3 ถือครองที่ดินในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยนับพันไร่ มีการจุดไฟเผาป่าเพื่อพัฒนาที่ดินปลูกปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้ฝูงนกอพยพและนกประจำถิ่นจำนวนมากไม่มีที่สร้างรังวางไข่ โดยเฉพาะที่คลองราโพ ถือเป็นป่าผืนสุดท้ายที่ฝูงนกได้อยู่อาศัย หากยังไม่หน่วยงานใดคลี่คลายปัญหาเอกสารสิทธิ์ นส.3 ได้ ก็น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย

          จนผมมีความรู้สึกว่า มาดแม้นว่าคิดอะไรไม่ออก ฤามิปรารถนาจะทำอะไรให้เหนื่อยแรง ขอผู้ใหญ่ในวันนี้ แค่อยู่เฉยๆ อย่าไปทำลาย หรือไปหากินอย่างละโมบเกินเหตุ เพียงเท่านี้ ลูกหลานวันหน้า  ก็จะรำลึกบุญคุณของท่าน เพราะ “ปากประ” คือพื้นที่ชุ่มน้ำอันสุดแสนจะอุดมสมบูรณ์ระดับโลก เป็นสวรรค์ที่ธรรมชาติประทานให้ไว้อย่างวิเศษสุดจริงๆ

           ขอบคุณหนุ่ม - ศุภเศรษฐ์ ที่เปิดโลกมหัศจรรย์ของ "พื้นที่ชุ่มน้ำ" ให้ผมเรียนรู้ ขอบคุณ คุณช่อน บางชาม และคุณตั้ม ศรีปากประ ที่ทำธุรกิจร้านอาหารและรีสอร์ท บนความพอดีอย่างมีสำนึกรักบ้านเกิด ชื่นชมจากใจจริงครับ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ