Lifestyle

พิพิธภัณฑ์เมืองตราด จังหวัดตราด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียว ที่ไม่มีคำว่า "แห่งชาติ"ต่อท้าย จากศาลากลางหลังเก่าที่ยังอนุรักษ์ไว้ เคียงคู่ศาลากลางหลังใหม่

            พิพิธภัณฑ์เมืองตราด จังหวัดตราด          

            อาคารไม้หลังสวย พื้นมันปลาบ ข้างหนึ่งเป็นสำนักงานเทศบาลเมืองตราด อีกข้างเป็นศาลากลางจังหวัดตราด

            อาคารไม้ใต้ถุนสูง หลังคาทรงปั้นหยา ที่ว่านี้ สร้างขึ้นในปี 2465 สมัยรัชกาลที่ 6 ครั้งหนึ่งเคยทำหน้าที่เป็นศาลากลางจังหวัดมาก่อน แต่พอเวลาผ่านไป ความชำรุดทรุดโทรมมาเยือน กระทรวงมหาดไทยเกรงจะไม่ปลอดภัยต่อผู้มาติดต่อราชการและข้าราชการที่ทำงาน จึงได้ให้สร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทน ต่อมาอาคารไม้หลังสวยถูกไฟไหม้เสียหายเมื่อปี พ.ศ.2547 เทศบาลเมืองตราดจึงจัดสรรงบประมาณกว่า 16 ล้านบาท ให้กรมศิลปากรดำเนินการบูรณะซ่อมแซมอาคารตามรูปแบบเดิมและจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์

                พอซ่อมแซมจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เสร็จ กรมศิลปากรจึงส่งมอบให้เทศบาลเมืองตราดดูแลต่อไป ที่นี่จึงได้ชื่อว่า พิพิธภัณฑสถานเมืองตราด จังหวัดตราด เป็นพิพิธภัณฑ์เพียงแห่งเดียว ที่ไม่มีคำว่า “แห่งชาติ”ต่อท้ายเหมือนกับที่อื่นๆ

พิพิธภัณฑ์เมืองตราด จังหวัดตราด

                พื้นที่จัดแสดงแหล่งเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตเมืองตราด อยู่บนชั้น 2 แบ่งเป็น 6 โซน เพื่อทำความรู้จักกับเมืองตราดให้ลึกซึ้ง เริ่มกันตั้งแต่ โซนมรดกจากธรรมชาติ และมรดกทางวัฒนธรรม ทำความรู้จักกันตั้งแต่สสภาพที่ตั้ง ลักษณะอากาศ ผลไม้ท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อ ทั้งทุเรียนชะนี เงาะ และสับปะรดสีทอง จนนึกได้ว่า เมื่อครั้งไปเที่ยวหาดนราทัศน์ ที่จังหวัดนราธิวาส คนขายสับปะรดชายหาดบอกว่า รับสับปะรดมาจากจังหวัดตราด นั่งไง ของเขาดีจริงๆ

พิพิธภัณฑ์เมืองตราด จังหวัดตราด

                ผ่านเข้าสู่โซนที่ 2 มองเห็นสภาพบ้านเรือนของคนเมืองตราด ตลอดจนผู้คน กลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีทั้งไทย, จีน, เขมร, ญวน, ชอง นอกจากมีภาพถ่ายในอดีตแล้ว ยังมีหุ่นขี้ผึ้งจำลองพร้อมแต่งกายตามสภาพของเชื้อชาตินั้นๆ

พิพิธภัณฑ์เมืองตราด จังหวัดตราด

                ส่วนโซนที่ 3 นี่ก็สำคัญไม่น้อย ทำให้รู้ว่า จังหวัดตราดมีเรื่องราวในอดีตตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ผ่านร้อนผ่านหนาวตั้งแต่สุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี มาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นด้วย และเมื่อครั้งกรุงศรีฯแตกครั้งที่ 2 พระเจ้าตากก็เคลื่อนทัพ มารวบรวมไพร่พล และบำนักที่เมืองตราดด้วยเช่นกัน

            เหตุการณ์ไล่เรียงต่อเนื่องมาถึงโซนที่ 4 เป็นเหตุการณ์สำคัญในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จัดแสดงเรื่องการส่งมอบเมืองตราดคืนจากฝรั่งเศส การพระราชทานพระแสงราชศาสตราประจำเมือง และการเสด็จประพาสเมืองตราด

พิพิธภัณฑ์เมืองตราด จังหวัดตราด

                โซนที่ 5 โดยจำลองห้องจัดแสดงเป็นเรือรบ เพื่อนำเสนอเหตุการณ์ยุทธนาวีเกาะช้าง จัดแสดงวีดีทัศน์เรื่องราวตามลำดับเหตุการณ์ยุทธนาวี โซนนี้เรียกน้ำตาซึมจากผู้มาเยือนได้ง่ายๆ ยิ่งใครก็ตามที่เคยมีเหตุเกี่ยวข้องกับการสู้รบในครั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นลูกมาฟังเรื่องของพ่อ หลานมาฟังเรื่องของปู่ ของตา

พิพิธภัณฑ์เมืองตราด จังหวัดตราด พิพิธภัณฑ์เมืองตราด จังหวัดตราด

                โซนสุดท้ายก่อนออกจากพิพิธภัณฑ์ เป็นโซนตลาดเมืองตราด จัดแสดงเรื่องราวการค้าในตลาดเก่าและสภาพปัจจุบันของตลาดเมืองตราด เป็นการเดินทางย้อนกลับสู่อดีตอันเฟื่องฟู ของย่านการค้าสำคัญ ในวันวาร เพียง 20 ก้าวที่เดินผ่านโซนนี้ ทำให้รู้ว่า ตราดมีตลาดเก่าหลายแห่งน่าสนใจ จนอยากลงไปสถานที่จริงๆ ตั้งแต่ตลาดริมคลอง ตลาดท่าเรือจ้าง แต่ละแห่งมีของขายเบ็ดเตล็ด แล้วถ้าเดินเข้าไปในร้านเบ็ดเตล็ดจริง นนี่สามารถหาซื้อของได้ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบเลยนะ ว่าไปตามสำนวนไทย แต่หมายถึง หากซื้อของได้สารพัดทั้งของเล็ก ของใหญ่เลยทีเดียว เพราะมีทั้งยารักษาโรคไปจนถึงเครื่องมือจับปลา ปัจจุบัน บางตลาดก็ยังมีอยู่ บางตลาดก็หายไปตามกาลเวลา ตามสภาพพื้นที่ ที่เปลี่ยนไป

                มาพิพิธภัณฑ์เมืองตราด มันก็จะมีกลิ่นอายของอดีตหน่อย ๆ แต่ก็ยังรู้เรื่องราวในปัจจุบันด้วย

"เมืองเกาะครึ่งร้อย พลอยแดงค่าล้ำ

ระกำแสนหวาน หลังอานหมาดี

ยุทธนาวีเกาะช้าง สุดทางบูรพา"

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ