Lifestyle

กินปู ดูหิ่งห้อย "บ้านไม้รูด"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บ้านไม้รูด หมู่บ้านประมงตะวันออกสุดในอ.คลองใหญ่ จ.ตราด เปิดรับท่องเที่ยว ล่องเรือดูหิ่งห้อย ชมวิถีชาวเล เรื่อง/ภาพ: นพพร วิจิตร์วงษ์

  กินปู ดูหิ่งห้อย "บ้านไม้รูด"

          ภาพถ่ายทางอากาศ ตำบลไม้รูด

            22 มิถุนายน 2560 คงเป็นวันชี้ชะตาว่า ชุมชนชายฝั่ง ที่เข้าขายรุกพื้นที่จะอยู่หรือจะไป รวมถึงตำบลใหญ่ อย่างตำบลไม้รูดของอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ โดยเฉพาะหมู่  1 บ้านไม้รูด และ หมู่ 6 บ้านร่วมสุข มีอาชีพทำประมงและอาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่ง ขณะที่เริ่มทำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมง และท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติในชุมชน ที่มีทั้งหิ่งห้อย โลมา และแมงกะพรุน
             ตำบลไม้รูด เป็นตำบลเก่าแก่ตั้งแต่อำเภอคลองใหญ่ยังเป็นกิ่งอำเภอ ประกอบไปด้วยหมู่บ้าน 6 หมู่บ้าน พื้นที่ขนานไปกับภูเขาฝั่งหนึ่ง ที่เป็นเขตแดนธรรมชาติระหว่างไทยและกัมพูชา คือ เขาบรรทัด ส่วนอีกฝั่งเป็นทะเล จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวบ้านในตำบลไม้รูดจะยึดอาชีพทำประมง และได้ชื่อว่าเป็นชุมชนประมงพื้นบ้าน 4 น้ำ ติดชายแดนกัมพูชา

            นอกจากการทำประมงที่เลี้ยงปากท้องได้สบายๆ แล้ว ปัจจุบัน ต.ไม้รูดหันมาพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ภายใต้การส่งเสริมและช่วยเหลือจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เพราะพื้นที่นี้ มีเรื่องราวน่าสนใจและพร้อมที่จะพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยว ที่ขับเคลื่อนโดยตัวชุมชนเองได้

            ตำบลไม้รูด ถือเป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์การสู้รบสมัยเวียดนามในสงครามอินโดจีน รวมถึงการสู้รบในกัมพูชา ทั้งปี 2518 และ 2522   ปัจจุบันได้รับการประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ อ.คลองใหญ่ เชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ กัมพูชาและเวียดนาม

กินปู ดูหิ่งห้อย "บ้านไม้รูด" บ่อญวน

            สิ่งบ่งชี้ถึงการเกี่ยวพันกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็คือ บ่อญวน บ่อน้ำเล็กๆ หลังวัดไม้รูด และแม้จะอยู่ติดชายทะเล น้ำในบ่อนี้กลับเป็นน้ำจืด ที่เกิดจากตาน้ำซึ่งไหลตลอดเวลาไม่มีวันแห้ง แถมช่วงที่น้ำทะเลท่วมเข้ามาในบ่อน้ำ แต่พอน้ำลง น้ำในบ่อเล็กๆ นี้ก็ยังเป็นน้ำจืดเหมือนเดิม จนชาวบ้านเชื่อว่าเป็นบ่อศักดิ์สิทธิ์ และกลายเป็นแหล่งที่ใครไปเที่ยวก็ต้องแวะไปดู ไปลองชิมน้ำในบ่อว่าจืดจริงหรือไม่ ฉันลองชิมมาแล้ว ... จืดจริงๆ นะ ไม่น่าเชื่อ

            บ่อญวน ได้ชื่อนี้มาก็เพราะญวนเป็นคนค้นพบเมื่อนานมา จากเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า สมัยที่เวียดนามรบขับไล่ฝรั่งเศสซึ่งตั้งฐานทัพอยู่ที่เกาะกง กองทหารของเวียดนามจึงได้ส่งทหารมารบขับไล่โดยขอใช้ดินแดนไทย ขณะนั้นอยู่ในสมัยของจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม

            กองทัพเวียดนามใช้เวลาเดือนกว่า เดินทางจากตอนเหนือ ลัดเลาะมาจนถึงบริเวณวัดไม้รูดในปัจจุบัน และตั้งมั่นอยู่ที่นี่ แต่เนื่องจากขาดแคลนน้ำ จึงได้ให้ทหาร 10 นายออกไปหาแหล่งน้ำ  โดยทุกคนจะถือกะลาไปคว่ำตามที่ต่างๆ  เพื่อหาแหล่งน้ำใต้ดินตามความเชื่อของคนโบราณ    ปรากฏว่ามีทหารนายหนึ่งไปคว่ำกะลาตรงริมชายหาด ปรากฏว่าพอขุดลงไปก็เจอน้ำที่ไหลออกมาตลอดเวลา ขนาดทหารทั้งกองร่วม 300 นายินใช้ไม่มีวันหมด บ่อญวนนี้เลยกลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งหนึ่ง เพราะเป็นบ่อน้ำจืดที่อยู่ติดทะเล  

กินปู ดูหิ่งห้อย "บ้านไม้รูด"
ต้นแสม อายุนับ 100 ปี

กินปู ดูหิ่งห้อย "บ้านไม้รูด" อยต่อของหาดทรายสองสี ฝั่งหนึ่งทรายละเอียดสีอ่อน ฝั่งหนึ่งทรายหยาบสีเข้ม

            ไม่ไกลจากบ่อญวน เป็น หาดไม้รูด หรือหาดสำราญ ซึ่งเป็นหาดทรายละเอียดที่มีความพิเศษคือ มีสองสี ด้านหนึ่งเป็นหาดทรายสีขาวละเอียด อีกด้านเป็นสีแดงกว่าค่อนข้างหยาบ คนที่นั่นบอกว่าเห็นแบบนี้มาตั้งแต่เกิดแล้ว สมัยก่อนชาวบ้านนำไปใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน

            ริมชายทะเลมีไม้ชายเลนเป็นต้นลำพู ต้นแสม ที่น่าสนใจคือเป็นต้นไม้ที่มีอายุนับร้อยปีแล้ว แต่ยืนต้นอยู่ได้ ลักษณะเหมือนไม้แคระ คือย่อส่วนไว้แค่ที่เห็น บางต้นเป็นโพรง ไม้เหลือเนื้อไม้แล้ว แต่ลำต้นยังแข็งแรง

            แถบนี้จะเห็นเรือเล็กของชาวบ้านออกหาปลา ปู และหอยชายฝั่ง ซึ่งฤดูกาลนี้เป็นฤดูน้ำแดง (16 พค.-  15 กย.) ซึ่งก็คือช่วงฤดูปลาวางไข่ หรือเลี้ยงตัวอ่อน ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามใช้เครื่องมือประมงทุกชนิด ยกเว้นเครื่องมือขนาดเล็ก เช่นเบ็ด สวิง หรือเครื่องมือดักปลาแบบพื้นบ้านเล็กๆ

            ที่พิเศษของชายทะเลแถบไม้รูด เรื่อยไปจนถึงหาดเล็ก ก็คือ แมงกะพรุนนับแสนๆ ตัว ที่จะลอยเข้ามาใกล้ฝั่ง เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทุกปีในช่วงเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน ใครอยากเห็นต้องไปช่วงนี้แหล่ะ  

            ครอบครัวโลมา ก็เข้ามาอาศัยอยู่แถวนี้เช่นกัน ซึ่งทาง อบต.ไม้รูดบอกว่า จากที่รวบรวมข้อมูลมีจำนวน 200-400 ตัว อยู่กันเป็นครอบครัวเล็กๆ ในช่วงสภาพอากาศดีๆ ก็อาจจะโชคดีได้เห็นโลมาเข้ามาเล่นน้ำใกล้ฝั่ง
            แต่ทั้งโลมาและแมงกะพรุนก็ต้องลุ้นเอานะว่าจะได้เห็นวันไหน แล้วได้เห็นเมื่อไหร่...ลุ้น ลุ้น

กินปู ดูหิ่งห้อย "บ้านไม้รูด" วิถีประมงชายฝั่ง

กินปู ดูหิ่งห้อย "บ้านไม้รูด" ทางเดินเลียบหาด ไปบ่อญวน

            การเดินทางไปบ้านไม้รูดไม่ยากอย่างที่คิด จาก ตัว อ.ตราด ใช้ถนนสุขุมวิท เส้นตราด-คลองใหญ่ ตลอดเส้นทางขนานไปกับแนวเทือกเขาบรรทัดที่เป็นเขตแบ่งชายแดน ระยะทางในเขตตำบลไม้รูดนี่ถือว่าไกลที่สุด เลยจากไม้รูดไปอีกแค่ 15 กม. ก็เป็นตำบลคลองใหญ่และตำบลหาดเล็ก ก่อนข้ามแดนไปกัมพูชาที่เกาะกง

            นายก อบต.ไม้รูดบอกว่า ที่นี่กำลังเรื่องพัฒนาเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ภายใต้การสนับสนุนของ อพท. ซึ่งชุมชนหมู่ 1 และ 6 ที่อยู่แถบปากคลองไม้รูด มีความพร้อมจะเปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว โดยที่ผ่านมา เป็นการท่องเที่ยวแบบมาดูงาน หรือมาเช้าเย็นกลับ แต่เร็วๆ นี้ จะเปิดบ้านเป็นโฮมสเตย์ ซึ่งจากที่รวบรวมมีราว 10 หลังที่พร้อมรับนักท่องเที่ยว

            นอกจากมาดูวิถีประมงแล้ว ยังล่องเรือในคลองไม้รูด คลองนี้ยาวประมาณ 5 กม. ผ่านปาชายเลน ดูวิถีชาวประมง ผ่านต้นฝาดพันปี และไปค่ำที่ปลายทางเป็นจุดชมหิ่งห้อยสวยงาม

            “หิ่งห้อยที่นี่เยอะไม่แพ้ที่ไหน ล่องเรือมาดูหิ่งห้อยแล้ว ต้องกินปูม้าด้วย บ้านไม้รูดได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปูม้าที่สดและอร่อยที่สุด เป็นปูม้าจากธรรมชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งเราพยายามอนุรักษ์ไว้ด้วยการทำธนาคารปู คือถ้าจับปูที่มีไข่นอกกระดองมา ก็จะนำมาเลี้ยงไว้ จนปูเขี่ยไข่ แล้วจึงค่อยนำไปขาย สวนตัวอ่อนปู ก็ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ”

            ริมคลองบ้านไม้รูด มีสะพานปูนทอดยาวไปถึงปากคลอง มองเห็นทะเลกว้าง เรือประมงใหญ่ แล่นเข้าออก บ้างก็จอดอยู่ริมสะพาน ด้านในสะพานเป็นบ้านเรือชาวบ้านจากเดิมที่อยู่บนฝั่งแต่พอทำประมง ก็ต้องมาอยู่เฝ้าเรือ

กินปู ดูหิ่งห้อย "บ้านไม้รูด"
แกะปูกะตอย ก่อนส่งทำปูสามรส

กินปู ดูหิ่งห้อย "บ้านไม้รูด"

            ฉันเดินเล่นดูวิถีชาวบ้าน เรือประมงที่แล่นเข้าออก เจอกับลุงแป๊ะ ที่อยู่ศัยอยู่บ้านหลังหนึ่งริมสะพานนั่นเอง บอกว่า วันนี้มาเดินได้ แต่อีกหน่อยอาจจะไม่มีสะพาน ไม่มีบ้านเรือนแถวนี้ให้เดินดูแล้ว เพราะจะต้องถูกรื้อ เนื่องจากรุกล้ำที่ชายฝั่ง ครั้นจะไปทำสัญญาเช่า คิดตารางเมตรละ 50 บาทต่อปี และต้องเสียค่าปรับคิดตารางเมตรละ 500 บาท

            “โดนหมดทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งนี้ไม้รูดกับฝั่งตรงข้ามบ้านร่วมสุข(หมู่6) เราอยู่กันมา 2 ชั่วอายุคน นับ 100 ปี จะให้ทำสัญญาเช่า เราก็ยอม แต่ค่าปรับเนี่ยะมันเกินกำลัง รวมทั้งตำบลคิดแล้วเกือบ 40 ล้านบาท สะพานที่สร้างก็เป็นงบหลวงแต่ไม่ได้ขออนุญาตกรมเจ้าท่า ก็ต้องถูกรื้อเช่นกัน” 

            สอบถาม นายก อบต. ได้ความว่า ทั้งตำบลต้องเสียค่าปรับเกือบ 40 ล้านบาท ตอนนี้ได้รวบรวมข้อมูลแล้ว กำลังเสนอให้ทุกตำบลเสนอเข้าจังหวัดและจังหวัดเสนอเข้าส่วนกลาง ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้รัฐบาลแก้ เพราะเป็นกฎหมาย และเห็นว่าแนวทางที่เป็นไปได้ คือ ให้นิรโทษกรรมไม่มีค่าปรับและให้ชาวบ้านเช่าพื้นที่ทำมาหากินต่อไปเพราะถ้าต้องรื้อ ก็คงมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และกระทบไปถึงการท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วย

            วันนี้ เรื่องการรื้อถอนยังไม่ชัดเจน จะออกหัว หรือ ก้อย หากแต่ตำบลไม้รูดแห่งนี้ ก็เผยความพร้อมรองรับการมาเยือนด้วยใจอนุรักษ์ เพื่อมาดูความสวยงามของธรรมชาติในพื้นที่แล้ว

 

กินปู ดูหิ่งห้อย "บ้านไม้รูด"

หมายเหตุ :

 - การเดินทางโดยรถยนต์ ตามถนนหลวงหมายเลข 3 ตราด-คลองใหญ่ ระยะทาง 49 กม. ถึงเขตตำบลไม้รูด
- ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์  โทร.08-1982-2725 (คุณสุรี) , 0-3969-1095 (อบต.ไม้รูด), 08-1733-7990 (นายก อบต.ไม้รูด) 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ