Lifestyle

 แมลงปอตัวเมีย ‘แกล้งตาย’หนีนักตื๊อ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 แมลงปอตัวเมีย ‘แกล้งตาย’หนีนักตื๊อ

              งานวิจัยชิ้นใหม่ ชี้ว่า แมลงปอตัวเมียปฏิเสธตัวผู้ตัวอื่น ๆ ที่มาตามตื๊อโดยการแกล้งตาย ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารอีโคโลจี เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ระบุว่า แมลงปอตัวเมียจะดิ่งลงสู่พื้นดินแล้วทำเสมือนว่าตายไปแล้ว หากมีแมลงปอตัวอื่นมายุ่งวุ่นวาย พอมันเกิดตายใจบินหนีไป เจ้าตัวเมียจึงบินกลับขึ้นมาใหม่ เหตุที่เป็นเช่นนี้คือเมื่อแมลงปอตัวเมียผสมพันธุ์แล้ว มันจะมุ่งแต่วางไข่และใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ออกไปหาคู่ใหม่แต่อย่างใด

             เมื่อช่วงฤดูร้อนปี 2558 (ราว มิ.ย.-ส.ค.) รัซซิม เคลิฟา นักศึกษาปริญญาเอกสาขาชีววิทยาวิวัฒนาการและสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ลัดเลาะตามเทือกเขาแอลป์เพื่อสะสมไข่ แมลงปอหาบเร่มัวร์แลนด์ (Aeshna juncea) เพื่อศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อแมลงปอ โดยให้ตัวอ่อนฟักไข่ในอุณหภูมิต่าง ๆ ที่ห้องทดลอง ระหว่างนั้นเองเขาได้พบพฤติกรรมสุดแปลก คือการที่แมลงปอแกล้งตาย “เหมือนเป็นผลพลอยได้จากการทำวิจัยเลยทีเดียว” เคลิฟา กล่าว

           เคลิฟา ยังพบว่า กลยุทธ์แรกที่ตัวเมียใช้เพื่ออำพรางตัวเอง คือการเลือกที่วางไข่ที่มีใบไม้คอยบังไว้ แม้กระนั้นตัวเมียก็ยังถูกตัวผู้ตัวอื่น ๆ ตามรังควานระหว่างทาง เมื่อถึงตอนนั้นมันจะใช้วิธีอื่นโดยการแกล้งตาย

             ผลจากการสังเกตยังพบว่า แมลงปอตัวเมียทั้งหมด 35 ตัว มีอยู่ 27 ตัวแสร้งทำเป็นนอนแน่นิ่ง ในจำนวนนี้หลอกตัวผู้สำเร็จ 21 ตัว ซึ่งราว 71% ของตัวที่แกล้งตายมักจะให้พุ่มไม้ช่วยปิดบังตัวเองด้วย

            ตัวผู้ที่บินฉวัดเฉวียนมักจะพึ่งพาการเคลื่อนไหวและสีในการดักจับตัวเมีย พวกมันจึงไม่อาจสังเกตแมลงปอที่นอนแข็งทื่ออยู่บนพื้นหรือหลบซ่อนในพงหญ้าได้ ขณะที่ตัวเมียร้อยทั้งร้อยที่เลือกจะบินหนีต่อไป กลับถูกตัวผู้คว้ากลางอากาศแทน ส่วนตัวเมียที่แกล้งตายดูจะระแวดระวังสิ่งรอบตัว เมื่อเคลิฟาพยายามจะจับพวกมัน กลับบินหนีถึง 87%

              ทั้งนี้ การแกล้งตายซึ่งเป็นกลยุทธ์หลบหนีศัตรู พบได้ในสัตว์หลายชนิดรวมถึงแมลงปอ เขาคิดว่าแมลงปอหาบเร่มัวร์แลนด์ตัวเมียจะใช้วิธีการเดียวกันนี้เพื่อหลบเลี่ยงความขัดแย้งจากการผสมพันธุ์ของตัวผู้ เพราะการผสมพันธุ์กับตัวผู้ตัวหนึ่งทำให้ไข่ทุกใบของตัวเมียปฏิสนธิได้ อีกทั้งการผสมพันธุ์ครั้งต่อมาที่มีแนวโน้มก้าวร้าวรุนแรงอาจทำให้ตัวเมียบอบช้ำได้

            “เมื่อตัวผู้ผสมพันธุ์กับตัวเมีย มันจะสกัดสเปิร์มของตัวผู้ตัวก่อนหน้าเป็นอันดับแรกไว้ด้วย เป็นผลให้อวัยวะสืบพันธุ์ของเพศเมียเสียหายได้ ฉะนั้นการผสมพันธุ์หลาย ๆ ครั้งไม่ใช่สิ่งที่น่าเร้าใจสำหรับตัวเมียเลย” เคลิฟา กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ