Lifestyle

‘แพะปีนต้นไม้’ ช่วยกระจายพันธุ์พืช

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘แพะปีนต้นไม้’ ช่วยกระจายพันธุ์พืช

            โมร็อกโก มีแพะพื้นเมืองชนิดหนึ่ง ที่ปืนต้นไม้ได้ และยังช่วยขยายพันธุ์พืช ด้วยการบ้วนเมล็ดพืชลงพื้นดินให้ต้นไม้เจริญเติบโตขึ้นมา บรรดาผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่แห้งแล้งทางตอนใต้ของโมร็อกโก หนุนให้แพะพื้นเมืองชนิดนี้ปีนขึ้นไปแทะเล็มต้นอาร์แกนที่มันชอบ โดยเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งพืชชนิดอื่น ๆ หาได้ยากเต็มที ผลจากต้นอาร์แกนจึงเป็นแหล่งพลังงานสำคัญให้กับมัน

             เมล็ดจากต้นอาร์แกนนำไปผลิตน้ำมันอาร์แกนหรืออาร์แกน ออยล์ ซึ่งเป็นน้ำมันรับประทานได้ที่แพงที่สุดในโลก มักผสมในเครื่องสำอางหรู อีกทั้งชาวบ้านนำผลอาร์แกนให้แพะกินเพื่อให้มันถ่ายเมล็ดออกมา จากนั้นเก็บเมล็ดในกองอุจจาระเพื่อนำไปทำน้ำมันอันทรงคุณค่า

             เกษตรกรบางรายมองเห็นโอกาสทำกำไรงาม ๆ จึงซื้อแพะมากขึ้น แม้วิธีการนี้จะกลายเป็นภัยคุกคามต่อต้นไม้อย่างมาก แต่ในทางกลับกันการปืนต้นไม้ของแพะช่วยสร้างงานให้กับหญิงสาวในท้องถิ่น และก่อให้เกิดการท่องเที่ยวชมปรากฏการณ์อันแปลกตา

              รายงานที่เผยแพร่ในวารสาร ฟรอนเทียร์ อิน อีโคโลจี แอนด์ ดิ เอนไวรอนเมนต์ระบุว่า สัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดอื่น ๆ ก็คงทำแบบเดียวกัน กล่าวคือ การสำรอกสำคัญพอ ๆ กับการขับถ่ายเพื่อแพร่กระจายเมล็ดพืช

             มิเกล เดลิเบส ผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้ รวมถึง อีเรน กัสตันเยดา และ โฮเซ เอ็ม เฟดิริอานี จากสถานีวิจัยทางชีววิทยาโดยานา จังหวัดเซบียาของสเปน เคยพบแพะปีนต้นไม้ในพื้นที่แล้งในเม็กซิโกและสเปน กำลังปีนป่ายและเล็มตามพุ่มไม้เตี้ยและต้นไม้ ในคราวหนึ่ง ๆ จะมีแพะ 10-20 ตัวขึ้นไปบนต้นอาร์แกนที่มีความ 8-10 เมตร

              เมล็ดอาร์แกนอาจพบได้ทั้งในก้อนสำรอกที่บ้วนออกมาและอุจจาระ แต่เนื่องจากเมล็ดอาร์แกนมีขนาดใหญ่ถึง 22 มม. จึงไม่มีทางที่เมล็ดเหล่านี้จะย่อยผ่านทางเดินอาหารโดยตลอดแน่นอน

นักวิจัยทดลองให้แพะกินผลไม้ 5 ชนิดที่มีขนาดเมล็ดต่างกัน พบว่า แพะบ้วนเมล็ดเกือบทุกชนิดทุกขนาดระหว่างการสำรอก แต่เมล็ดขนาดใหญ่กว่าจะถูกบ้วนออกมามากกว่าเมล็ดที่เล็กกว่า ยิ่งไปกว่านั้นการทดสอบยังชี้ว่า เมล็ดพืชในก้อนสำรอก 71% ยังงอกขึ้นมาเป็นต้นได้

             นอกจากนี้กวางแดง กวางแฟลโลว์และแกะต่างก็บ้วนเมล็ดพืชออกมาระหว่างสำรอกเช่นเดียวกัน บ่งชี้ว่า พฤติกรรมดังกล่าวอาจสำคัญต่อการแพร่กระจายเมล็ด อีกทั้งสัตว์เคี้ยวเอื้องยังกักเก็บก้อนสำรอกไว้ในกระเพาะรูเมน หรือกระเพาะชั้นแรกเป็นเวลาหลายวันต่อการกินหนึ่งครั้ง จึงทำให้แพะที่ถูกต้อนมาไกลหรืออพยพตามฤดูกาลส่งผ่านเมล็ดพืชไปที่อื่น ๆ ได้ไกลหลายร้อยกิโลเมตรทีเดียว

                                                      ................................................

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ