Lifestyle

สูงวัย...ใช้โซเชียลอย่างสมดุล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไม่มากไม่น้อยไปเป็นดีกับยุคสังคมเทคโนโลยีสมัยใหม่

       เมื่อไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แน่นอนว่าต้องเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะโลกไซเบอร์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก ผู้สูงวัยต้องรู้เท่าทันและใช้อย่างเหมาะสม ด้วยความห่วงใย สมาคมบ้านปันรักจึงจัดเสวนา “สูงวัยกับไซเบอร์ บาลานซ์อย่างไรให้ลงตัว” หวังผลักดันสังคมผู้สูงวัยให้ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีความสุขในโลกที่ทุกอย่างย่อเข้ามาใกล้ตัว งานนี้ได้รับเกียรติจาก ถ่ายเถา สุจริตกุล กรรมการสยามซิมโฟนี ออเคสตร้า (ประเทศไทย), “น้อย” ณภัสวรรณ จิลลานนท์ ผู้บริหารบริษัท สยามณุลักษณ์ จำกัด และ พัชรี วิริยธนสมบัติ ที่ปรึกษาอาวุโส ฝ่ายพัฒนาบุคลากร บมจ.เอไอเอส มาร่วมวงเสวนา โดยมี ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นักคิดนักเขียนชื่อดัง ทำหน้าที่ดำเนินรายการอย่างถึงพริกถึงขิง ที่บ้านปันรัก ซ.พหลโยธิน 7 เมื่อวันก่อน

       ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา เปิดประเด็นว่า ปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุคไซเบอร์กันแล้ว มีเพียงสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็สามารถเดินทางไปไหนได้สบาย ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้มีข้อดีแล้วข้อเสียย่อมต้องมี แต่ไม่ใช่อยู่ที่อุปกรณ์ เพราะเครื่องมือแต่ละชิ้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกสบายแก่คน เป็นตัวบุคคลมากกว่าที่ต้องรู้จักวิธีการใช้ การแบ่งเวลา การทำให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่บางท่านอาจจะใช้ถึงขั้นเสพติด ต้องคอยเช็กมือถือและโต้ตอบตลอดเวลา แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีผู้สูงวัยที่ใช้อุปกรณ์เหล่านี้อย่างเชี่ยวชาญและแบ่งเวลาอย่างเหมาะสม พัฒนาศักยภาพตัวเองไปได้ไกล ไม่เป็นคนแก่ที่เก็บตัวเงียบ หากแต่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อทุกกลุ่มคน สำคัญที่สุดคือสังคมครอบครัว 

สูงวัย...ใช้โซเชียลอย่างสมดุล

 ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา

       แม้จะเป็นคนรุ่นเก่าทว่าไม่ล้าเรื่องเทคโนโลยี ถ่ายเถา สุจริตกุล นักเขียนและนักแปลหนังสือวัย 84 ปี กล่าวว่า เรียนรู้วิธีใช้คอมพิวเตอร์ตั้งแต่ไปใช้ชีวิตอยู่สหรัฐอเมริกา เพราะเป็นประโยชน์ในการเรียบเรียงและตัดต่อบทควาทที่เขียน ต่อมาเริ่มรู้จักเฟซบุ๊กก็จะมีแฟนคลับในช่องทางนี้ แต่ก็จะคัดกรองเพื่อนที่เข้ามาพอสมควร ใครใช้นามแฝงหรือไม่แสดงตัวจะไม่รับเป็นเพื่อนเด็ดขาด เพราะนั่นหมายถึงการไม่แสดงความจริงใจ ขณะเดียวกันชอบคุยเรื่องสนุกมีความสุข ไม่ชอบพูดคุยเรื่องเจ็บป่วยเพราะไม่อยากเอาความทุกข์เข็ญจากโลกโซเชียลมาใส่ตัว เชื่อเสมอว่าชีวิตจะหยุดก็ต่อเมื่อเราหยุด ส่วนตัวชอบค้นคว้าสิ่งต่างๆ ในกูเกิล ต้องรู้ให้ได้ เรื่องที่สนใจก็จะเอามากลั่นกรอง ย่อให้สั้นแล้วนำไปเล่าต่อ ชอบทำตัวให้อินเทรนด์ ซึ่งเทรนด์ใหญ่ของโลกปัจจุบันคือการไม่ละทิ้งความรู้ สำคัญว่าใช้ให้เป็น แบ่งเวลาให้ถูก แค่นี้ก็ไม่เป็นคนแก่ล้าสมัย

สูงวัย...ใช้โซเชียลอย่างสมดุล

ถ่ายเถา สุจริตกุล

       ด้านผู้สูงวัยยังสาว “น้อย” ณภัสวรรณ จิลลานนท์ ในวัย 66 ปียอมรับว่าผ่านอะไรมามาก ส่วนตัวไม่ชอบอยู่เฉยพร้อมกับเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ คนสูงวัยโดยทั่วไปมักเชื่อมั่นในตัวเองสูง ต้องถูกเสมอ แต่ไม่ใช่กับตัวเอง ทำให้ทุกวันนี้มีเพื่อนรุ่นน้องมากกว่ารุ่นเดียวกัน แต่สำหรับเพื่อนบนโลกโซเชียลจะตั้งกฎส่วนตัวไว้ จะไม่รับคนที่ลงรูปตัวเองเป็นสัตว์ สิ่งของ เพราะอยากคุยกับคนที่มีตัวตนชัดเจน การโต้ตอบกันชอบให้แสดงความคิดเห็นเป็นข้อความมากกว่าเอะอะกดไลค์โดยไม่ดูโพสตืว่าเป็นเรื่องอะไร ภาษาที่เขียนบนโซเชียลจะสะท้อนตัวตนคนคนนั้น 

       "อายุมากแล้วทำอะไรต้องไตร่ตรอง เป็นแม่แบบที่ดี อย่าใช้ความแก่มาเป็นข้ออ้างว่าจะทำอะไรก็ได้ ต้องใช้ประสบการณ์ของตัวมาเป็นต้นแบบให้คนอื่น ทุกวันนี้ยังเรียนรู้สิ่งดีๆ จากคนอื่นที่มีประสบการณ์ดีๆ แล้วมานำเสนอในโลกโซเชียล ต้องรู้จักปรับตัวเข้าหาคนอื่น ไม่ใช่ให้คนอื่นปรับมาหาเรา อยากให้ทุกคนมีสติคิดตรองก่อนจะสื่อสารอะไรออกไป” ณภัสวรรณ กล่าว

สูงวัย...ใช้โซเชียลอย่างสมดุล

พัชรี วิริยธนสมบัติ -ณภัสวรรณ จิลลานนท์

       ทั้งนี้ ผศ.ดร.วีรณัฐ ชี้ชวนว่า เพื่อป้องกันการเสียสัมพันธภาพที่ดีในครองครัวและสังคม แนะให้ใช้ “หลักธรรมหัวใจ 4 ห้อง” ปฏิบัติให้เป่็นนิจยามเสพข่าวในชีวิตประจำวัน ได้แก่ หัวใจเมตตา หัวใจกรุณา หัวใจมุทิตา และหัวใจอุเบกขา และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การปรับตัวเองให้มองและประเมินข่าวอย่างมีความยั้งคิด เป็นเหตุเป็นผล ไม่หลง ไม่โกรธ และแบ่งเวลาในการใช้เทคโนโลยีต่างๆ อย่างสมดุล

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ