Lifestyle

ก้าวไปตามใจตนหา "นกชนหิน" บนเทือกเขาบูโด 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปัจจุบันนกชนหินจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 และอนุสัญญาไซเตสจัดเอาไว้ในบัญชีที่ 1 นกชนหินถูกล่าอย่างหนักเพื่อเอาสันบนจะงอยปากบนไปแกะสลักทำเป็นของประดับ

     ขณะที่จิตใจเฝ้าจดจ่ออยู่ที่ปากโพรงนกชนหิน บนเทือกเขาบูโดฝั่งตะวันตก ในพื้นที่บ้านตาเปาะ ต.สุวารี อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส แล้วนั้น แต่ร่างกายเพียงแค่เริ่มก้าวย่างไต่ระดับขึ้นไปบนเส้นทางที่ลัดเลาะไปตามไหล่เขาสูงต่ำ บ้างก็ลงน้ำข้ามห้วยที่ไหลเซาะไปตามโขดหินน้อยใหญ่ท่ามกลางฝนที่ตกลงมาแทบตลอดเวลา ทำให้ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากไม่อยากให้ตัวเองต้องตกเป็นภาระแก่ทีมงานโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งนำทีมโดยคุณปรีดา เทียนส่งรัศมี มากจนเกินไป เนื่องจากอุปกรณ์ถ่ายภาพและของใช้เล็กๆน้อยๆมีผู้ช่วยแบ่งเบาภาระแบกนำขึ้นเขาลิ่วไปแล้ว เหลือลำพังตัวคนเดียวกับขาตั้งกล้องเดี่ยว ซึ่งได้ถูกแปรสภาพเป็นไม้เท้าไปแล้วแต่ก็ยังคงทุลักทุเลสิ้นดี

ก้าวไปตามใจตนหา "นกชนหิน" บนเทือกเขาบูโด 

 

ก้าวไปตามใจตนหา "นกชนหิน" บนเทือกเขาบูโด 

     ตลอดเส้นทางแค่ 2 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง ในการเดินทางจนถึงจุดที่นัดหมายไว้กับใจของตนเอง บนความสูงประมาณ 500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ถือว่าเล็กน้อยมากสำหรับผู้ที่ช่ำชองสมบุกสมบันในการเดินป่า แต่ไม่ใช่เราที่ต้องปรับสมดุลของร่างกายให้สัมพันธ์กับการบริหารลมหายใจไปตลอดเวลา เพราะคิดอยูเสมอไม่รู้ว่าปีหน้าหรือปีถัดไปจะได้มีโอกาสอย่างนี้อีกหรือไม่ ขณะที่เรี่ยวแรงถดถอยลงไปทุกที่ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากเห็นด้วยตาตนเองสักครั้งในชีวิต แม้จะรู้ว่าเส้นทางนั้นแสนลำบากแค่ไหน ก็ต้องไปเพราะใจมันต้องการ

      นับว่าโชคยังเข้าข้าง การเดินป่าครั้งนี้ไม่ได้ทำให้ผิดหวัง ถึงจะแลกมากับความเหนื่อยหนักอีกครั้งในชีวิตการเดินป่า เพราะได้พบนกชนหิน (Helmeted hornbill) ซึ่งเป็นนกเงือกชนิดหนึ่ง ตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้
บนความสูงไม่ต่ำกว่า 50 เมตร ของต้นตะเคียนชันตาแมวที่ต้องแหงนคอตั้งบ่าขึ้นไปมอง มีตอไม้ซึ่งเป็นโพรงของนกชนหินคู่หนึ่ง ซึ่งตอนนี้ตัวเมียเข้าไปอยู่ภายในโพรงเพื่อเตรียมตัวออกลูก ยังคงเหลือแต่พ่อนกที่วนเวียนบินหาอาหารไปทั่วบริเวณผืนป่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมล็ดพันธุ์ไม้ป่าและสัตว์ตัวเล็กๆ โดยจะหายไปประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วกลับมาเกาะที่ปากโพรงเพื่อขย้อนอาหารออกจากปาก ป้อนให้แม่และลูกนกกินจนแข็งแรงได้ที่ก่อนจะเจาะปากโพรงบินออกสู่โลกกว้างในอีกประมาณ 5 เดือนข้างหน้าพร้อมกันนับจากนี้เป็นต้นไป นับเป็นสิ่งที่ต่างจากนกเงือกสายพันธุ์อื่นที่แม่นกเงือกไม่เจาะปากโพรงออกออกมาก่อนหลังให้กำเนิดลูกน้อย

ก้าวไปตามใจตนหา "นกชนหิน" บนเทือกเขาบูโด 

 

ก้าวไปตามใจตนหา "นกชนหิน" บนเทือกเขาบูโด 

      นกชนหิน ถือเป็นนกเงือกที่มีสายพันธุกรรมเก่าแก่ยาวนานถึง 45 ล้านปี มีลักษณะเด่นกว่านกเงือกชนิดอื่นๆ ตรงที่สันบนจะงอยปากใหญ่หนา เนื้อในสีขาวตันคล้ายงาช้าง และมีขนหางพิเศษคู่หนึ่ง ซึ่งจะงอกยาวเลยขนหางเส้นอื่นๆ ออกไปมากถึง 50 เซนติเมตร แลเห็นเด่นชัด

      นกตัวผู้มีขนาดลำตัวยาวจากปลายจะงอยปากถึงปลายขนหาง 127 เซนติเมตร ขนลำตัวสีน้ำตาลเข้ม ใต้ท้องสีขาว หางสีขาวมีแถบสีดำพาดขวาง และปลายปีกสีขาวเป็นแถบกว้าง จะงอยปากตอนโคน และบนสันสีแดงคล้ำ ตอนปลายสีเหลืองเรื่อๆ บริเวณลำคอที่ไม่ขนในนกตัวผู้จะมีสีแดงคล้ำ
ส่วนตัวเมียจะมีสีฟ้าซีดหรือสีฟ้า แต่นกวัยอ่อนเพศผู้ ลำคอจะมีสีแดงเรื่อๆ และนกเพศเมียหนังส่วนนี้จะเป็นสีม่วง นอกจากนี้สันบนจะงอยปากจะมีขนาดเล็กกว่า และขนหางยังเจริญไม่เต็มที่ มีลักษณะสั้นกว่านกโตเต็มวัย

ก้าวไปตามใจตนหา "นกชนหิน" บนเทือกเขาบูโด 

 

ก้าวไปตามใจตนหา "นกชนหิน" บนเทือกเขาบูโด 

 

ก้าวไปตามใจตนหา "นกชนหิน" บนเทือกเขาบูโด 

ปัจจุบันนกชนหินจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 และอนุสัญญาไซเตส จัดเอาไว้ในบัญชีที่ 1 นกชนหินถูกล่าอย่างหนักเพื่อเอาสันบนจะงอยปากบนไปแกะสลักทำเป็นเครื่องใช้และเครื่องประดับที่มีคุณค่าสูง และจากการสูญเสียแหล่งอาศัย จำนวนประชากรจึงลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนในทุกบริเวณที่อาศัย ไม่เว้นแม้แต่บนเทือกเขาบูโดแห่งนี้ซึ่งนับว่าแหล่งที่อยู่อาศัยของนกเงือกหลากหลายสายพันธุ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ก็ยังถูกคุกคามอย่างหนักทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการถูกล้วงลูกนกไปขายในช่วงฤดูผสมพันธุ์ และการตัดไม้ทำลายป่าทำให้นกเงือกสูญเสียความสมดุลทางธรรมชาติ รวมทั้งที่อยู่อาศัยตลอดจนถึงห่วงโซ่อาหาร นับเป็นผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้น นอกเหนือจากภัยแทรกซ้อนอื่นๆที่กำลังเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยามนี้ ข้อมูลบางส่วนจากวิกิพิเดีย สารานุกรมเสรี

เรื่อง-ภาพ จรูญ ทองนวล NationPhoto

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ