Lifestyle

พบหอยทากทะเลพันธุ์ใหม่‘ปล่อยใย’ ได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พบหอยทากทะเลพันธุ์ใหม่ไทลาโคดี แวนดีเอซิส ‘ปล่อยใย’ ได้

                      นักวิทยาศาสตร์ถึงกับทึ่ง เมื่อพบหอยทากทะเลชนิดใหม่สีสดใส มีความสามารถปล่อยใยเมือกราวกับซูเปอร์ฮีโร่ “สไปเดอร์แมน” ได้ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบสัตว์ชนิดใหม่ระหว่างการสำรวจซากเรือใต้ท้องทะเลที่ใช้สำหรับทำปะการังเทียมบริเวณเขตรักษาธรรมชาติทางทะเลแห่งชาติฟลอริดาคีย์ สหรัฐ โดยสัตว์ชนิดนี้เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วจำพวกหอยทากหนอนที่มีรูปร่างคล้ายท่อ แลดูลำตัวอ่อนนิ่ม มีปลายเปิดด้านหนึ่ง ตัวอ่อนของหอยทากหนอนจะขยายคืบคลานไปรอบๆ

                     ต่อมาจะสร้างเปลือกแข็งขึ้นมาอย่างถาวรราวกับปะการังหรือก้อนหิน และปักหลักอยู่กับที่เมื่อโตเต็มวัย หอยทากหนอนชนิดใหม่นี้มีชื่อว่า ไทลาโคดี แวนดีเอซิส (Thylacodes vandyensis) ตั้งตามชื่อของเรือที่ค้นพบคือ “ยูเอสยูเอ็น เจเนอรัล ฮอยต์ เอส. แวนเดนเบิร์ก” หรือ “แวนดี้” เรือขนส่งทางทะเลสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ความยาว 159 เมตร ซึ่งถูกเจาะท้องเรือเพื่อให้จมลงสู้ก้นทะเลเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2552 กลายเป็นแหล่งปะการังเทียมที่ใหญ่อันดับ 2 ของโลก รือดีเกอร์ เบียเลอร์ จากนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ของสหรัฐ

                  หัวหน้าคณะวิจัยชุดนี้ เล่าว่า หอยทากหนอนมีหลากหลายขนาด แต่โดยเฉลี่ยแล้วพวกมันมีความยาวพอๆ กับนิ้วมือ วัดขนาดได้ถึง 25 มม. และมีปลายเปิดแคบๆ เส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 5.5 มม. หอกทากชนิดใหม่นี้ยังมีสีสันสดใส บริเวณผิวหน้ามีสีส้มอ่อนๆ ที่มองทะลุเข้าไปข้างในได้ พร้อมชูกิ่งก้านสาขาจำนวน 4 หน่อ โดยที่ 2 หน่อเชื่อมต่อกับต่อมผลิตเมือกแบบเดียวกับที่หอยทากในสวน สร้างเมือกขึ้นมาเพื่อขีดเส้นทางเดินของตัวเอง แต่หอยทากหนอนสร้างเมือกเป็นตาข่ายคล้ายใยแมงมุมสำหรับดักจับแพลงก์ตอนและวัตถุอินทรีย์อื่นๆ จากนั้นดึงรวบเข้ามากิน และนำใยที่ใช้กลับไปรีไซเคิลอีกครั้งเพื่อดักจับเหยื่อต่อไป

                  “หากท่ออันหนึ่งเสียหาย ปลาจะเข้ามากิน แต่ถ้ามีตาข่ายเมือกอยู่ด้วย พวกมันจะถอยห่างทันที เห็นได้ชัดว่าตาข่ายเมือกเป็นวิธีขัดขวางปลาชนิดต่างๆ ด้วย” เบียเลอร์ กล่าว ถิ่นกำเนิดของหอยทากหนอนอยู่ไกลแสนไกล

                   สอดคล้องกับหลักฐานทางพันธุกรรมที่ยืนยันว่า สายพันธุ์ที่ใกล้ชิดหอยทากหนอนมากที่สุดล้วนมาจากมหาสมุทรแปซิฟิก บ่งชี้ว่าสัตว์ชนิดนี้ไม่ใช่สัตว์ประจำถิ่นแอตแลนติกอย่างแน่นอน ปกติแล้ว สัตว์ผู้รุกรานจากแปซิฟิกรวมถึงหอยนางรม ปรากฏอยู่ตามซากเรืออับปางอยู่แล้ว เป็นไปได้ว่า หอยทากชนิดนี้อาจมาจากแปซิฟิกก็เป็นได้ แต่คงไม่น่าใช่ผู้รุกรานตัวสุดท้ายที่ตั้งรกรากบริเวณปะการังเทียม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ